รายย่อยร้องก.ล.ต.ถอนบอร์ดพิเรนทร์ IFEC ให้สิ้นซาก! จี้ “รพี” สางปัญหาให้จบโดยด่วน
รายย่อยร้องก.ล.ต.ถอนบอร์ดพิเรนทร์ IFEC ให้สิ้นซาก! จี้ "รพี" สางปัญหาให้จบโดยด่วน
นายจักรกริช ประชุม ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้ทำหนังสือถึงนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอให้มีคำสั่งให้กรรมการบริษัท IFEC ทั้ง 3 คนออกจากตำแหน่ง
โดยประกอบด้วย 1.นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ 2.นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ และ 3.พลตรีบุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ ซึ่งเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน
เนื่องจากในวันที่ 8 ก.ย.60 ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 1 มาตรา 4 มาตรา 89/1 มาตรา 89/7 มาตรา 281/2 วรรคสอง มาตรา 281/10 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 72 (5) มาตรา 85 มาตรา 91 (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 90 และมาตรา 91
เช่นเดียวกับนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งในช่วงก่อนหน้า หลังถูกกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เมื่อวันที่ 5 ก.ย.60 จากการที่นายวิชัย ได้กระทำความผิดต่อพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และการถูกกล่าวโทษดังกล่าวทำให้นายวิชัย เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหาร ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย ยังได้เข้าหารือกับ ก.ล.ต. ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับ IFEC ซึ่งแม้จะมีการปลดนายวิชัย ลงจากตำแหน่งประธานกรรมการ แต่กรรมการบริษัทที่เหลืออยู่ไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่รับจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ จากผลการเลือกตั้งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค.60
เนื่องจากใช้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธี Cumulative Voting ซึ่งเป็นวิธีการที่มิชอบด้วยกฎหมายและผิดข้อบังคับของบริษัท แต่กรรมการชุดที่เหลือ กลับแจ้งตลาดฯ โดยอ้างมติบอร์ด แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการชุดใหม่ ทั้งๆที่ไม่มีอำนาจ และ ตลท.ยืนยันว่า กรรมการตรวจสอบไม่ครบ และเป็นเหตุให้บริษัทฯเข้าข่ายถูกเพิกถอน ซึ่งถือเป็นการท้าทายอำนาจฝ่ายตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นสำนักงานก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะนายทะเบียน
โดยทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย กล่าวอีกว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ต้องการให้สำนักงานก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเข้าไปตรวจสอบสถานะการเงินของ IFEC และเข้าไปเป็นตัวกลางในการหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ถือหุ้น พร้อมกับเร่งจัดให้มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เข้ามาฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เพื่อหยุดยั้งและระงับความเสียหาย ไม่ให้มากไปกว่านี้
อีกทั้งหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทฯอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากไม่มีกรรมการตรวจสอบ และไม่สามารถปิดงบฯได้ตามเกณฑ์กำหนด ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับผู้ถือหุ้นที่มีกว่า 2.7 หมื่นคน มูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) กว่า 6.1 พันล้านบาท
อนึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.60 บริษัทได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ(ฉุกเฉิน)ครั้งที่ 4/2560 โดยมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทครบทั้ง 9 คน ได้แก่
1.นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์
2.นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ
3.พลตรีบุญเลิศ แจ้งนพรัตน์
4.นายธีติพันธ์ เทพผดุงพร (ตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560)
5.นายปิยะพงศ์ วงศ์สุวัฒน์ แทน นายทวิช เตชะนาวากุล ที่ลาออก (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2560 ประชุมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 )
6.นายวิภู มหารักขกะ แทน นางสาวประนอม โฆวินวิพัฒน์ ที่ลาออก (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2560 ประชุมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 )
7.นายพีรธัช สุขพงษ์ แทน พลตำรวจเอกสุนทร ซ้ายขวัญ ที่ลาออก (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2560 ประชุมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 )
8.นายไชยนาจ ญาติฉิมพลี แทน นายปริญญา วิญญรัตน์ ที่ลาออก (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2560 ประชุมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 )
9.นายมนูศักดิ์ เดี่ยววาณิชย์ แทน นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ออกจากตำแหน่ง (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (ฉุกเฉิน) ครั้งที่ 4/2560 ประชุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560)