มังกร(เลิก)เร้นกาย
การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) แห่งชาติครั้งที่ 19 จบลงไปแล้ว ท่ามกลางกระแสฮือฮาในสื่อตะวันตกที่ตั้งข้อสังเกตฐานะการนำของประธานธิบดี สี จิ้นผิง ว่า เทียบเคียงกับ อดีตผู้นำอย่าง เหมา เจ๋อตง กันเลยทีเดียว
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) แห่งชาติครั้งที่ 19 จบลงไปแล้ว ท่ามกลางกระแสฮือฮาในสื่อตะวันตกที่ตั้งข้อสังเกตฐานะการนำของประธานธิบดี สี จิ้นผิง ว่า เทียบเคียงกับ อดีตผู้นำอย่าง เหมา เจ๋อตง กันเลยทีเดียว
ตามธรรมนูญ พคจ. (ที่กำหนดกฎเหล็กเรื่อง “พรรคเหนือกองทัพ” เอาไว้ชัดเจน) กำหนดให้มีการประชุมทุก 5 ปีเพื่อกำหนดทิศทางและอนาคตของพรรค
นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญจีนทั่วโลก เชื่อกันว่า ปีนี้มีสมาชิกในคณะกรรมการบริหารระดับโปลิตบูโรเกษียณอายุไปมากถึง 5 คน จากทั้งหมด 7 คน หมายถึงโอกาสที่ดีของ สี จิ้นผิง ที่สามารถแต่งตั้ง “เสาค้ำยันทางอำนาจ” ซึ่งย่อมมีผลกระทบระดับโลก ในฐานะที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก
หากไม่เน้นกันที่อำนาจของสี จิ้นผิง ทั้งจากการได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี-ประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง และ จากการแต่งตั้ง กรรมการโปลิตบูโรที่หาคนหนุ่มและสตรีไม่มีเลย (เพื่อตอกย้ำความเชื่อว่า สี จิ้นผิง จะอยู่ในอำนาจนานกว่าปกติ ไม่ใช่แค่ 10 ปี เหมือนผู้นำสองคนก่อนหน้า) จะเห็นได้ชัดว่า พคจ.ยังคงพยายามรักษาความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับให้จีนกลายเป็นชาติผู้นำของโลกภายใต้แนวทางดั้งเดิมของ เติ้ง เสี่ยวผิง (ที่ใช้ชื่อยาวเฟื้อยว่า ลัทธิมาร์กซ-เลนิน ความคิดเหมา เจ๋อตง แนวทางเติ้ง เสี่ยวผิง) เพียงแต่ชูธง “ความคิดของสี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมแบบจีนสำหรับยุคใหม่” (ซึ่งที่ประชุมสมัชชาพรรคฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บรรจุลงเป็นหลักการสำคัญในธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรค) ที่ถือว่าแตกต่างจากแนวคิด “สามตัวแทน” ของเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งเน้นความร่วมมือกับผู้ประกอบการเอกชน และแนวคิด “การพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ของ หู จิ่นเทา
แนวคิด สี จิ้นผิง ประกอบด้วย “หลักการพื้นฐาน 14 ประการ” ที่มีรายละเอียดของพันธกิจที่ย่นย่อ ดังนี้
1.สร้างความมั่นใจแก่ผู้นำพรรคเกี่ยวกับงานทั้งหมด
2.มุ่งมั่นต่อนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
3.สานต่อการปฏิรูปอย่างครอบคลุมและลึกซึ้ง
4.ยอมรับเอาวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนา
5.มองว่าประชาชนเป็นคนบริหารประเทศ
6.สร้างความมั่นใจว่าทุกมิติของธรรมาภิบาลเป็นไปตามรากฐานของกฎหมาย
7.ส่งเสริมคุณค่าแกนหลักของสังคมนิยม
8.สร้างความมั่นใจและปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยผ่านการพัฒนา
9.สร้างความมั่นใจถึงความกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
10.สานต่อนโยบายแบบองค์รวมเพื่อความมั่นคงของชาติ
11.ส่งเสริมความเป็นผู้นำพรรคอย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับพลังของประชาชน
12.ส่งเสริมหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และสนับสนุนการผนึกรวมชาติ
13.สนับสนุนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อมวลมนุษยชาติ
14.ใช้ธรรมาภิบาลอย่างเต็มที่และเข้มงวดต่อพรรค
พันธกิจทั้ง 14 ข้อ ซึ่งอยู่ในกรอบคำมั่นสัญญาของ สี จิ้นผิง เองที่ว่า จะเดินหน้าการปฏิรูปและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และสร้างแรงผลักดันที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลของจีนยังคงทันสมัย ทำให้จีนเปิดกว้างมากขึ้นต่อประชาคมโลก ถือว่าไม่ได้ตอบโจทย์สำคัญ 3 ข้อที่จีนเคยปฏิเสธที่จะตอบชาวโลกมายาวนานหลายปี นั่นคือ
- จีนกำลังเดินแนวทางสังคมนิคม หรือ ทุนนิยม
- จีนปัจจุบัน มีฐานะเป็นชาติร่ำรวย หรือยากจน
- จีนมีนโยบายต่างประเทศเช่นใด ระหว่างจักรวรรดินิยม หรือ ต่อต้านจักรวรรดินิยม
โดยภาพรวม แม้จะคาดหวังอะไรไม่ได้มาก แต่ท่าทีของที่ประชุม พคจ.บ่งชี้ชัดว่า จีนกำลังปูทางโดยนัย เพื่อเข้าสู่ฐานะและการแสดงบทบาทชาติมหาอำนาจระดับหัวแถวของโลกแข่งกับสหรัฐฯเต็มรูปอย่างมีวุฒิภาวะ
การย้ำเน้นในประเด็นใหม่เรื่องสิ่งแวดล้อม (หลักการข้อ 9) เดินหน้าส่งเสริมการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ (หลักการข้อที่ 13) และรักษาอัตราเติบโตเพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง (หลักการข้อที่ 8) ถือได้ว่าเส้นทางสู่อนาคตของจีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง มีโอกาสจะเป็นดังที่นักวิเคราะห์ของบริษัทบัญชีชื่อดังอย่าง PWC เคยพยากรณ์ (ภายใต้เงื่อนไขหลายประการ) ว่า ภายในปี ค.ศ.2050 จีนจะกลายเป็นชาติที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าสหรัฐฯที่จะตกเป็นอันดับสาม รองจากอินเดียด้วยซ้ำไป (ดูตารางประกอบ)
บนเส้นทางสู่อนาคตเช่นนี้ (หากไม่สะดุดล้มคว่ำไปด้วยเหตุบางประการเสียก่อน) โอกาสที่จีนจะทำตัวเป็น “พยัคฆ์ซุ่ม มังกรเร้นกาย” ย่อมเป็นไปไม่ได้อีก เพราะขนาดของเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริโภคจำนวนมหาศาล และการเป็นแกนกลางของธุรกรรมแบบ B2B ข้ามประเทศ ไม่เปิดช่องให้ทำอย่างอื่นได้