ITEL ใส่เกียร์หน้าลุยเน็ตชายขอบเต็มสูบ มั่นใจสร้างกำไรระยะยาว
ITEL ใส่เกียร์ลุยเน็ตชายขอบเต็มสูบ ตั้งเป้าติดตั้งแล้วเสร็จภายในส.ค.61 มั่นใจสร้างกำไรระยะยาว
สืบเนื่องจาก วานนี้ (28 ก.ย.) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ได้ลงนามสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในงานของกลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ระยะเวลา 5 ปี ในวงเงินรวม 1,868 ล้านบาท
ล่าสุด นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ ITEL เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายดำเนินการติดตั้งโครงการดังกล่าวในพื้นที่ต่างๆ ให้แล้วเสร็จ 5% ภายในปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จ 100% ภายในเดือนส.ค.61 ซึ่งพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบนั้นจะเป็นพื้นที่บริเวณชาติแดนทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น อำเภอจะนะ อำเภอเบตง บ้านพุน้ำร้อน เป็นต้น
โดยในวงเงิน 1,868 ล้านบาท บริษัทสามารถติดตั้งโครงข่ายไปจนสิ้นสุดปลายทางตามที่กำหนดในสัญญาได้ แต่หากมีลูกค้าที่ต้องการให้ติดตั้งต่อไปจากปลายทางที่บริษัทมีจุดให้บริการอยู่แล้ว บริษัทจะต้องคิดอัตราการให้บริการที่ 200 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดอัตราเพดานราคาให้บริการไว้
ส่วนประเด็นเรื่องพื้นที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตประชารัฐมีเพดานราคาอยู่ที่ 390 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ให้บริการที่สูงกว่าพื้นที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตชายขอบนั้น เป็นผลมาจากรัฐบาลเล็งเห็นว่า พื้นที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตชายขอบเป็นพื้นที่ด้อยโอกาส ในเชิงของเม็ดเงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญ รัฐบาลจึงพยายามกดเพดานราคาให้ต่ำลงเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและใช้บริการได้
“ในประเมินเบื้องต้นในช่วงแรกบริษัทคาดว่าจะได้รับอัตรากำไรจากโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบประมาณ 200 ล้านบาท แต่ในเชิงของการให้บริการนั้น โครกงารดังกล่าวเป็นการให้บริการที่ต่อเนื่องในระยะยาว ฉะนั้นจึงมั่นใจว่าลูกค้าจะทำการต่อสัญญารับบริการอินเตอร์เน็ตต่อหลังจากหมดสัญญา 5 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการคุ้มทุนและมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังขึ้นกับการต่อสัญญาว่าจะเป็นในรูปแบบใด มูลค่าจะยังคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่”นายณัฐนัย กล่าว
นอกจากนี้บริษัทเตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนเบื้องต้น 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าเปิดประมูลและทราบผู้ชนะการประมูลได้ภายในต้นเดือนม.ค.61
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่สามารถประเมินอัตราผลตามแทนของโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท ระยะที่ 2 ได้ เนื่องจากยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องติดตามต่อไป ทั้งในเรื่องการสนับสนุนเงินลงทุนของรัฐบาล โดยในพื้นที่ระยะที่ 2 เอกชนจำเป็นจะต้องลงทุนมากกว่าในพื้นที่ระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเห็นรายละเอียดสัดส่วนการลงทุนที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเดือนพ.ย.60
ส่วนโครงการโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำของบริษัท คัมปานา จำกัด ซึ่งเชื่อมต่อประเทศเมียนมา ไทย สิงคโปร์ ในวงเงิน 600 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปีนั้น บริษัทคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการและรับรู้รายได้ในก.พ.61 ทั้งนี้บริษัทคาดว่าโครงการดังกล่าวจะรับรู้รายได้ปีละประมาณ 60 ล้านบาท