“พรประเสริฐ”จากพระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จะสถิตอยู่ในดวงใจคนไทยทั้งชาติตลอดไป
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงค์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จะสถิตอยู่ในดวงใจคนไทยทั้งชาติตลอดไป
ชาวไทยทั้งผองน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ และได้พร้อมใจกันเป็นหนึ่งเดียวร่วมแสดงความอาลัยถวายแด่รัชกาลที่ 9 พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย โดยพร้อมเพรียงในทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรไทย
ตลอดเวลา 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ ประชาชนคนไทยได้รับ “พรอันประเสริฐ” จากพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมมาทุกปี
ย้อนดูพระราชดำรัสเก่าๆ จะพบความน่าทึ่งเป็นอย่างยิ่งว่า พระองค์ได้ทรงเตือนภัยเศรษฐกิจล่วงหน้าก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ไว้อย่างแม่นยำตรงเผง
พระราชดำรัสองค์ที่พระราชทานเมื่อ 4 ธันวาคม 2536 “ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางที่ดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทยเรานี่ก้าวหน้าดี การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดีมีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่
ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้าแล้วก็ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง”
ยิ่งพระราชดำรัสองค์ที่พระราชทานเมื่อปี 2539 ปีสุกดิบก่อนฝีแตกในปี 2540 เสมือนพระองค์ทรงเตือนให้ประชาชนเตรียมตัวใจปรับตัวรับมือวิกฤตเศรษฐกิจชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว
“การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง
ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร
บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก”
พระราชดำรัสองค์ที่พระราชทานวันเฉลิมฯ 4 ธันวาคม 2540 (เวลาหลังรัฐบาลไทยประกาศเข้ารับการช่วยเหลือจาก IMF แล้ว) “การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 ธันวาคม 2540 ทรงให้กำลังใจคนมีความสามารถฝ่าวิกฤต
“คนเราเมื่อมีความสามารถที่ดีเป็นทุนรอนอยู่ ก็จะไม่มีวันอับจน ย่อมหาทางสร้างตัวสร้างฐานะให้ก้าวหน้าได้เสมอ ข้อสำคัญในการสร้างตัวฐานะนั้น จะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ”
พระราชดำรัสองค์ที่พระราชทานวันเฉลิมฯปี 2541 เป็นที่มาอันชัดแจ้งของเศรษฐกิจพอเพียงเลยทีเดียว
“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียงหมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
อีกองค์หนึ่ง “คำว่าพอเพียงความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง”
และอีกองค์หนึ่ง “ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ”
ปี 2542, 2543, 2544 ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจยังคงหนักหน่วงอยู่ ไม่คลี่คลายดีนัก พระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี ก็ยังคงทรงตอกย้ำเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในแง่มุมที่ลึกซึ้งแหลมคมและเป็นรูปธรรมใช้ได้จริงยิ่งขึ้น
พระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่ได้ทิ้งมรดกอันล้ำค่าคือพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันตลอดจนนโยบายและทิศทางประเทศอันควรจะเป็นยิ่งนัก