GL ปิดเช้าบวก 10% รับ “มิทซึจิ” ฟุ้งกำไรโต 10 เท่า จากลูกค้า 3 พันล้านคน!
GL ปิดเช้าบวก 10% รับ “มิทซึจิ” ฟุ้งกำไรโต 10 เท่า จากลูกค้า 3 พันล้านคน! ล่าสุด ปิดตลาดภาคเช้าราคาอยู่ที่ 21.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 10.26% สูงสุดที่ 21.70 บาท ต่ำสุดที่ 19.80 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 938.39 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ปิดตลาดภาคเช้าราคาอยู่ที่ 21.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 10.26% สูงสุดที่ 21.70 บาท ต่ำสุดที่ 19.80 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 938.39 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.15%
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้น GL ปรับตัวขึ้นคาดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากวานนี้ (25 ก.ย.) นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าภายใน 5 ปี (60-64) กำไรสุทธิจะเติบโตมากกว่า 10 เท่าตัว จากปี 59 ที่มีกำไรสุทธิ 1,064 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตตามรายได้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 10 เท่าตัว จาก 2,922 ล้านบาทในปี 59 โดยเป็นการเติบโตจากการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย เมียนมา ศรีลังกา และสิงคโปร์ ที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 50-100% ในทุก ๆ ประเทศ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโต 10-15%
“การปล่อยสินเชื่อนั้นบริษัทจะยังเน้นการปล่อยในทุกๆประเภท ที่บริษัทมีความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อสำหรับกิจการขนาดเล็ก” นายมิทซึจิ กล่าว
ขณะที่การขยายตลาดอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ คาดว่าจะทำให้สัดส่วนการรับรู้กำไรสุทธิจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีการปล่อยสินเชื่อให้ถึง 3,000 ล้านคน ซึ่งจะมาจากการขยายจุดให้บริการปล่อยสินเชื่อ 20-30 แห่ง/วัน ด้วยงบลงทุนราวแห่งละ 400 ดอลลาร์สหรัฐในทุกๆประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1,000 จุดบริการ
“เราใช้ระบบการขยายกิจการแบบขยายจุดให้บริการ ซึ่งแตกต่างจากรายอื่น ๆ ที่จะต้องขยายกิจการโดยการขยายสาขา หรือสาขาย่อยๆ ที่มีต้นทุนสูงถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อแห่ง แต่ของเรามีต้นทุนเพียง 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อแห่ง ทำให้เราขยายจุดให้บริการได้เร็ว และเรายังถึงจุดคุ้มทุนได้รวดเร็วด้วย ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของเราเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงเริ่มกิจการแต่ก็สามารถทำกำไรได้แล้ว” นายมิทซึจิ กล่าว
สำหรับกรณีการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้กลุ่มไซปรัสและผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ ปัจจุบันได้ชำระหนี้เงินกู้มาอย่างต่อเนื่อง และมีการชำระมาล่วงหน้ามาต่อเนื่อง ส่งผลให้เหลือมูลค่าที่จะต้องชำระหนี้คืนเพียง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะชำระได้ครบทั้งหมดภายในปีนี้ หรืออย่างช้าภายในปี 61 โดยบริษัทยืนยันว่าจะไม่มีการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบนี้อีกเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และเกิดความกังวลต่อนักลงทุน
นายมิทซึจึ กล่าวอีกว่า กลุ่มบริษัทได้พัฒนาระบบไอทีอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้บริการสินเชื่อด้านต่าง ๆ โดยแพลตฟอร์มดิจิตอลไฟแนนซ์ ภายใต้รูปแบบ FinTech ในปัจจุบันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกระบวนการทำธุรกิจทั้งหมด ซึ่งบริษัทวางเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจ FinTech ในภูมิภาคเอเชียภายใน 5 ปีข้างหน้า
สำหรับระบบ FinTech ของบริษัทนี้ คาดว่าจะใช้ได้ผลอย่างเต็มที่ในตลาดใหม่ของบริษัท 2 แห่ง ได้แก่ เมียนมาและอินโดนีเซีย ที่มีประชากรหนาแน่น และเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูง ซึ่งคาดว่าพอร์ตสินเชื่อในเมียนมาจะสามารถเพิ่มขึ้นไปถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า และตลาดอินโดนีเซีย จะสามารถขยายสินเชื่อได้ถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยถึงแม้ว่าตลาดทั้ง 2 แห่งนี้ในเฉพาะหน้ายังมีขนาดเล็ก เนื่องจากบริษัทเพิ่งขยายเข้าไปในรอบปีที่ผ่านมา แต่มั่นใจว่าการลงทุนในระบบและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้เสร็จสิ้นแล้วและจากนี้ไปธุรกิจทั้ง 2 ประเทศจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“รายได้และกำไรจากเมียนมาและอินโดนีเซียในขณะนี้อาจจะยังไม่มาก แต่นับจากนี้ธุรกิจจะสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการลงทุนในการจัดตั้งระบบการบริหารและโครงสร้างการทำธุรกิจต่าง ๆ ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยอินโดนีเซียจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ GL ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขณะนี้ GL ได้ขยายไปสู่พื้นที่ชนบทหลายแห่งในเกาะหลักของอินโดนีเซียทุกเกาะ ซึ่งแทบจะไม่มีคู่แข่งและ GL พร้อมที่จะรุกคืบด้วยความมั่นใจ” นายมิทซึจิ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทรายงานตัวเลขกำไรสุทธิในไตรมาส 2/60 จำนวน 338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นสถิติกำไรสูงสุดใหม่ต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 11 โดยยอดกำไรที่พุ่งสูงขึ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้นในประเทศไทย ลาว เมียนมา และอินโดนีเซีย ในขณะที่ผลประกอบการในกัมพูชาและศรีลังกาก็เป็นไปตามคาด โดยในศรีลังกานั้นบริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 29.99% ในบริษัทท้องถิ่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบ ชื่อบริษัท Commercial Credit & Finance (CCF)
ทั้งนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากกัมพูชาและประเทศไทยที่ 42% และ 40% ตามลำดับของยอดกำไรทั้งหมด ยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด ถึงแม้ว่าธุรกิจในเมียนมาเพิ่งจะเริ่มต้นในปีนี้ แต่การเติบโตก็ได้รุดหน้าขยายตัวอย่างมากโดยเฉพาะลูกค้าไมโครไฟแนนซ์ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว เป็นจำนวน 40,000 รายภายในเวลาเพียง 5 เดือน
โดยบริษัท BGMM ซึ่งเป็นบริษัทไมโครไฟแนนซ์ท้องถิ่นที่ GL ถือหุ้นเต็ม 100% ได้รับอนุมัติจากทางการเมียนมา ให้ขยายธุรกิจไปในพื้นที่อีก 6 จังหวัด นอกเหนือจาก 3 จังหวัดซึ่งบริษัทได้ประกอบธุรกิจอยู่เดิม โดยการขยายพื้นที่ประกอบธุรกิจนี้คาดว่าจะทำให้ BGMM สามารถเพิ่มลูกค้าและฐานรายได้ในครึ่งหลังของปีนี้
ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่อินโดนีเซียก็ขยับขยายได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยบริษัท PT Group Lease Finance Indonesia (GLFI) ได้บรรลุข้อตกลงเมื่อเร็ว ๆ นี้กับบริษัท TATA Motor Distribusi Indonesia (TMDI) เพื่อเป็นบริษัทไฟแนนซ์ทางเลือกเจ้าแรกของลูกค้า TMDI โดยพนักงานของ GL จะนั่งประจำในโชว์รูมของ TMDI เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่มาซื้อรถบรรทุก TATA ซึ่งข้อตกลงกับ TATA นี้ คาดว่าจะช่วยสร้างโมเมนตัมในการรุกขยายสินเชื่อด้านอื่น ๆ ซึ่ง GLFI ทำร่วมกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ J Trust ASIA (JTA) โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับมอเตอร์ไซค์ใหม่และมอเตอร์ไซค์มือสอง เครื่องจักรกลการเกษตรและเงินกู้ไมโครไฟแนนซ์
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า จำนวนประชากรจาก 6 ประเทศที่บริษัททำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ มีประชากรทั้งหมดราว 363,315,000 คนเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย ประเทศอินโดนีเซียจำนวน 261,100,000 คน , ประเทศพม่าจำนวน 52,890,000 คน , ประเทศกัมพูชาจำนวน 15,760,000 คน , ประเทศศรีลังกาจำนวน 21,200,000 คน , ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 5,607,000 คน และประเทศลาวจำนวน 6,758,000 คน
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจากประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ราว 363,315,000 คน มีจำนวนน้อยกว่าเป้าหมายที่บริษัทต้องการปล่อยสินเชื่อซึ่งอยู่ที่ระดับ 3,000 ล้านคน