พาราสาวะถี

ยังจะเชื่อกันไหมกับคำสัญญาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่า ขอให้สัญญากับท่านว่าจะไม่พูดเรื่องการเมืองอีก เพราะพูดไปหมดแล้ว ไม่ขอพูดอีก ฉะนั้นจะขออธิบายในเรื่องที่เป็นปัญหาและให้ระดับปฏิบัติแก้ปัญหาไป ส่วนการเมืองก็ว่ากันไป เพราะสิ่งที่ท่านจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน ผ่านมาจนป่านนี้ยังไม่รู้ว่า อีกไม่นานของท่านผู้นำและองคาพยพคณะรัฐประหารนั้นมันคือเมื่อไหร่


อรชุน

ยังจะเชื่อกันไหมกับคำสัญญาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่า ขอให้สัญญากับท่านว่าจะไม่พูดเรื่องการเมืองอีก เพราะพูดไปหมดแล้ว ไม่ขอพูดอีก ฉะนั้นจะขออธิบายในเรื่องที่เป็นปัญหาและให้ระดับปฏิบัติแก้ปัญหาไป ส่วนการเมืองก็ว่ากันไป เพราะสิ่งที่ท่านจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน ผ่านมาจนป่านนี้ยังไม่รู้ว่า อีกไม่นานของท่านผู้นำและองคาพยพคณะรัฐประหารนั้นมันคือเมื่อไหร่

มันคงเหมือนที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งข้อสังเกตไว้ เหตุที่จะทำให้โรดแมปการเลือกตั้งเลื่อนออกไป มีอยู่ทางเดียวคือ สนช.คว่ำร่างกฎหมายลูกที่เหลือ 2 ฉบับคือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องแปลก เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่สภาจากการแต่งตั้งของคสช.ได้ลงมติคว่ำร่างกฎหมาย

ส่วนที่ท่านผู้นำบ่นว่ามีแต่พวกบิดเบือน ทั้งเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตและภาษีน้ำ ความจริงมันไม่ใช่การใส่ไฟใดๆ  เพราะเรื่องแรกท่านเป็นคนเปรยเองผ่านรายการวันศุกร์ด้วยการโยนหินถามทางว่าขอประชาชนเสียสละด้วยการให้รัฐบาลขึ้นแวตอีก 1 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ หากไม่พูดแล้วแมวที่ไหนมันจะไปต่อยอดหรือสร้างกระแสข่าวให้ร้ายรัฐบาลได้

ตรงนี้ต้องโทษตัวเองด้วยว่าพลาด เช่นเดียวกับเรื่องภาษีน้ำ ทั้งๆที่เจตนาดีเป็นเรื่องของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ใช้น้ำในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่เมื่ออยู่ๆ ก็โพล่งออกมาและมีคำอธิบายน้อย มันจึงเป็นการเข้าใจผิดและกลายเป็นกระแสด้านลบกระหน่ำมาที่รัฐบาลด้วยโทษฐานถังแตกนั่นปะไร

จะว่าไปทั้งหมดเหล่านี้ เมื่อใช้วิธีการอธิบายและสร้างความเข้าใจก็ไม่น่าจะต้องกังวลเรื่องแรงกระเพื่อมใดๆ เว้นเสียแต่ว่าจะเห็นเป็นช่วงขาลงจึงเกรงว่าพูดอะไรไปแล้วไม่มีใครฟัง มิหนำซ้ำ ยังตั้งข้อกังขากับผู้มีอำนาจอยู่เนืองๆ นั่นก็อีกเรื่องและเป็นประเด็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องไปสังเคราะห์ข้อมูลกันว่า เหตุใดคำชี้แจงต่างๆ จึงสิ้นมนต์ขลังไม่เหมือนหลังยึดอำนาจในช่วงขวบปีแรกๆ

ความจริงการนิ่งไม่ต้องสนเสียงนกเสียงกา เพราะรู้อยู่แล้วว่าทำอะไรผู้มีอำนาจไม่ได้ น่าจะเป็นหนทางออกที่ดีที่สุด ยิ่งมองไปยังผลโพลของสำนักต่างๆ คะแนนนิยมในตัวท่านผู้นำและรัฐบาลคสช.ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ จึงยิ่งไม่ต้องกังวลใดๆ ดังนั้น การที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกาศล่าสุดว่าไม่รู้จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ก็น่าจะไม่มีเสียงทักท้วงต่อว่าตามมา

บอกไปเมื่อวันก่อนปม พันตำรวจเอกชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ พา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีผ่านด่านทหารที่อรัญประเทศ ถ้าดีเอ็นเอที่เก็บมาจากบ้านอดีตนายกฯหญิงและในรถโตโยต้า แคมรี่ไม่ตรงกันเป็นอันจบข่าวว่าไม่สามารถเอาผิดนายตำรวจนายนี้ในคดีอาญาได้ แต่ด้วยความมั่นใจในสิ่งที่ดำเนินการมา แม้คดีอาญาจัดการไม่สำเร็จ แต่ พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ก็ประกาศกร้าว โทษทางวินัยร้ายแรงยังมีอยู่

บทลงโทษมีตั้งแต่ตัดเงินเดือนจนถึงให้ออก ก็ต้องดูว่าจะมีการรักษาอาการหน้าแตกเล็กๆ กันแบบไหน และสืบสาวราวเรื่องต่อจิ๊กซอว์เพื่อทำให้เห็นภาพการหนีของยิ่งลักษณ์เป็นรูปธรรมได้อย่างไร นี่จะเป็นบทพิสูจน์ที่ว่าใต้ฟ้านี้ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ แต่ในส่วนของอดีตนายกฯหญิง ยิ่งนานวันยังสงบนิ่ง ยิ่งทำให้ผู้มีอำนาจอยู่ไม่เป็นสุข

สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่ถือเป็นความเห็นที่น่าสนใจ กับบทสัมภาษณ์ พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหนังสือชุดแผ่นดินจึงดาล ในประเด็นที่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด โดยมองในมุมที่ว่าการที่เราปล่อยให้มีการลอยนวลพ้นผิดหลายครั้งหลายหน ด้านหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐ แต่คนถูกทำให้เชื่อว่านั่นคือความมั่นคงของสังคม

ถึงแม้ว่าบางครั้งการละเมิดสิทธิของประชาชนจะมีแพะที่โดนร่างแหไปด้วย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับตราบเท่าที่ฉันไม่เดือดร้อนก็ไม่เป็นไร ประการต่อมาคือ เราเป็นสังคมที่มองคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่เป็นเหยื่อเป็นคนไม่มีฐานะทางสังคม เป็นคนจน เป็นคนไม่มีชื่อเสียง เป็นศัตรูทางการเมือง เราพร้อมที่จะมองข้าม

เราไม่รู้สึกมีความรู้สึกเจ็บปวดแทนคนเหล่านั้นได้ ไม่รู้สึกอินังขังขอบ แต่ถ้าเป็นคนมีฐานะ มีชื่อเสียงในสังคม หรือเป็นอนาคตของชาติ เช่น เป็นหมอ เป็นนิสิตแพทย์เสียชีวิต คุณจะรู้สึกว่าคนเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าคนธรรมดาที่สูญเสียไป ขณะเดียวกันเวลาคนไทยมองเรื่องปรองดองเป็นการมองที่คับแคบ คิดว่าการปรองดองคือการที่ไม่ต้องรื้อฟื้นสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมๆกันไป อโหสิกรรมไป

หรือจะเป็นอย่างที่ ธีรยุทธ บุญมี ออกมาวิพากษ์ล่าสุด กับประเด็นความสับสนที่เกิดขึ้นทั้งคนจนและคนชั้นกลาง บางทีอาจจะรวมไปถึงระดับผู้นำอย่างพลเอกประยุทธ์ ที่ก็คิดว่าสับสนกับความคิดเหมือนกันเพราะโรดแมปที่ตั้งขึ้นมา แกก็ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าช่วงต้น ช่วงกลาง ช่วงปลาย มันอยู่ตรงไหน จะเลือกตั้ง 2559, 2560 หรือ 2561 ดี เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นภาวะปกติของสังคมไทย

มุมของธีรยุทธ์เห็นว่า กระบวนทรรศน์ของคสช.และพลเอกประยุทธ์จะไม่สนใจปัญหาคนจนเท่าที่ควรจากที่สังเกต การบริหารงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ยังขาดลักษณะที่บูรณาการมองเห็นปัญหา ซึ่งมันเกิดจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งมิติทางอำนาจ สิทธิ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนจน ท่านพูดเกี่ยวกับคนจนเยอะแต่คิดว่าพูดถึงโดยไม่เข้าถึง

ดังนั้น การเมืองของไทยภายใต้การนำของคสช. ได้ถอยห่างออกจากการเคารพอำนาจประชาชน และถอยห่างออกจากความตั้งใจที่จะกระจายอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งเคยเป็นข้อเรียกร้องหรือเป็นแนวความคิดทางการเมืองในรอบ 2 ศตวรรษที่ผ่านมาได้ขาดหายไป แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ธีรยุทธวิจารณ์จะทำให้ท่านผู้นำสัมผัสได้หรือเปล่าไม่ทราบว่าตัวเองจะเป็นพวกไบโพลาร์ทางการเมือง

วันนี้ท่านผู้นำคสช.จึงเลิกสร้างความสับสนในเรื่องเงื่อนเวลาของการเลือกตั้ง ด้วยคำยืนยันประมาณเดือนมิถุนายน 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายนปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง วันนี้มีความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมืองอยู่ในความสงบ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณามาตรการในการผ่อนคลายต่างๆ ด้วย พูดอย่างนี้เสียตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องเสียรังวัดและตกเป็นขี้ปากรายวันแล้ว

Back to top button