นักลงทุนกับ phantom pain
ทุภาษิตเก่าแก่ของฝรั่งเคยเอ่ยไว้ว่า เมื่ออายุมากขึ้น คุณย่อมสูญเสียความคลั่งไคล้และความปรารถนา ไม่ว่าเคยยิ่งใหญ่แค่ไหน เพราะนั่นคือ ชีวิต
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ทุภาษิตเก่าแก่ของฝรั่งเคยเอ่ยไว้ว่า เมื่ออายุมากขึ้น คุณย่อมสูญเสียความคลั่งไคล้และความปรารถนา ไม่ว่าเคยยิ่งใหญ่แค่ไหน เพราะนั่นคือ ชีวิต
สำหรับนักลงทุนรายย่อยในตลาดที่มักจะเจอปัญหาในการปรับพอร์ตลงทุนอย่างยากลำบาก อาการประสาทหลอนที่เรียกว่า phantom pain มักจะหวนกลับมาหลอกหลอนอยู่เสมอ
คำดังกล่าวมาจากศัพท์ทางการแพทย์ที่อธิบายว่า ในกรณีที่ใครบางคน บางครั้งก็ต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญไป เช่น สูญเสียแขน ขา หรือมือ การสูญเสียนอกจากจะทำให้เราไม่สามารถใช้อวัยวะนั้นแล้ว ยังอาจส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณแขน ขา มือที่สูญเสียออกไปแล้ว หรือมีความรู้สึกว่าอวัยวะดังกล่าวยังคงอยู่
ความรู้สึกหลอนว่าอวัยวะที่หายไปยังคงอยู่ เกิดจากต้นทางเส้นประสาทส่วนปลายของอวัยวะนั้นๆ ที่ยังเหลือค้างอยู่ จึงได้ส่งกระแสไฟฟ้าหรือส่งสัญญาณกลับไปที่สมอง ทำให้สมองส่วนนั้นๆ เข้าใจว่ายังมีอวัยวะนั้นๆ อยู่ และถ้าแปลความหมายผิด ก็อาจก่อให้เกิดอาการปวดอวัยวะนั้นๆ ขึ้นได้ จำต้องรักษาโดยขอคำปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การประเมิน และให้การรักษาที่เหมาะสม
ศัพท์ทางการแพทย์ อาจสามารถอธิบายพฤติกรรมในการลงทุนของตลาดเก็งกำไรได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่องค์ประกอบของตลาดมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ แต่ยังไม่แสดงอาการที่มีอิทธิพลรุนแรงทันที
ในกรณีของตลาดหุ้นยามที่ข้อมูลการปรับเปลี่ยนทิศทางของกระแสฟันด์โฟลว์ในปีนี้ เป็นตัวแบบที่น่าสนใจ
สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดมุมมองใหม่ต่อค่าดอลลาร์สหรัฐที่กลับมาแข็งระลอกใหม่ จากที่นักลงทุนและตลาดได้ซึมซับถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยืนยันว่า เฟดจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของเงินเฟ้อ
ท่าทีดังกล่าว ด้านหนึ่งยอมรับถึงความยากลำบากในการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อ โดยยอมรับว่า เฟดอาจจะส่งสัญญาณทิศทางเงินเฟ้อที่ยังไม่ชัดเจนพอ หรือคาดผิดเรื่องแนวโน้มของปัจจัยสำคัญๆ บางตัว เช่นสภาพพื้นฐานของตลาดแรงงาน หรือทิศทางของเงินเฟ้อในช่วงเวลาซึ่งอาจเปลี่ยนไปจากที่คาดไว้ก่อน
อีกด้านหนึ่ง การที่นางเยลเลนระบุย้ำถึงอันตรายของการที่เฟดดื้อรั้นไม่ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย “เฟดฟันด์เรต” ที่อาจจะสร้างความเสี่ยงที่ตลาดแรงงานจะตกอยู่ในสภาพที่ร้อนแรงเกินไปในภายหลัง ซึ่งอาจจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อในอนาคตที่แก้ไขลำบากจนนำไปสู่สภาพเศรษฐกิจถดถอยได้
สุนทรพจน์แบบ “แทงกั๊ก” ของนางเยลเลน จึงส่งผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นต่อเนื่อง 3 วันรวดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งสัญญาณว่าขาขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) มีโอกาสหยุดยั้งได้
เหตุผลที่กลุ่มสนับสนุนว่าดัชนีหุ้นไทยจะเป็นขาลงจากค่าบาทอ่อน เกิดจากข้อมูลเดิมที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทย มีลักษณะเติบโตแบบ “แข็งนอก-อ่อนใน” อย่างขาดดุลยภาพ แม้ว่าหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจของภาครัฐจะพากันประกาศว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวได้ดี และปรับเพิ่มตัวเลขจีดีพีขึ้น แต่ข้อมูลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559-ก.ค. 2560) กลับพบว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ต่ำกว่าเป้าหมายไป 41,252 ล้านบาท หรือ 6.3% สะท้อนว่า กำลังซื้อภายในประเทศช่วง 10 เดือนแรกยังไม่ได้ดีขึ้นนัก และทิศทางข้างหน้า ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน
ในมุมกลับกัน บรรดากลุ่มคนที่สนับสนุนว่าดัชนีสิ้นปีนี้จะทะลุทะลวงแนวต้านขึ้นไปเหนือ 1,700 จุด และมุ่งไปเป้าหมายสิ้นปีหน้า 1,900 จุด เพราะตัวเลขซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสบวกเพิ่มเพราะตลอดทั้งปีนี้ ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่ำมากในตลาดหุ้นไทย
ข้อเท็จจริงที่ว่าต่างชาติซื้อสุทธิต่ำในตลาดหุ้นไทยเป็นเรื่องจริงเพราะจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ยอดซื้อสะสมสุทธิของต่างชาติมีแค่ 9.96 พันล้านบาทเท่านั้น โอกาสที่จะซื้อเพิ่มในทางทฤษฎีเหมือนในอดีตที่จะเป็นยอดสะสมหลายหมื่นล้านบาทเป็นไปได้
เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ต่างจากทฤษฎีและห่างไกลจากความเชื่อนักวิเคราะห์ที่ว่า ต่างชาติจะขนหรือหอบเงินทุนเข้ามาอีกหลายหมื่นล้านบาท ระบุว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างชาติเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนถึงการล่าถอยจากตลาดไทย ทั้งค่าบาทที่อ่อน การขายในตลาดตราสารหนี้ และการปิดสถานะในดัชนีตราสารอนุพันธ์อย่างสอดรับกัน
ปรากฏการณ์เริ่มปรับพอร์ตของต่างชาติลดลงในตลาดทุนไทย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้จะขัดแย้งกับการให้ข้อมูลของนักวิเคราะห์หุ้นไทย ตอกย้ำความรู้สึกว่าดัชนีจะเป็นขาลงใหม่จากการปรับพอร์ตของต่างชาติเพื่อให้ตลาดปรับฐาน หรือ พักฐาน ลงไปใต้แนวรับ 1,600 จุด จึงน่าจะเป็นมากกว่าความรู้สึกหลอนแบบ phantom pain ตามปกติ
อีกไม่นานคงรู้กัน ว่าต้องพึ่งแพทย์หรือไม่