ตาบอดคลำช้าง(ครั้งใหม่)

วันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญของยุโรปตะวันตก พากันดีดตัวขึ้นรับข่าวธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เดิมในระดับต่ำติดพื้น แล้วขยายระยะเวลาโครงการซื้อพันธบัตรต่อไปอีก 1 ปี แต่ลดวงเงิน QE รายเดือนลงครึ่งหนึ่งจากระดับปัจจุบันที่ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน ลงสู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโร/เดือน โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม ปีหน้าเป็นต้นไป


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

วันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญของยุโรปตะวันตก พากันดีดตัวขึ้นรับข่าวธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เดิมในระดับต่ำติดพื้น แล้วขยายระยะเวลาโครงการซื้อพันธบัตรต่อไปอีก 1 ปี แต่ลดวงเงิน QE รายเดือนลงครึ่งหนึ่งจากระดับปัจจุบันที่ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน ลงสู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโร/เดือน โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม ปีหน้าเป็นต้นไป

ผลของการประชุม ECB ทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐกลับแข็งขึ้นสวนทางกับสกุลเงินสำคัญของโลก

ค่าดอลลาร์ที่แข็งขึ้น เกิดจากการปรับท่าทีชัดเจนว่าจากนี้ไป ปริมาณเงินท่วมโลกเพราะมาตรการ QE จะเพิ่มช้าลงจากฝั่งยุโรป อาจเปิดทางให้กับดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อปรับเป้าหมายเงินเฟ้อให้ได้ตามเป้า ยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับกระตุ้นการลงทุนและจ้างงานภาคเอกชน ท่าทีของ ECB มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่อปริมาณทุนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เพราะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทุนล้นท่วมโลก หรือ capital explosion จนกระทั่งดัชนีตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกพากันทำนิวไฮ หรือ นิวไฮรอบหลายปี เกิดจาก

1)นวัตกรรมการสร้าง QE ของธนาคารกลางชาติทุนนิยมหลัก สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ทุนส่วนเกินไหลบ่าท่วมตลาดเก็งกำไรต่อเนื่อง

2)โลกาภิวัตน์ที่ถูกเร่งเร้าด้วยเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ใหม่ เปิดช่องกับธุรกรรมข้ามประเทศขยายตัวรุนแรง

3)การพัฒนาที่ไม่สมดุลทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนจากเมืองเล็กและชนบท สู่เมืองใหญ่กลายเป็น megacity explosion ที่เกินกว่าควบคุมได้ และสร้างตลาดใหม่ที่หลากหลายเป็นอิสระจากเศรษฐกิจมวลรวมของชาติ แต่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงขึ้น

QE (ย่อมาจากคำว่า Quantitative Easing) เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของทุนโลกในระยะ 10 ปีมานี้ชนิดไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงินนี้ เป็นนโยบายด้านการเงินนอกจารีต ที่ดำเนินการโดยธนาคารกลาง (เริ่มต้นโดยเฟด แล้วระบาดไปยังสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเกิดเหตุการณ์ในกรณีที่นโยบายทางการคลังที่เป็นแบบแผนปกติ เริ่มไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจได้

โดยรูปธรรม QE คือ การพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลเพื่อเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ จากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินของเอกชนทั้งในและนอกประเทศ

ภารกิจดังกล่าว ไม่มีใครบอกได้ว่าถูกหรือผิดในระยะสั้น เพราะโดยจารีตของธนาคารกลางแล้ว ไม่มีหน้าที่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะสั้นมากกว่า หน้าที่กระตุ้นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นจารีตของมาตรการทางการคลังของรัฐบาล

ผลลัพธ์ข้างเคียงของมาตรการ QE ที่มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมมหาศาล ซึ่งก็คือเม็ดเงินใหม่ๆ ที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถกระตุ้นการจ้างงานระยะสั้น จากการที่สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจได้มากขึ้น (จากการเพิ่มเงินกองทุนประเภท Tier2 ตามกฎป้องกันความเสี่ยงของ BIS) ซึ่งถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็คือ การเพิ่มเพดานปล่อยหนี้ (โดยซื้อเวลายืดอายุหนี้ใกล้เน่าให้ยาวออกไปได้กว่าระยะปกติ) นั่นเอง

แม้มาตรการดังกล่าว ทำให้มีเสียงบ่นแสดงความกังวลต่อหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมากขึ้น แต่ตราบใดที่หนี้เหล่านี้ยังสามารถแสดงบท “ผู้ร้ายที่จำเป็น” ในฉากขับเคลื่อนอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าได้ ก็ทำให้การซื้อเวลาแบบลูบหน้าปะจมูกดำเนินไปไม่ขาดสาย

ความสำเร็จระยะสั้นที่โอ้อวดได้ว่ามาตรการ QE มีข้อดีมากกว่าด้อย มีตัวอย่างชวนให้ศึกษา จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ จัดหนักประกาศมาตรการ QE และใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบควบคู่กัน แล้วอ้างตัวเลขย้อนหลังว่า อัตราเติบโตจากนโยบายอาเบะโนมิกส์นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ประสบความสำเร็จมากในการกระชากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานกระเตื้องขึ้น จากการพิมพ์ธนบัตรออกมาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ของประเทศในทุกๆ ปี จนเข้าข่าย “เสพติด QE” ชนิดเลิกไม่ได้ ในยามที่ภาคส่งออกและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นชะลอตัวลง

สำหรับสหรัฐฯ แม้ว่าเฟดฯ ได้ยกเลิกมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบไป 2 ปีแล้ว แต่ผลพวงของเงินดังกล่าวยังตกค้างอย่างมาก เพราะการใช้ QE ถึง 4 ครั้ง (QE1 ปี 2552-2555 ใช้วงเงิน 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ QE2 เดือนพฤศจิกายน 2553 ใช้วงเงิน 600 พันล้านดอลลาร์ QE3-4 เดือนกันยายน 2555-2558 ใช้วงเงิน 3.06 ล้านล้านดอลลาร์) มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 5.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ยังคงตกค้างในระบบทั่วโลก เพราะยังไม่ได้ดึงกลับออกมากนัก แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะกลับมาฟื้นโดดเด่น ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันต่ำเตี้ยต่อเนื่อง

ผลข้างเคียงเชิงลบของมาตรการ QE เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในระยะสองปีมานี้ เพราะเงินทุนที่ท่วมโลกจากปริมาณเงินล้นเกิน ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เกิดเป็น “กับดักสภาพคล่อง” ที่ถ่วงรั้งการลงทุนและจ้างงานภาคเอกชนรุนแรงขึ้น รวมทั้งในสหรัฐฯที่แม้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แต่อัตราเติบโตจีดีพียังต่ำกว่าอดีตถึงครึ่งค่อน

ทางเลือกที่จะต้องลงมือลดผลข้างเคียงเชิงลบก่อนที่จะกลายเป็นภาวะเงินฝืดเรื้อรังในระยะยาว มี 2 ทางเท่านั้น คือ 1)การสร้างโครงการขนาดใหญ่ด้านสาธารณูปโภคระดับโลกขึ้นมาดูดซับเงินที่ท่วมโลกให้ลดน้อยลง และเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดด เช่น โครงการ  Road and Belt Initiative (ถนนสายไหมครั้งใหม่) ของจีน และ 2)การลดปริมาณเงินที่ท่วมโลกลงไป ด้วยการยกระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และลดวงเงิน QE พร้อมกัน โดยมีโครงการดูดซับเงินกลับจากระบบผ่านช่องทางต่างๆ

ทั้งสองทางเลือก พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะหมายถึงการเคลื่อนย้ายทุนมหาศาล ที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของทุนโลกในชาติต่างๆ ที่ทำให้กลไกเดิมต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย  ซึ่งจะมีแรงต้านที่ทำให้บรรลุผลยากมาก

มติของที่ประชุม ECB จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กล้าหาญในกระบวนการตัดสินใจ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะสร้างแรงเหวี่ยงมากพอสำหรับขับเคลื่อนอนาคตให้ปริมาณเงินที่ท่วมโลกลดลงเร็วตามต้องการจนเกิดผลเชิงลบต่ำได้อย่างไร

บนเส้นทางลองผิดลองถูกแบบตาบอดคลำช้างนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลก น่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากทุนท่วมโลกต่อไปอย่างน้อยก็อีกเกือบ 2 ปีจนถึงปลายปี 2562

Back to top button