กสทช.เซ็นเน็ตชายขอบ 8 สัญญา เร่งเปิดบริการทันปีนี้-เล็งเปิดประมูลเฟส 2 พ.ย.นี้

กสทช.เซ็นเน็ตชายขอบ 8 สัญญา เร่งเปิดบริการทันปีนี้-ครบ 3,920 หมู่บ้านปี 61 วางเป้าคิดค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30/10 Mbps ไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน พร้อมเตรียมเปิดประมูลเฟส 2 พ.ย.นี้


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามในสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา วงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท เป็นการดำเนินการหลังจากที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติโครงการ และให้เร่งดำเนินการจ้างบริการ เพื่อให้เปิดใช้งานได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้

ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการจะสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30/10 Mbps ได้ในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน  นอกจากนี้จะมี USO แพ็คเกจรุ่นเล็ก ความเร็ว 15 Mbps ราคาไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน และ USO แพ็คเกจรุ่นจิ๋ว ความเร็ว 10 Mbps ราคาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน เฉลี่ยไม่เกินเมกละ 10 บาท ให้บริการสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย และมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำกว่า 30 Mbps

ส่วนการให้บริการที่ไม่เสียค่าบริการเพื่อสาธารณะ ได้แก่ ไวไฟสาธารณะ 3,149 จุด เฉลี่ยหมู่บ้านละ 1 จุด อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหน่วยงานภาครัฐทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวม 1,317 แห่ง รวมทั้งมีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ 763 ศูนย์ พร้อมผู้ดูแลประจำศูนย์อย่างน้อย 1 คน ซึ่งทั้งหมดจะให้บริการฟรีตลอดระยะเวลา 5 ปี

นายฐากร กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ต่ำกว่า 30 Mbps เปิดบริการไม่น้อยกว่า 588 หมู่บ้าน ภายในเดือน ธ.ค.60 และอีก 2,352 หมู่บ้านภายในเดือน เม.ย.61 ก่อนเปิดให้บริการครบ 100% ในเดือน ส.ค.61 

สำหรับสัญญาแต่ละสัญญามีผู้ชนะการประกวดราคา ดังนี้

1.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,812,014,000 บาท

2.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บมจ.ทีโอที เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,103,800,000 บาท

3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บมจ. ทีโอที เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท

4.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ได้แก่ บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,868,235,000 บาท

5.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บมจ.ทีโอที เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท

6.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 786,549,600 บาท

7.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 532,064,800 บาท

8.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 504,423,740 บาท

“การดำเนินโครงการเน็ตชายขอบครั้งนี้ สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท จากราคากลางโครงการ จำนวน 13,614.62 ล้านบาท ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตราคาถูก และมีโอกาสเหมือนคนเมือง ถือเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ในการดูแลผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายฐากร กล่าว

นอกจากนี้ภายในเดือน พ.ย.นี้คาดจะเปิดประมูลโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนเบื้องต้น 1.3 หมื่นล้านบาท และให้เวลา 3 เดือนเปิดให้เอกชนยื่นซองหรือราวเดือนม.ค.61 

ทั้งนี้ ค่าบริการของเฟส 2 ขึ้นอยู่กับการยื่นข้อเสนอของเอกชนว่าจะลงทุนได้มากน้อยอย่างไร หากเอกชนลงทุน 50% และรัฐลงทุน 50% อัตราค่าบริการคาดว่าจะคิดอัตรา 300 บาท/เดือน โดยโครงการเฟส 2 จะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.61

“ต้องรอให้เอกชนจะยื่นซอง และดูรายละเอียด เพราะพื้นที่ชนบทมีศักยภาพดีกว่าพื้นที่ชายขอบที่รัฐต้อลงมาสนับสนุน”นายฐากร กล่าว

Back to top button