PTT ตัวเต็งประมูลงานกฟผ. ชูจุดแกร่งนำเข้า “LNG” เจ้าเดียวของไทย!
PTT เล็งเข้าร่วมประมูลงานจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 1.5 ล้านตัน/ปี หลังกฟผ.คว้าสิทธิในการเป็นผู้นำเข้าในช่วงปลายปี 61
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.พร้อมเข้าร่วมประมูลจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับสิทธิเป็นผู้นำเข้าช่วงปลายปี 61 เนื่องจากมีความพร้อมจากปัจจุบันเป็นผู้นำเข้า LNG รายเดียวของไทย ซึ่งปีนี้คาดนำเข้า LNG ราว 5 ล้านตัน
“กฟผ.ได้สิทธิเป็นผู้จัดหา ก็เชื่อว่าจะเป็นวิธีเปิดประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเข้าประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ ปตท.จะเข้าร่วมประมูล” นายวิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้คาดว่าการนำเข้า LNG ของ กฟผ.จะอยู่ในช่วงปลายปี 61 ซึ่งทันกับการขยาย LNG Receiving Terminal แห่งแรก ที่มาบตาพุด จ.ระยอง อีก 1.5 ล้านตัน/ปี แล้วเสร็จในช่วงปลายปีหน้าเช่นกัน ซึ่งจะทำให้คลัง LNG แห่งแรกมีขีดความสามารถรองรับ LNG ได้ 11.5 ล้านตัน/ปี
สำหรับความคืบหน้าการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 ในอ.หนองแฟบ จ.ระยอง ซึ่งเป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะรู้ผลในราวปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 65
ขณะที่การนำเข้า LNG ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี เพื่อรองรับคลัง LNG แห่งที่ 2 นั้น ยังต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการนำเข้า LNG ที่เหมาะสมต้องมีทั้งในส่วนที่เป็นสัญญาระยะยาว และตลาดจร (spot) โดยมองสัญญาระยะยาวควรอยู่ระดับ 50-70%
สำหรับการคาดการณ์ความต้องการใช้ LNG ในปีหน้ายังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากภาครัฐอยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP2015) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดหาและความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ
โดยที่ผ่านมาความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เติบโตตามแผน ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าลดลงจากแผนด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะมีการทบทวนแผน PDP ใหม่ แต่จะไม่กระทบต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ยังคงต้องดำเนินการเพื่อรองรับความต้องการใช้ในอนาคตต่อไป
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในครึ่งแรกปีนี้นับว่าเติบโตน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวดีมาก รวมถึงมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ผลิตเองใช้เองเข้ามามาก รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่ได้ร้อนมากนัก เมื่อการใช้ไฟฟ้าเติบโตได้น้อย ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงจากแผนราว 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน PDP2015 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า รวมถึงจะมีการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 58-79 (Gas Plan 2015) ตามมาด้วย ซึ่งจากแผนเดิมที่คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ราว 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นมาที่ราว 34 ล้านตัน จากเดิม 31 ล้านตันในปี 79 เนื่องจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากการที่มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้ามามาก รวมถึงมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เองด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เติบโตตามปกติที่จะล้อไปกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงด้วย
สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ (Shipper) ของคลัง LNG มาบตาพุด ปัจจุบันมีจำนวน 2 ราย คือ ปตท.และ กฟผ.หลังจากนี้ กฟผ.ซึ่งจะเป็นผู้จัดหา LNG ในปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี จะต้องดำเนินการจองใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ จาก ปตท.ภายในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เพื่อนำเข้า LNG ในปลายปี 61 ส่วนการจัดหา LNG อีก 7.5 ล้านตัน/ปี เพื่อรองรับสำหรับคลัง LNG แห่งใหม่นั้น ก็จะมีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนเป็น Shipper ต่อไปในอนาคต
ส่วนการเปิดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะ 2 มีผู้ได้รับคัดเลือกทั้งสิ้น 38 ราย คิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมทุกพื้นที่ 171.52 เมกะวัตต์ (MW) นั้น
โดยขณะนี้ได้สิ้นสุดระยะเวลาการเปิดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีการขยายระยะเวลาเพิ่ม แม้ล่าสุดมีเจ้าของโครงการบางแห่งมีปัญหากับผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งตามกำหนดการ กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาในวันที่ 3 พ.ย.60 เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 30 ธ.ค.61
นายวีระพล กล่าวอีกว่า การพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่เดือนม.ค.-เม.ย.61 คาดสรุปได้ในปลายเดือน ต.ค.นี้ โดยขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก
ขณะที่ในส่วนที่จะช่วยลดผลกระทบได้จะมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากครั้งก่อนในอัตราไม่เกิน 1 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้ามามากขึ้นนั้นไม่น่าจะมีผลมากนักสำหรับงวดใหม่ โดยพลังงานทดแทนจะเข้ามามากในช่วงปลายปีหน้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ฯ ระยะที่ 2