TOP มั่นใจงบ Q3/60 โตกระฉูด! รับกำไรสต็อกน้ำมันทะลุ 2 พันลบ.
TOP มั่นใจงบ Q3/60 โตกระฉูด! รับผลบวกกำไรสต็อกน้ำมันกว่า 2 พันล้านบาท รวมถึงค่าการกลั่นอยู่ที่ระดับ 8.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/60 จะอยู่ในระดับที่ดี โดยคาดว่ามีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 10.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/60
โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากธุรกิจโรงกลั่นที่ดี โดยมีค่าการกลั่น (GRM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 8.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 6.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/60 ขณะที่ส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หลังโรงงานพาราไซลีน (PX) ของอินเดียที่เพิ่งเปิดดำเนินงานในระยะที่ 2 ยังเดินเครื่องไม่ได้เต็มที่มากนัก
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบสิ้นไตรมาส 3/60 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเดือน ก.ย.อยู่ที่ 53.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าราคาปิดสิ้นไตรมาส 2/60 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเดือน มิ.ย.ที่ 46.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้คาดว่าไตรมาส 3/60 จะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันกว่า 2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/60 ที่มีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันราว 2 พันล้านบาท
ขณะที่การใช้กำลังการกลั่นใกล้เคียงกับในไตรมาส 2/60 ที่อยู่ระดับ 112% และการใช้กำลังการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ อยู่ในระดับ 80% ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/60
สำหรับในช่วงไตรมาส 4/60 นับเป็นไตรมาสที่ดีของธุรกิจโรงกลั่น เพราะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวและฤดูหนาว ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ประกอบกับ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังคงรักษาระดับการลดการผลิตน้ำมัน ขณะที่ยังต้องจับตาการประชุมโอเปกในเดือน พ.ย.ที่จะพิจารณาเรื่องการคงอัตราการผลิตน้ำมันในระดับปัจจุบันหรือไม่หลังจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.61
รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ และการผลิตน้ำมันของไนจีเรีย และลิเบีย ที่มีโอกาสจะปรับเพิ่มขึ้นได้ ตลอดจนการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (shail oil) ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อราคาน้ำมัน แต่เบื้องต้นมองว่าราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/60 น่าจะอยู๋ในระดับกว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้
ส่วนการเติบโตของความต้องการใช้และกำลังการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจะเริ่มมีส่วนต่างมากขึ้น หลังจากที่การเพิ่มขึ้นของกำลังการกลั่นขนาดใหญ่ในตะวันออกกลางและจีนได้ผ่านจุดสูงสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนั้นการเพิ่มขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันมีน้อยมาก ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นตั้งแต่ปีที่แล้วและคาดว่าจะยังคงต่อเนื่องไปอีก 2 ปีข้างหน้า