พาราสาวะถี
ความสำเร็จในการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงเป็นคำหวานที่หยอดให้กันไปมาตามประสาทางการทูต โดยเฉพาะการตอกย้ำเรื่องสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศที่ยาวนานมากว่า 184 ปี ในการนี้ผู้นำจากไทยแลนด์ได้แสดงความเสียใจต่อผู้นำมะกันทั้งเรื่องของภัยพิบัติจากเฮอริเคนและโศกนาฏกรรมการกราดยิงที่ลาสเวกัส
อรชุน
ความสำเร็จในการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงเป็นคำหวานที่หยอดให้กันไปมาตามประสาทางการทูต โดยเฉพาะการตอกย้ำเรื่องสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศที่ยาวนานมากว่า 184 ปี ในการนี้ผู้นำจากไทยแลนด์ได้แสดงความเสียใจต่อผู้นำมะกันทั้งเรื่องของภัยพิบัติจากเฮอริเคนและโศกนาฏกรรมการกราดยิงที่ลาสเวกัส
แต่สิ่งที่น่าจะสร้างความงุนงงให้กับเดอะโดนัลด์ไม่ใช่น้อย คงเป็นคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรีของไทยที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งบอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้า โดยนับไป 150 วันหลังจากที่กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ พร้อมย้ำหนักแน่นว่าจะไม่มีการเลื่อนใดๆทั้งสิ้น เหตุที่บอกว่าผู้นำอเมริกาออกอาการเหวอนั้น เป็นเพราะบิ๊กตู่ระบุว่าเขาไม่ได้ถามแต่ตนเป็นคนบอกเอง
ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์เดิมของท่านผู้นำคสช.ที่บอกว่าไม่ได้ปกปิดใคร ไม่ได้บิดเบือนอย่างที่หลายคนกล่าวอ้าง โดยพูดเช่นนี้มาโดยตลอด ก็ต้องบอกว่าการประกาศดังกล่าวนั้น จะเป็นการประกาศตามหลักการโดยมีเงื่อนเวลาของกฎหมายลูกเป็นตัวชี้วัด โดยไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจนโต้งๆ นั่นก็จะเป็นอีกเรื่อง ที่ถือเป็นลูกเล่นทางการเมืองที่จะเห็นว่าท่านผู้นำออกลีลาพลิ้วไหวขึ้นทุกวัน
อย่างไรก็ตาม หากจับทิศจับทางความเคลื่อนไหวภายในประเทศ ก็ดูเหมือนว่าคณะคสช.อยากจะให้มีการเลือกตั้งแล้วเปลี่ยนรัฐบาลเต็มแก่ แม้ค่อนข้างที่จะแน่นอนว่า รัฐนาวาหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังเป็นคนหน้าเดิมก็ตาม โดยล่าสุด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวเรือใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์และพี่ใหญ่ของทีมงานคสช. ก็ย้ำกับนักข่าวว่า จะไม่มีการบิดพลิ้วเรื่องเลือกตั้งแน่ เพราะโรดแมปกำหนดไว้อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันก็ตอบกลับอย่างมีอารมณ์ถึงโอกาสคว่ำร่างกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดจนเป็นเหตุให้โรดแมปต้องขยับด้วยว่า คอยดูแล้วกัน ก่อนจะยืนยันว่าเดี๋ยวกฎหมายลูก 4 ฉบับทำเสร็จก็จะมีการเลือกตั้ง และไม่ใช่ว่าคสช.จะอยากอยู่หรือไปมันไม่เกี่ยว วันนี้ไม่มีความในใจอะไรที่ต้องพูด ทุกอย่างยืนยันทำตามโรดแมป รวมทั้งการจะพิจารณาเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ต้องให้กฎหมายลูกแล้วเสร็จ ถึงวันนี้ไม่มีข้อห่วงใยอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างเรียบร้อยดี
ขณะที่จับสัญญาณจากคนร่างรัฐธรรมนูญและกำลังสาละวนกับการร่างกฎหมายลูกโดยมีกฎหมายอีก 2 ฉบับสำคัญอยู่ในมือที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งคือร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่วันก่อนเพิ่งพูดแปลกๆ ว่า หากร่างกฎหมายลูกถูกคว่ำและทำให้โรดแมปเลือกตั้งขยับออกไปไม่เกี่ยวกับกรธ.แน่นอน
แต่พลันที่บิ๊กตู่ไปยืนยันกับผู้นำสหรัฐฯ วันวานนักข่าวไปถามมีชัย ได้คำตอบว่า ยังไม่มีเหตุหรือสัญญาณใดบ่งบอกว่าจะทำให้โรดแมปเลือกตั้งมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการคว่ำร่างกฎหมายลูกนั้นก็เป็นแค่การคาดการณ์ของบุคคล สิ่งที่น่าสนใจจนต้องขีดเส้นใต้คือ ประธานกรธ.บอกว่าเท่าที่ดูจากท่าทีของพลเอกประยุทธ์ก็คงเหนื่อยล้าเต็มที
ไม่รู้ว่ามีนัยความหมายอะไรหรือไม่ ทว่าเมื่อคนที่ใกล้ชิดกันตั้งแต่ตั้งต้นยึดอำนาจ พูดให้ต้องคิดขนาดนี้ บางทีก็อาจจะเป็นลางบอกเหตุอะไรบางอย่างก็เป็นได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างที่เห็น เรื่องสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่คนส่วนใหญ่เกิดปุจฉารัฐบาลนี้ที่บอกว่ามีเสถียรภาพสุดๆ แล้ว จะมีปัญญาแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้หรือไม่
ตรงนี้ต่างหากคือตัวชี้วัด ขณะเดียวกัน ปัญหาที่ไม่มีใครคาดคิดก็ชอบจะโผล่มาทีละเรื่องสองเรื่อง ที่สดๆ ร้อนๆ ก็อย่างร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำนั่นปะไร จู่ๆ ก็ถูกโยนขึ้นมาเป็นคำถามจากสังคมว่า รัฐบาลนี้กำลังจะเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร เท่านั้นแหละ กระแสทุกอย่างถาโถมเข้าใส่รัฐบาลทันที ถึงขึ้นมีข่าวว่าชาวนาจะรวมตัวกันไปถามให้ได้คำตอบชัดๆ จากปากท่านผู้นำว่าคิดและจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่
สุดท้าย ไม่ว่าประธานกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ของสนช.จะออกมาแถลงข่าวชี้แจงอย่างไร คงไม่มีน้ำหนักเท่าสิ่งที่ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกมาสื่อสารกับสังคม ด้วยประโยคที่ว่าบิ๊กตู่ส่งข้อความมาหา “กูไปสั่งมันตอนไหนวะ” สั้นๆ เท่านี้ก็ทำให้รู้กันแล้วว่า ประเด็นร้อนนี้จะมีจุดจบอย่างไร
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ต้องจบอย่างที่ สรรเสริญ แก้วกำเนิด พูดแทนพลเอกประยุทธ์ต่อการไม่ร่วมสังฆกรรมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่า หากคนใดที่ได้รับการทาบทามแต่ติดขัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งรัฐบาลก็เคารพการตัดสินใจ หากใครมาได้ก็มาแต่หากติดขัดหรือมาไม่ได้ก็ไม่เป็นไรรัฐบาลก็พิจารณาเลือกสรรคนใหม่
ในเหตุผลของชัชชาติแม้จะไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ใครก็รู้ แต่ก็ถือว่านิ่มนวลและมีน้ำหนักมากพอไม่ว่าจะเป็น ภาระงานประจำที่เป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัทมหาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระด้านครอบครัว จึงไม่สามารถที่จะทำหน้าที่กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเต็มกำลัง ส่วนที่ว่าไม่ได้มีความเข้าใจในแนวคิดและหลักการของยุทธศาสตร์ชาติอย่างถ่องแท้ ตรงนี้ต้องขีดเส้นใต้
สิ่งที่สามารถอรรถาธิบายความในใจทั้งหมดของชัชชาติต่อการปฏิเสธรับงานในหนนี้ขมวดอยู่ที่ปมสุดท้ายในการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กนั่นก็คือ การยกเอาคำพูดของ Michael Porter กูรูด้านกลยุทธ์ที่ว่า “The essence of strategy is choosing what not to do.” “แก่นแท้ของกลยุทธ์ คือการเลือกว่าอะไรไม่ควรทำ” สิ่งที่เรารู้ว่าจะทำได้ไม่ดี ก็ควรเลือกที่จะไม่ทำเพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งของคนอื่นและตัวเรา
เรื่องความรู้ความสามารถของชัชชาตินั้นไม่ต้องพูดถึง และในแง่ของการยอมรับจากสังคมด้วยความที่มีแฟนคลับหนาแน่นนับตั้งแต่นั่งว่าการกระทรวงหูกวางเป็นคำตอบที่เด่นชัด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ วิษณุ เครืองาม จะออกปากเสียดายและเสียใจในความรู้ความสามารถ แต่ก็พูดอย่างเข้าใจน่าจะในฐานะนักวิชาการด้วยกัน ส่วนตัวก็เคยปฏิเสธบางตำแหน่งเช่นกัน
ไม่ใช่เรื่องเสียหน้าของรัฐบาล ที่มีการประกาศรายชื่อแล้ว มีบุคคลไม่ยอมรับตำแหน่ง และไม่ใช่การสื่อสารผิดพลาดระหว่างการทาบทาม เพราะไม่ได้เป็นผู้ทาบทามด้วยตนเอง แต่มีทีมงานรับไปดำเนินการ และแจ้งกลับมา ประเด็นนี้จะเสียหรือไม่เสียหรือเปล่าไม่ทราบ แต่หากมองเฉพาะเรื่องที่ว่าความเห็นต่างจากความขัดแย้งที่ยาวนานมากว่า 10 ปีนั้น การที่จะสร้างความปรองดองให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้บอกได้อย่างเดียวว่าริบหรี่เหลือเกิน