TICON บวกเกือบ 4% นิวไฮในรอบกว่า 2 ปี แย้มผลงาน H2/60 โตเด่น
TICON บวกเกือบ 4% นิวไฮในรอบกว่า 2 ปี แย้มผลงาน H2/60 โตเด่นรับพื้นที่ค่าเช่าพุ่ง โดยราคาหุ้น ล่าสุด ณ เวลา 12.13 น. อยู่ที่ 17.30 บาท บวก 0.60 บาท หรือ 3.59% สูงสุด 18.10 บาท ต่ำสุด 16.60 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 395.24 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ล่าสุด ณ เวลา 12.13 น. อยู่ที่ 17.30 บาท บวก 0.60 บาท หรือ 3.59% สูงสุด 18.10 บาท ต่ำสุด 16.60 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 395.24 พันล้านบาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.65%
ทั้งนี้ราคาหุ้น TICON ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 นับตั้งแต่ราคาอยู่ที่ระดับ 16.50 บาท เมื่อวันที่ 6 ต.ค.60 ขณะเดียวกันราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ 17.60 บาท เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้น TICON ปรับตัวขึ้น คาดว่ามากรณีที่บริษัทควบรวมกองทุนรวมอสังหาฯ TFUND-TLOGIS-TGROWTH เข้ากับ TREIT ให้สำเร็จภายในปีนี้ พร้อมขึ้นแท่นเป็นกองรีทใหญ่ที่สุดในไทย มูลค่ารวม 3.26 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ นายวีรพันธ์ พูลเกษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TICON เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 จะเติบโตได้ดีกว่าในงวดครึ่งปีแรกของปี 2560 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ผลิตจากต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งต้องการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของการขนส่ง และกระจายสินค้า โดยบริษัทคงเป้ายอดพื้นที่ให้เช่าในปี 2560 ไว้จำนวน 2220,000 ตารางเมตร
ส่วนแผนธุรกิจหลังจากมีผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่เข้ามา คือ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะสามารถสรุปและแถลงแผนธุรกิจอย่างเป็นทางการได้ภายในสิ้นปี 2560 นี้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นแผนการดำเนินธุรกิจระยะยาว 5 ปี (2561-2565) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ต้องการให้ TICON เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
ด้าน บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ TICON ได้ประโยชน์จากความคืบหน้าการออกร่าง พ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นประเด็นบวกต่อ TICON ซึ่งมีพื้นที่ในโซน EEC กว่า 3 พันไร่ นอกจากนั้น TICON ยังมีประเด็นบวกที่ซ่อนอยู่จากผลประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของกลุ่มเฟรเซอร์ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยังไม่ถูกสะท้อนลงไปในราคาหุ้นปัจจุบัน