ช้อปช่วยชาติสไตล์ SCG

  หากความจำไม่เลอะเลือน  การตัดสินใจซื้อถ่านหินของบริษัทในเครือ SCG จากสหรัฐฯในการเดินทางร่วมไปกับนายกรัฐมนตรีไทยที่ทำเนียบขาวในสัปดาห์นี้ น่าจะถือเป็นการซื้อครั้งแรกในประวัติศาสตร์การค้าทั้งสองประเทศ 


พลวัตปี 2017 :  วิษณุ โชลิตกุล

หากความจำไม่เลอะเลือน  การตัดสินใจซื้อถ่านหินของบริษัทในเครือ SCG จากสหรัฐฯในการเดินทางร่วมไปกับนายกรัฐมนตรีไทยที่ทำเนียบขาวในสัปดาห์นี้ น่าจะถือเป็นการซื้อครั้งแรกในประวัติศาสตร์การค้าทั้งสองประเทศ

เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่า จะเป็นการซื้อครั้งสุดท้ายหรือไม่

เหตุผลคือ ไม่มีใครรู้รายละเอียด ที่มีนัยสำคัญต่อธุรกรรมที่เกิดขึ้น รู้แต่ว่ามีข้อตกลงซื้อขายกันที่จำนวน 1.55 แสนตัน แต่ข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ซื้อจากใคร ถ่านหินชนิดใด ราคาเท่าใด เงื่อนไขของสัญญา ส่งมอบกันเมื่อใด หรืออย่างไร

การขาดข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของธุรกรรม ทำให้มีข้อจำกัดที่จะสรุปได้ว่า การซื้อถ่านหินจากสหรัฐฯคราวนี้คุ้มค่าหรือไม่ทั้งในทางเศรษฐกิจหรือในเชิงธุรกิจ เพราะเป็นธุรกรรมระหว่างเอกชนกับเอกชน

หากมองจากมุมของกระบวนการธุรกรรม จะเห็นได้ว่ากว่าจะมีการเซ็นธุรกรรมกัน จะต้องมีการตกลงในรายละเอียดที่ครบถ้วนแล้วก่อนหน้า การลงนามน่าจะเป็นแค่พิธีกรรมที่จะทำให้เชิดหน้าชูตาผู้นำประเทศที่หารือกันเท่านั้นเอง เพื่อนำมาเอ่ยอ้างว่าได้มีผลงานเกิดขึ้น

เท่าที่เปิดเผยรายละเอียดมานั้น มีการระบุอย่างหยาบว่า นายกลินทร์ สารสิน กรรมการบริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด ได้ลงนามซื้อถ่านหินจากภาคเอกชนสหรัฐฯ 2 ฉบับ รวม 155,000 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ และทดแทนการซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะนำเข้ามาใช้ในไทย ภายในเดือนเมษายน 2561

เพียงแต่ข้อมูลต่อมา ที่เปิดเผยเพิ่มเติมคือว่า ส่วนแรกสุดนี้จะนำเข้ามาใช้ในไทยทั้งหมด แต่จะไม่นำเข้ามาใช้เฉพาะเครือ SCG ในประเทศทั้งหมด แต่หากถ่านหินที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ใช้งานได้ดี ในอนาคตก็จะกระจายส่งเครือข่ายโรงงาน SCG ในต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 7-8 ประเทศด้วย อาทิ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม

เหตุผลที่ซื้อครั้งนี้ มีการให้เหตุผลหลายข้อว่า 1) ปัจจุบันอินโดนีเซียมีความต้องการใช้ถ่านหินสูงขึ้น จึงต้องมองหาแหล่งถ่านหินใหม่ 2) ถ่านหินจากสหรัฐฯ มีคุณภาพดีและคุ้มค่าต่อการลงทุน

มุมมองนี้ เท่ากับว่า เครือ SCG มีการคำนวณล่วงหน้า (รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่ง) ไว้แล้วถึงความคุ้มค่าทางธุรกิจมารอบคอบแล้วว่าการซื้อถ่านหินครั้งนี้ เป็นแค่การนำร่องเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางธุรกิจเท่านั้น

จำนวนถ่านหิน 1.55 แสนตัน (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นถ่านหินชนิดใด) ที่นำเข้าจากสหรัฐฯล็อตนี้ เทียบกับยอดนำเข้าถ่านหินทั้งหมดของไทย 6-7 ล้านตัน ถือว่ามีสัดส่วนต่ำมาก ไม่ถือว่าจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย เมียนมา ออสเตรเลีย จีน หรือ สปป.ลาว ได้เลย

จากข้อเท็จจริงเชิงสถิติ ปริมาณการใช้ถ่านหินทั้งหมดของไทยอยู่ที่ประมาณปีละ 26-30 ล้านตัน โดยเป็นการผลิตในประเทศ 19-20 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการนำเข้า ซึ่งเป็นการนำเข้าถ่านหินขนิดบิทูมินัสและซับบิทูมินัสในปริมาณมากที่สุด เนื่องจากแหล่งถ่านหินส่งออกของภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ผลิตถ่านหินบิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพดี โดยในปี 2544 มีปริมาณนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมากที่สุดประมาณร้อยละ 65

การนำเข้าจากอินโดนีเซียมีความได้เปรียบ 2 ด้านคือ คุณภาพและระยะทางขนส่ง การนำเข้าถ่านหินจึงมาจากประเทศใกล้เคียง เพื่อให้ได้ถ่านหินที่มีคุณภาพดีและในราคาที่เหมาะสม

ถ่านหินที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตภาคไฟฟ้าถึงร้อยละ 81 ที่เหลือร้อยละ 19 ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรียงตามลำดับการใช้จากมากไปหาน้อยได้แก่ อุตสาหกรรมซีเมนต์ กระดาษ เยื่อไฟเบอร์ อาหาร ปูนขาว ใบยาสูบ โลหะ แบตเตอรี่ และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า เครือ SCG คือผู้ซื้อรายใหญ่ของถ่านหินนำเข้าอย่างปราศจากข้อสงสัย

การซื้อถ่านหินสหรัฐฯแล้วขนข้ามมหาสมุทรมายังไทยล็อตแรก 1.55 แสนตันของเครือ SCG จึงเป็นการใช้สถานการณ์ช่วงชิงโอกาสแบบยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว และเป็นการประชาสัมพันธ์ในลักษณะช้อปช่วยชาติที่แนบเนียนของค่ายนี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่น่ากังวลว่า กำไรสุทธิปีหน้าของ SCC จะร่วงลงเพราะถ่านหินเพียงแค่ 1.55 แสนตันที่ไม่มีนัยสำคัญอะไร

Back to top button