EEC แค่เริ่มก็สุมไฟ
ม.44 ยกเลิกผังเมืองรวม 3 จังหวัด EEC ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ดูท่าจะเป็นเรื่องยาว เมื่อนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในและนอกพื้นที่ฮือออกมาค้าน
ทายท้าวิชามาร :ใบตองแห้ง
ม.44 ยกเลิกผังเมืองรวม 3 จังหวัด EEC ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ดูท่าจะเป็นเรื่องยาว เมื่อนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในและนอกพื้นที่ฮือออกมาค้าน
เลขาธิการ EEC ยืนยันว่า อุตสาหกรรมใน EEC เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฟังแล้วก็น่าเชื่อ แต่เอ๊ะ ทำไมต้องรีบออก ม.44 วันที่ 25 ตุลาคม ก่อนพระราชพิธีวันเดียว
ถ้าไม่มีผลกระทบจริง ก็น่าจะรอได้ จัดชี้แจงประชาชน อธิบายเหตุผล ให้คำมั่น ไทยแลนด์ 4.0 อุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพ ไม่ต้องห่วง ฯลฯ แต่ทำปุบปับอย่างนี้ก็เหมือนมีพิรุธ ไม่อยากให้วิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนก็คล้อยตาม ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ชี้ว่ามีโครงการถมทะเลมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งอาจไม่ผ่านเพราะติดขัดผังเมือง จึงต้องใช้ ม.44
ยิ่งย้อนดูที่มาที่ไป ก็ยิ่งงงใหญ่ เพราะผังเมืองฉบับใหม่ของชลบุรี ระยอง เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2560 นี่เอง (ไม่ใช่ผลงานรัฐบาลที่แล้ว) กลับถูก ม.44 ล้างไพ่ใหม่
เป็นผังเมืองที่เฉลิมพร กล่อมแก้ว แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก บอกว่าต่อสู้มากว่า 2 ทศวรรษ กว่าจะได้ผังเมืองที่เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ ลดพื้นที่อุตสาหกรรม จัดสรรพื้นที่กันชน
มาบตาพุดเป็นพื้นที่พิเศษ มีประวัติการต่อสู้เรื่องมลภาวะมายาวนาน ยิ่งช่วงรัฐบาลทักษิณ คิดจะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ ก็ยิ่งทำให้มวลชนไม่พอใจ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยุคที่มีสุทธิ อัชฌาศัย เป็นผู้นำ จึงเป็นกำลังสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อมาในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ชาวบ้านก็ฟ้องศาลปกครอง มีคำสั่งระงับชั่วคราว 76 โครงการ มูลค่า 4 แสนล้าน
ฉะนั้น ม.44 อาจยับยั้งได้ชั่วคราว แต่ในระยะยาว ถ้าเคลียร์มวลชนไม่ได้ ก็จะยุ่ง
มองให้กว้างออกไป ม.44 EEC สะท้อนภาพความขัดแย้ง ในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ภาคธุรกิจชื่นชมสนับสนุน แต่ NGO คัดค้าน บีบีซีไทยสัมภาษณ์รองประธานสภาอุตสาหกรรม บอกว่าเป็นการปลดล็อกสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ขณะที่ประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประณามว่าใช้อำนาจปืนประเคนทรัพยากรให้นายทุน
แม้แต่สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เรียกร้องให้ทบทวนคำสั่ง บอกว่าเป็นการตีเช็คเปล่า เอื้อนักลงทุน
3 ปีกว่าของรัฐบาล คสช. ฐานผู้สนับสนุนผู้คัดค้านเปลี่ยนไปจากยุคเป่านกหวีดไล่รัฐบาลเลือกตั้ง แม้ฐานหลักไม่เปลี่ยนนัก เช่น คนชั้นกลางในเมืองส่วนใหญ่ยังชื่นชอบรัฐบาลทหาร มวลชนที่เป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ก็ยังคับแค้นไม่พอใจการจำกัดเสรีภาพ
แต่หลังจากรัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยผูกพันธมิตรกลุ่มธุรกิจใหญ่ ที่เรียกว่า “ประชารัฐ” พร้อมกับกระชับอำนาจรัฐราชการทุกปริมณฑล ก็ทำให้เริ่มขัดแย้งกับ NGO ภาคประชาสังคม ที่หลายคนก็ร่วมไล่รัฐบาลที่แล้ว แม้บางคนยังมีบทบาทช่วยรัฐบาล แต่ทิศทางความขัดแย้งมีแต่จะขยายขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งเป็นธรรมดา รัฐเข้มแข็งมักขัดแย้งประชาสังคม สมัยทักษิณก็เป็นเช่นนี้เอง เราจึงเห็นวิวาทะด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้า ทรัพยากรน้ำ ร่าง พ.ร.บ.พันธุ์พืช มากระทั่ง EEC ให้เช่าที่ดิน 99 ปี (ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ)
สถานการณ์วันนี้อาจยังไม่น่าห่วง เพราะ NGO ก็ทำภาพลักษณ์ตัวเองตกต่ำไปเยอะ บางกลุ่ม เช่นพวกทวงคืน ก็อ่อนเหตุผลจนชาวบ้านขบขัน แต่อย่าประมาทไป ถ้ามีหลายเรื่องซ้ำซ้อน ถ้าผู้คนรู้สึกเหลื่อมล้ำ รัฐราชการกับเอกชนตัดสินใจกันเอง โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ก็อาจสั่งสมไปสุมรวมได้