พาราสาวะถี
สำนักพระราชวังแจ้งหมายกำหนดการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันนี้(18ตุลาคม) เวลา 17.00 น. โดยเวลา 17.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ถึงยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
อรชุน
สำนักพระราชวังแจ้งหมายกำหนดการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันนี้(18ตุลาคม) เวลา 17.00 น. โดยเวลา 17.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ถึงยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีฯ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการ เฝ้าฯรับเสด็จ
การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ที่หน้ามุขพระที่นั่งทรงธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการฯกราบบังคมทูลรายงาน และเบิกกรรมการสร้างพระเมรุมาศ จากนั้นเสด็จฯไปยังที่ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมนพปฎลมหาเศวตฉัตร
ต่อมานายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ถวายสายสูตรยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร (โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ชาวพนักงานประโคม สังข์ แตร และดุริยางค์) เมื่อนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสายสูตรคืนอธิบดีกรมศิลปากร รับไปผูกไว้ที่เสาบัว ก่อนเสด็จฯไปทอดพระเนตรพระที่นั่งทรงธรรมและพระเมรุมาศ ตามพระราชอัธยาศัย และเสด็จฯกลับ
ทุกดวงใจคนไทยทั้งประเทศรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อส่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย บริษัท ห้างร้าน แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อที่ไม่เคยหลับใหล ก็ร่วมใจปิดให้บริการ เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้
ว่าด้วยการเตรียมงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน กรณี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ถูกทักท้วงเรื่องความไม่เหมาะสมจากการขึ้นรถแห่พร้อมมีชื่อของตัวเองเชิญชวนประชาชนปลูกดอกดาวเรือง ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด แต่สิ่งที่คนท้วงติงคือประเด็นการหาเสียง เมื่องานนี้ไม่ใช่การเมือง เหมาะสม ควรหรือไม่ควร คนและคณะที่ดำเนินการย่อมรู้ดี
อย่างที่รู้กัน ประสานักการเมืองไทยแลนด์แปรงบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนแท้ๆ ไปสร้างโน่นสร้างนี่ ต้องขอมีส่วนร่วมด้วยการแปะป้ายชื่อในฐานะผู้ชงหรือเสนอขอเงินมาทำให้ ทั้งๆที่ความจริงไม่จำเป็นต้องไปโพนทะนา ชาวบ้านตาสียายสาก็รู้กันอยู่แล้วว่าใครคือคนทำงาน แต่พอมันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ฝังรากลึกกันมานานจึงอดไม่ได้ที่จะต้องขอจารึกชื่อตัวเองไว้ให้คนได้จดจำ
พฤติกรรมเช่นนี้ ความจริงควรจะหมดไปหลายสิบปีที่แล้ว ยิ่งยุคปัจจุบันใครทำดีทำชั่ว ถ้าคนจับได้มีหลักฐาน แป๊บเดียวเท่านั้นได้โด่งดังเป็นข่าวเกรียวกราวกันทั้งด้านบวกและลบ นี่แหละที่เขาเรียกโซเชียลมีเดีย ดังนั้น นักการเมืองไม่ว่าจะรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ต้องหันมาใส่ใจเรื่องการทำความดีจากข้างในและให้ทำเป็นนิสัย ไม่ใช่พวกสร้างภาพว่าชอบทำความดี
ฝนตกห่าใหญ่น้ำไม่ไหลไปไหนรอการระบายในพื้นที่กทม.สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้กระทั่งบ้านหรูของคุณหนู อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่านสุขุมวิทก็ถูกน้ำขังรอการระบายท่วมด้วย ทำให้รถยนต์ของอดีตนายกฯ ในค่ายทหารเสียหายไปด้วย งานนี้ไม่รู้จะโทษใครดี ถ้าผู้ว่าฯกทม.ยังเป็น หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อาจถูกกล่าวหาว่ากลั่นแกล้งหัวหน้าพรรคต้นสังกัดของตัวเอง(ฮา) หรือไม่ก็อาจจะถูกไล่ให้ขึ้นไปอยู่บนดอย
แต่พอเป็นผู้ว่าฯ ม.44 พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ที่ได้ออกมาขอโทษประชาชน พร้อมกับโทษฟ้าฝน เทวดาไม่เป็นใจ ฝนตกหนักถึงขั้นวิกฤติต่อให้มี 10 มือก็ช่วยอะไรไม่ได้ มันกลายเป็นปัญหาโลกแตก จนคนเมืองหลวงเลิกหวังกับการแก้ไขของฝ่ายกทม.ไปแล้ว พอเห็นฝนตั้งเค้าจึงทำได้แค่ภาวนากันว่าขออย่าตกหนัก ถ้าตกหนักและนานก็ขอให้น้ำระบายไปไวๆ มากไปกว่านั้นคือทำใจเป็นดีที่สุด
ส่วนเรื่องอุโมงค์ยักษ์ที่สร้างกันมาหลายปีจนจะเป็นชาติ ที่เปิดใช้กันไปแล้วก็ดีที่กำลังสร้างและจะสร้างก็มี วอนผู้มีอำนาจโดยเฉพาะผู้ว่าฯกทม.ลากตั้งไม่มีอะไรจะต้องเสียและไม่ต้องกังวลเรื่องฐานคะแนนเสียงคนกรุงเทพฯ ช่วยอธิบายไขข้อกระจ่างให้ดี ที่ว่าช่วยน้ำท่วมได้นั้นจริงหรือมั่วนิ่ม ถ้าหากเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่หลอกลวงประชาชน ก็ช่วยชงส่งให้ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจัดการเสียให้สิ้นซาก โทษฐานผลาญงบประมาณไปทำในสิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้
การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งที่ยังมีกฎหมาย 2 ฉบับคาอยู่ในชั้นกรธ. แต่อย่างน้อยก็มีความชัดเจนในหนึ่งประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันก่อนหน้า เกี่ยวกับระยะเวลา 150 วันจัดการเลือกตั้งหลังกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้รวมเวลาในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่ ล่าสุด ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ได้ออกมาชี้แจงจนเป็นที่กระจ่างชัด
กล่าวคือ เมื่อกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กฎหมายลูกสำคัญตัวสุดท้ายประกาศใช้แล้ว ภายใน 15 วันนับจากนั้น จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกกต.ในการร่วมกันตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งการจัดการเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 150 วันนับจากวันประกาศพระราชกฤษฎีกา จากนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้กกต.มีเวลาอีก 30 วันในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 95 เพื่อนำไปสู่การเปิดประชุมสภาโดยเร็ว
เป็นอันว่าเลิกเถียงกันได้แล้วสำหรับเรื่องนี้ ส่วนที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกิจการงานเลือกตั้งตีความว่าภายใน 150 วัน รวมถึงการรับรองผลการเลือกตั้งด้วยนั้น กรธ.บอกว่าเป็นเรื่องของสมชัย หากทำได้ก็เก่งไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการเวลา แต่ถ้ายึดตามรัฐธรรมนูญก็อย่างที่อธิบายไป ส่วนนักการเมืองและพรรคการเมืองมีแค่เรื่องเดียวที่รออยู่นั่นก็คือ จะได้รับการปลดล็อคให้ทำกิจกรรมเมื่อไหร่