พาราสาวะถี

ไม่รู้ว่าทำให้เสียบรรยากาศหรือขัดใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อุตส่าห์แสดงความแมนประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดๆ ว่าเป็นเดือนพฤศจิกายนปีหน้าหรือไม่ เพราะขณะที่หลายคนกำลังยกย่องท่านผู้นำที่เลิกอมพะนำทำให้ภาวะอึมครึมหายไป แต่ ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำคนสำคัญของกปปส.ดันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลคสช.ปฏิรูปใน 3 เรื่องให้สำเร็จก่อนที่จะเดินหน้าให้ประชาชนหย่อนบัตร พร้อมคำขู่หากไม่ทำหรือยังไม่สำเร็จ จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้เสียของ สูญเปล่า


อรชุน

ไม่รู้ว่าทำให้เสียบรรยากาศหรือขัดใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อุตส่าห์แสดงความแมนประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดๆ ว่าเป็นเดือนพฤศจิกายนปีหน้าหรือไม่ เพราะขณะที่หลายคนกำลังยกย่องท่านผู้นำที่เลิกอมพะนำทำให้ภาวะอึมครึมหายไป แต่ ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำคนสำคัญของกปปส.ดันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลคสช.ปฏิรูปใน 3 เรื่องให้สำเร็จก่อนที่จะเดินหน้าให้ประชาชนหย่อนบัตร พร้อมคำขู่หากไม่ทำหรือยังไม่สำเร็จ จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้เสียของ สูญเปล่า

ข้อทักท้วง 3 ประการที่อยากให้ปฏิรูป คือ การทำพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชนโดยแท้จริง การปฏิรูปตำรวจต้องเป็นการปฏิรูปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และการปฏิรูปการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมๆคำอธิบายด้วยวาทกรรมตามสไตล์คนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากเลือกตั้งไปโดยที่ยังไม่มีการปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ก็คาดการณ์ได้ว่าการเมืองจะกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์

ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม จะเกิดเผด็จการรัฐสภาโดยเสียงข้างมาก จะละเลยหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยผู้ที่ชนะการเลือกตั้งจะอ้างว่าได้รับเสียงสวรรค์มาจากประชาชน มีสิทธิ์ทำทุกเรื่อง เพราะผ่านฉันทามติประชาชนมาแล้วเหมือนที่เคยเป็นมา ท่าทีเช่นนี้ของถาวรไม่รู้ว่าได้ศึกษาร่างกฎหมายที่ “แป๊ะ” สั่งเนติบริกรชั้นครูเขียนกันขึ้นมาบ้างหรือไม่ โอกาสที่จะได้พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาเหมือนที่ผ่านมานั้น มันไม่มีอีกต่อไปแล้ว

แต่ก็ยังหลับหูหลับตา โพนทะนาในสิ่งที่ตัวเองและพรรคพวกมโนและสร้างวาทกรรมมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีของความขัดแย้งในประเทศ ด้วยเหตุนี้คงต้องสะกิดให้บิ๊กตู่ได้รับรู้และพิจารณาอย่างรอบคอบว่า เสียงทักท้วงของพวกเดียวกันเองนั้น เป็นไปด้วยความหวังดีและประสงค์ดีหรือมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่หรือไม่ ถ้าตีความหมายจากสิ่งที่พูด นี่แสดงให้เห็นว่าไม่เชื่อมือทีมงานแป๊ะที่งัดสารพัดวิธีมาตีกติกาให้ประเทศแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับประเด็นเผด็จการรัฐสภานั้น คงต้องให้ถาวรและคณะลองไปค้นหาบทวิเคราะห์ของ ยูชิฟูมิ ทามาดะ ศาสตราจารย์ประจำ ATAFAS ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ใช้เวลาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทำวิจัยเน้นการอธิบายพลังต่อต้านประชาธิปไตย หรือ anti-democratic forces โดยเขียนหนังสือเล่มสำคัญคือ Myths and Realities: The Democratization of Thai Politics (2009) ว่าด้วยชนชั้นกลางกับการเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้วนำไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย

โดยสิ่งที่นักวิชาการชาวญี่ปุ่นรายนี้ได้ศึกษาเพื่อทำให้เห็นว่าสิ่งที่ชนชั้นกลางของประเทศไทยเคลื่อนไหวอยู่บนห้วงเวลาแห่งความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับโลกประชาธิปไตยที่นานาอารยะประเทศเป็น นั่นก็คือ ชนชั้นกลางคือพลังของประชาธิปไตย และหลังจากนั้นเขาเริ่มหันมาทำความเข้าใจกระบวนการตุลาการภิวัตน์ของประเทศไทย เพื่อดูว่าเป็นพลังในการทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เพียงใด

บทวิเคราะห์ผ่านการบรรยายให้นักศึกษาปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟังเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังการหายตัวไปของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทามาดะชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่เป็นเผด็จการเสียงข้างน้อย ฝ่ายเสียงข้างน้อยมีอำนาจมากกว่า เสียงดังกว่า คะแนนน้อยกว่าแต่เสียงดังกว่า

หลายคนอาจไม่เห็นด้วย แต่เขาคิดว่าที่เมืองไทย เผด็จการเสียงข้างมากนั้นไม่มีอยู่จริง สิ่งที่เห็นมีคำศัพท์นี้แล้วด่ากันมากๆ แต่จริงๆมีไหม พวกที่ชนะการเลือกตั้งได้อำนาจการปกครองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นประชาธิปไตยธรรมดา ถ้าประชาชนไม่ชอบก็ให้พวกเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เสียงข้างน้อยที่เข้าสู่อำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หมายความว่าประชาชนจะควบคุมและตรวจสอบไม่ได้ แล้วเสียงข้างน้อยยังเพิ่มอำนาจของตัวเองอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดเผด็จการเสียงข้างน้อย

ในมุมของทามาดะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญคือตัวแทนของเสียงข้างน้อย ซึ่งเขาเห็นว่าในเมืองไทยศาลมีอิสระสูงมาก เช่นเดียวกับกองทัพไทยก็มีอิสระสูงมากเป็นพิเศษ ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายจะมีกองทัพที่อิสระเท่าประเทศไทยนั้นไม่มีแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ฝ่ายการเมืองไม่ได้แทรกแซง คนไทยมักใช้คำนี้ แต่อันที่จริงแล้วในต่างประเทศฝ่ายการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ฉะนั้น ต้องควบคุมดูแลกองทัพได้ นั่นเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ที่ประเทศไทยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการโยกย้ายทหาร จนทำให้ฝ่ายการเมืองยุ่งเกี่ยวไม่ได้ ศาลกับทหารเป็นอิสระจากอำนาจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดว่าที่อื่นไม่มีขนาดนี้ แต่เป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงมีการอาศัยตุลาการภิวัตน์เพื่อสู้กับประชาธิปไตย

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการเมืองไทยเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า มีการเลือกตั้งและการเลือกตั้งมีผลต่อการเมืองด้วย ตั้งแต่ในช่วงหลังปี 2544 หรือในยุคของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา การเลือกตั้งมีความหมาย มีความสำคัญสูงขึ้น แต่เมื่อดูพรรคการเมืองของประเทศไทย พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.เป็นอันดับ 1 ครั้งสุดท้ายคือช่วงหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 ส่วนพรรคของทักษิณหลังปี 2544 ได้ส.ส.เป็นที่ 1 โดยตลอด ฉะนั้น พลังการเมืองที่ไม่ชอบการเลือกตั้งต้องหาวิธีต่อต้านการเลือกตั้ง

ความเห็นเช่นนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับคนที่มีหัวใจรักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ย่อมมองเห็นปัญหาว่าแท้ที่จริงแล้ว หากอยากจะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ควรจะเดินและแก้ไขกันอย่างไร คำตอบสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่การรัฐประหาร เพียงแต่ว่านักการเมืองและพรรคการเมืองที่อยากจะชนะการเลือกตั้งบางพวก ไม่ได้มองถึงจุดนั้นเป็นเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มของตัวเองอิงแอบกับอำนาจอีแอบมาโดยตลอดนั่นเอง

ดังคำถามของทามาดะที่ว่า ผีทักษิณที่ถูกปลุกให้คนซึ่งไม่ชอบขี้หน้าเกลียดกลัวนั้น ได้ออกแบบระบบการปกครองที่ตัวเองได้เปรียบไหม เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไหมคำตอบคือ “ไม่” รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฉบับ 2550 ฉบับ 2560 พวกทักษิณไม่เคยเขียน ถามว่าเขาจำกัดสิทธิฝ่ายเสียงข้างน้อยไหมคำตอบก็คือ “ไม่” ใช้อำนาจทำให้ตัวเองได้เปรียบในการเลือกตั้งไหมอันนี้มีบ้าง

เรื่องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ก็คงไม่ต่างจากทุกพรรคที่เวลามีอำนาจ แต่เมื่อทักษิณชนะเลือกตั้งโดยตลอด และคู่แข่งและคนที่ไม่ชอบขี้หน้าเลือกที่จะเดินกันด้วยวิธีสร้างความขัดแย้งและเกลียดชัง แล้วก็สถาปนาอำนาจรูปแบบใหม่ผ่านองคาพยพของคณะรัฐประหาร วันนี้ประเทศไทยจึงยังวังเวงบนเส้นทางของความปรองดองและสงบสุขที่แท้จริง

Back to top button