ก.คลังเล็งเก็บภาษีดบ.เงินฝากแม้ไม่ถึง20,000บ. ป้องกันแบงค์ใช้ช่องโหว่เอื้อประโยชน์คนรวย
คลังฯเล็งเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากแม้ไม่ถึง 20,000 บาท/ปี ป้องกันแบงค์ใช้ช่องโหว่เอื้อประโยชน์คนรวย
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้กรมสรรพากรศึกษาแนวทางยกเลิก การยกเว้นเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี หลังจากพบว่าเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่สถาบันการเงินบางแห่งนำไปเอื้อประโยชน์ให้ลูกค้ารายใหญ่ กล่าวคือ เมื่อดอกเบี้ยใกล้จะถึง 20,000 บาท ซึ่งถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีแล้ว ก็ให้ปิดบัญชีเก่าแล้วไปเปิดบัญชีใหม่แทน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15%
โดยขณะนี้มีแนวทางการป้องกัน 2 วิธี ได้แก่ 1. เลิกการยกเว้นเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 20,000 บาท ทุกคนต้องเสียหมดและพอสิ้นปีถึงจะให้มาขอคืนภาษีภายหลัง ซึ่งทำให้กระทบกับผู้ฝากเงินที่สุจริต เพราะธนาคารพาณิชย์บางแห่งไม่มีธรรมาภิบาล
ส่วนวิธีที่ 2 ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน นั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปกำชับและตักเตือน เพื่อไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอีก หากไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ถือว่าขัดต่อหลักธรรมาภิบาล เพราะปกติกรมสรรพากรจะยกเว้นการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้ผู้ฝากเงินรายย่อยที่ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่จะเรียกเก็บภาษีเฉพาะผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี โดยหัก ณ ที่จ่าย 15% เพื่อต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้ได้สั่งการให้กรมสรรพากรไปศึกษารูปแบบและแนวทางในการปิดช่องโหว่ทางกฎหมายแล้ว โดยเบื้องต้นจะยกเลิกขั้นต่ำยกเว้นการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก และให้ผู้ที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท สามารถขอเรียกภาษีคืนกับกรมสรรพากรได้ในช่วงปลายปี และอีกแนวทางหนึ่ง คือ ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเข้าไปกำชับ และตักเตือนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก หากไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป” นายอภิศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเรื่องการยกเลิก การเว้นเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เจอกับตัวเอง เพราะมีพนักงานธนาคารโทรศัพท์เข้ามาสอบถามว่า จะปิดบัญชีที่รายได้จากดอกเบี้ยใกล้จะถึงเกณฑ์ที่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วมาเปิดบัญชีใหม่แทนหรือไม่ แต่ตนบอกว่าให้หักภาษีไปเลย ทำให้รู้ว่ามีช่องโหว่ทางกฎหมายแบบนี้อยู่