รายงานผู้สอบบัญชี(ฉบับล่า)

คำสั่งที่ดูขึงขังและเอาจริงของสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อกรณีสั่งแก้ไขงบการเงินถึงขั้น "ถอดรื้อ" ของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ ยังดูน้อยเกินไป หรือพูดง่ายๆ คือ มาตรฐานต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับคำสั่งล่าสุดของ สำนักงาน ก.ล.ต.สหรัฐฯ หรือ SEC เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คำสั่งที่ดูขึงขังและเอาจริงของสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อกรณีสั่งแก้ไขงบการเงินถึงขั้น “ถอดรื้อ” ของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ ยังดูน้อยเกินไป หรือพูดง่ายๆ คือ มาตรฐานต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับคำสั่งล่าสุดของ สำนักงาน ก.ล.ต.สหรัฐฯ หรือ SEC เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา

คำสั่งของ SEC ดังกล่าวระบุว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน หรือหลักทรัพย์ทุกชนิดที่เป็นกิจการมหาชนจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ จะต้องเปิดเผยรายละเอียดของหมายเหตุประกอบงบการเงิน และข้อสอบถามของผู้สอบบัญชีอิสระที่เป็นผู้สอบทาน เพื่อให้สะท้อนความโปร่งใสของงบการเงินต่อนักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆ

เป้าหมายของการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต้องการให้นักลงทุนได้เข้าใจถึงปัจจัยความเสี่ยง และสามารถวินิจฉัยได้ถึงปฏิกิริยาของผู้สอบบัญชีที่มีต่อกิจการนั้นๆ

ความเข้มงวดที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ถูกระบุว่า ให้มีผลในทางปฏิบัติในทันที โดยองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลบังคับใช้ตามกติกาใหม่ได้แก่ the Public Company Accounting Oversight Board ซึ่งได้รับการรับรองจาก SEC อีกชั้นหนึ่ง

รายละเอียดหยาบๆ ที่เปิดเผยออกมา ระบุว่า ข้อมูลที่ต้องเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน มีดังต่อไปนี้

– การสนทนาระหว่างผู้สอบบัญชีกับตัวแทนบริษัท และข้อมูลที่ใช้สื่อความทั้งในสาระและประเด็นรายละเอียด ก่อนที่ผู้สอบบัญชีจะลงความเห็นว่าให้ผ่าน หรือผ่านแบบมีเงื่อนไข หรือ ไม่ให้ผ่าน

-เปิดช่องให้ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นเพิ่มเติมในทางส่วนตัวต่อการประเมินฐานะงบการเงินของบริษัท เพื่ออธิบายก่อนการสรุปท้ายสุดว่าทำไมถึงให้ผ่าน หรือ ผ่านแบบมีเงื่อนไข หรือ ไม่ให้ผ่าน

-เรียกร้องให้ผู้สอบบัญชีเปิดเผยความเห็นที่มีสีสันเกี่ยวกับ “สาระสำคัญที่เปราะบางในการตรวจสอบ” (critical audit matters)

แน่นอนว่า กติกาใหม่นี้ มีคนไม่เห็นด้วยตามปกติ โดยเฉพาะเสียงคัดค้านที่ว่า กติกาใหม่นี้จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยง 3 ด้าน จาก 1) การฟ้องร้องระหว่างผู้สอบบัญชีและบริษัทที่เป็นลูกค้าจะเพิ่มขึ้น 2) ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานขึ้นระหว่างผู้สอบบัญชี และ board audit committees 3) ต้นทุนการตรวจสอบที่ต้องเพิ่มมากขึ้นจากมาตรฐานที่ยกระดับ

แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามาตรฐานการตรวจสอบและรายงานงบการเงิน ซึ่งเป็น “มาตรฐานอเมริกัน” จะกลายเป็น “มาตรฐานสากล” ได้หรือไม่ และเร็วแค่ไหน แต่หากพิจารณาโดยสาระและกระแสโลกาภวัตน์ของตลาดทุนแล้ว น่าจะไม่นานเกินรอที่จะกลายเป็นสากล

นั่นหมายความว่า โอกาสที่กติกาใหม่ที่จะเริ่มใช้ในนิวยอร์ก หรือชิคาโกก่อน จะถูกนำไปใช้เป็นกติกาทั่วไป เป็นไปได้สูงยิ่ง หากว่ามีคนเห็นพ้องเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของงบการเงิน

ในกรณีของไทย ความเป็นไปได้ก็มีสูงมาก เพราะหากดูจากภาพรวม ถือว่ารายงานทางการเงินเป็นข้อมูลสำคัญที่ 1) แสดงถึงฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการในตลาดทุน 2) เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน 3) มีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุน

ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ไทย อ้างเสมอว่า ได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลและพัฒนาคุณภาพของรายงานทางการเงินหลายด้าน อาทิ

1)พัฒนามาตรฐานวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยให้สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดมาตรฐานวิชาชีพบัญชีของไทยให้สอดคล้องและเป็นไปตามกติกาของ International Financial Reporting Standards (IFRSs) และให้มาตรฐานการสอบบัญชีให้เป็นไปตาม International Standards on Auditing (ISAs) ที่กำหนดโดย IAASB

2)การกำกับดูแลมาตรฐานผู้สอบบัญชี กำหนดให้ผู้สอบบัญชีของกิจการในตลาดทุน ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.  และ ก.ล.ต.จะติดตามดูแลคุณภาพการปฏิบัติงานทั้งผู้สอบบัญชีรายบุคคล และ สำนักงานตรวจสอบบัญชีที่ผู้สอบสังกัด ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีสากล

3)การติดตามดูแลรายงานทางการเงินของกิจการในตลาดทุน กำหนดให้การจัดทำและการเปิดเผยข้อมูลงบการเงิน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี และต้องมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เป็นผู้สอบทาน (กรณีงบการเงินรายไตรมาส) หรือตรวจสอบ (กรณีงบการเงินประจำปี)   รวมทั้งติดตามและตรวจทาน และหากพบว่า งบการเงินมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง หรือ อาจมีข้อสงสัยว่าผิดปกติ หรือกรณีอื่นใดที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ในการลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ก.ล.ต. ก็อาจสั่งให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จัดหาผู้สอบบัญชีเพื่อทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ

นอกเหนือจากนั้น ก.ล.ต. ยังกำหนดให้ผู้สอบบัญชีในตลาดทุนต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามมาตรฐานวิชาชีพ เหตุผลหลักคือ ต้องการให้ตลาดได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการระดมทุนข้ามประเทศด้วย

เหตุผลข้อหลังสุดนี่แหละที่ถือเป็นสภาพบังคับว่า อีกไม่ช้านาน กติกายกระดับมาตรฐานงบการเงินล่าสุดฉบับอเมริกัน จะต้องถูกนำมาใช้ในไทยเต็มรูป 

Back to top button