พาราสาวะถี

สัญญาณปรับครม.โชยมาแตะปลายจมูก หลังการไขก๊อกพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของ “บิ๊กบี้” พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล พร้อมทีมงาน ด้วยเหตุผลแสดงความรับผิดชอบ(ไม่พอใจ)ต่อการที่ วรานนท์ ปีติวรรณ ถูกเด้งพ้นอธิบดีกรมการจัดหางานจากการใช้มาตรา 44 โดยการลาออกครั้งนี้มีการพ่วงทีมงานตั้งแต่ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและเลขานุการเจ้ากระทรวงกรรมกรด้วย


อรชุน

สัญญาณปรับครม.โชยมาแตะปลายจมูก หลังการไขก๊อกพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของ “บิ๊กบี้” พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล พร้อมทีมงาน ด้วยเหตุผลแสดงความรับผิดชอบ(ไม่พอใจ)ต่อการที่ วรานนท์ ปีติวรรณ ถูกเด้งพ้นอธิบดีกรมการจัดหางานจากการใช้มาตรา 44 โดยการลาออกครั้งนี้มีการพ่วงทีมงานตั้งแต่ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและเลขานุการเจ้ากระทรวงกรรมกรด้วย

แม้ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน แต่งานนี้นอกจากเป็นการแสดงสปิริตบวกความน้อยใจ เหมือนที่บิ๊กบี้ไลน์ไปในกลุ่มทีมงานของตนเองว่า “จบภารกิจแล้ว” มองอีกด้านและเป็นด้านที่ถูกจับตามองมากที่สุดนั่นก็คือ การไขก๊อกของพลเอกศิริชัยเป็นการส่งสัญญาณไปถึงการปรับครม.ประยุทธ์ 5 ด้วย

กล่าวสำหรับในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอันสะท้อนภาพของการไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานคือ ปมแรงงานต่างด้าว ซึ่งถือเป็นนโยบายแรกที่คสช.ประกาศไว้ว่าจะแก้ไขแต่เวลาผ่านมากว่า 3 ปี เมื่อประเมินผลแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะความล่าช้าในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวที่กำลังดำเนินการอยู่เวลานี้

นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะจะว่าไปแล้วหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของประชาชนถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนัก รวมถึงรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งมาแล้วเกิน 2 ปีแต่การทำงานยังไม่เต็มที่ตามแผนการปฏิรูปประเทศ ดังนั้น จึงต้องเขย่ากันอีกกระทอกในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อให้คนและผลงานเป็นที่ยอมรับก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

สิ่งสำคัญอีกประการคือ หลังการปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม หากภาพลักษณ์ของคนในรัฐบาลยังเป็นเช่นที่เห็น โอกาสที่จะกลายเป็นเป้าให้ฝ่ายการเมืองเล่นงานอย่างหนักก็ย่อมมีสูง เพราะบางคนบางกระทรวงนั้นมีจุดอ่อนซึ่งในภาวะอำนาจพิเศษกดทับเช่นนี้ไม่มีใครกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่หลังการปลดล็อคสถานการณ์จะเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ กระทรวงที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นเป้าในการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งในส่วนของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แน่นอนถ้าหวังผลถึงการเลือกตั้ง คนที่จะเข้ามาแทนก็ย่อมหนีไม่พ้นนายทหารชั้นพลเอกที่เกษียณอายุราชการกันไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สัญญาณที่ทำให้คอข่าวทั้งหลายชายตามองคงเป็นการเข้าพบบิ๊กตู่ของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในวันเดียวกับที่บิ๊กบี้ไปยื่นใบลาออก มองในแง่ดีคืออาจเป็นการเข้าไปคุยเพื่อเตรียมการลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของนายกฯในวันนี้ ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า น่าจะมีการคุยเรื่องการปรับครม.ด้วย

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เจ้ากระทรวงเกษตรฯ จะถูกโยกพ้นตำแหน่งนั้นว่ากันว่าเป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการผันน้ำเข้าทุ่งเจ้าพระยา สิ่งที่วิจารณ์กันหนักคือ ปริมาณน้ำเทียบกับปี 2554 แล้ว ปีนี้น่าจะน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าประชาชนในพื้นที่รับน้ำอย่างที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยากลับถูกน้ำท่วมขังนานกว่าปี 54 เสียด้วยซ้ำ

ความจริงเรื่องน้ำท่วมนั้น หากไม่ใช่รัฐบาลคสช.การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะปรากฏขึ้นและรุกเร้าถึงขั้นที่สะเทือนต่อผู้บริหารประเทศแน่นอน แต่ด้วยการที่มีอำนาจพิเศษจึงสามารถกดทับปัญหาที่แท้จริงไว้ แต่ความเป็นจริงนั้นผู้มีอำนาจรู้ดีว่าเป็นอย่างไร มิเช่นนั้น คงไม่เห็นภาพการบินด่วนไปพบกับประชาชนทั้งที่อ่างทอง ขอนแก่นและล่าสุดก็คือนครศรีธรรมราช

สำหรับที่กระทรวงมหาดไทยนั้นมี 2 สูตรคือ ปรับโยก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยให้บิ๊กป้อมเข้ามากุมบังเหียนแทนเพื่อความเด็ดขาดและหวังผลในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการหักพี่รองอย่างบิ๊กป๊อกที่ดูท่าว่าจะชื่นชอบและบริหารจัดการภายในกระทรวงคลองหลอดได้ดี เมื่อเป็นเช่นนั้นถ้าไม่ปรับมท.1 ก็ต้องเสริมกำลังด้วยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีช่วยแทน

เพราะจนถึงวันนี้ ถ้าไปถามคนจำนวนมากจะได้คำตอบว่าไม่เคยรู้ว่ากระทรวงมหาดไทยมีรัฐมนตรีช่วย เนื่องจากไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวใดๆ และไม่มีใครรู้เสียด้วยซ้ำว่ารัฐมนตรีรายนั้นชื่อ สุธี มากบุญ ด้วยเหตุนี้หากจะสร้างความแข็งแรงของกระทรวงที่ดูแลข้าราชการที่ใกล้ชิดประชาชนทั้งประเทศ ก็จำเป็นต้องเสริมคนที่ลุยงานและมีบารมีพอๆ กับบิ๊กป๊อก เพื่อให้การดูแลการเลือกตั้งเป็นไปตามเป้าหมาย

คำถามที่จะตามมาหากมีการปรับรัฐนาวาประยุทธ์ 5 จริงคือ ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นในทันทีทันใดหรือไม่ คำตอบคือ หากหวังผลในแง่ทางการเมืองในหมู่มวลมิตรก็ทำให้มั่นใจถึงผลเลือกตั้งและทิศทางของผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งได้ แต่ในแง่ของการค้า การลงทุนหรือด้านเศรษฐกิจ คงคิดเช่นนั้นไม่ได้

ต้องอย่าลืมว่ากว่า 3 ปีที่บริหารประเทศ เปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจมา 2 ชุดโดยเฉพาะชุดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หวังกันว่าทุกอย่างมันจะดีขึ้นกว่าช่วงก่อนรัฐประหาร เอาเข้าจริงก็อย่างที่เห็น ปัจจัยด้านการส่งออกเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า อาจจะมีสัญญาณดีขึ้นมาบ้างหลังท่านผู้นำประกาศชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้ง

แต่ที่เป็นอุปสรรคสำคัญและยังถอดรหัสกันไม่ได้ แก้กันไม่ตกคือความเดือดร้อนของคนรากหญ้าหรือตามแนวประชารัฐของผู้มีอำนาจมองว่าเป็นกลุ่มฐานราก ว่ากันตามความจริง มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่ดำเนินการกันมาตั้งแต่แจกเงินจนมาถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เหมือนจะตอบโจทย์แต่ก็ยังไม่ตอบสนองต่อความคาดหวังของคนยากคนจนได้ทั้งหมด

มิหนำซ้ำ ยังมีช่องโหว่ของการดำเนินการด้วย ที่น่าสนใจคือความเห็นของนักวิชาการทีดีอาร์ไออย่าง สมชัย จิตสุชน ที่พูดถึงโครงการดังกล่าวแต่วันนี้จะเกริ่นแค่หัวข้อไว้ก่อนว่า “จนไม่จด คนจดกลับไม่จน” เป็นการสะท้อนภาพของปัญหาและแนวคิดอย่างตรงไปตรงมา ส่วนเนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร ขอแปะโป้งเอาไว้ก่อน และจะรีบนำมาบอกกล่าวกันโดยเร็ว

Back to top button