ช้อปช่วยห้าง?

ถึงตอนนี้ อย่าได้ถามว่า ความต่างระหว่างประชานิยมกับประชารัฐอยู่ที่ตรงไหน รู้แค่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าแสนสั้นที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ช้อปช่วยชาติ กลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ถึงตอนนี้ อย่าได้ถามว่า ความต่างระหว่างประชานิยมกับประชารัฐอยู่ที่ตรงไหน รู้แค่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าแสนสั้นที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ช้อปช่วยชาติ กลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท (ยกเว้น สุรา ยาสูบ) ที่ใช้จ่ายในช่วงวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. 2560 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้

กระทรวงการคลังอ้างเหตุผลว่า ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีอยู่แล้วมีการขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนอันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

เงื่อนไขที่กำหนด ระบุเอาไว้ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560) ดังนี้

1.กำหนดให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2560 มาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

2.ผู้มีเงินได้ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการและชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการในช่วงเวลาดังกล่าว และต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

3.การซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้ในประเทศหรือบริการเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 แต่สินค้านั้นไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ และการบริการนั้นไม่รวมถึงการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ การจ่ายค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

กระทรวงการคลัง อ้างถึงการประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้มีภาษีสูญเสียประมาณ 2 พันล้านบาท แต่จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าหรือการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.05% แต่ข้อเท็จจริงระบุชัดว่า รายได้จากภาษีของกระทรวงการคลังในระยะยาวไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีหลังใช้มาตรการจะเพิ่มมากขึ้นจากร้านค้าต่างๆ ที่อยู่นอกระบบก็เข้ามาอยู่ในระบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ส่วนร้านอาหารต่างๆ มีการออกใบเสร็จ เพราะทำให้เห็นว่าการเข้ามาอยู่ในระบบจะได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการของรัฐ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า มาตรการลดภาษีช้อปช่วยชาติไม่ได้ไปใช้ปลายปีเหมือนในปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนรู้สึกว่าทุกสิ้นปีจะต้องมีมาตรการนี้ และชะลอใช้จ่ายช่วงนี้เพื่อรอไปใช้ช่วงสิ้นปี ดังนั้นในปีนี้จึงทำเป็นพิเศษออกมา หลังจากที่ประชาชนผ่านช่วงไว้ทุกข์ไปแล้ว เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

หากมองย้อนกลับไป มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นั้น ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะมีการเข็นมาตรการต่างๆ ออกมา อ้างถึงการคืนความสุขให้ประชาชนที่หลากหลายทีเดียว หากมองย้อนกลับไปในปี 2559 ที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าทางรัฐบาลเองก็มีโปรเจ็กต์กระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเช่น

  • มาตรการภาษีหนุนเที่ยวช่วงสงกรานต์ ที่ทางรัฐบาลเปิดให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการเที่ยว-กิน-นอน ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 มาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท
  • มาตรการแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อย โดยมอบเงินช่วยเหลือคนฐานรากที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท รายละ 3,000 บาท และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท รายละ 1,500 บาท ซึ่งปรากฏว่ามีผู้มาลงทะเบียนถึง3 ล้านราย
  • โครงการบ้านประชารัฐ เป็นของขวัญสำหรับคนรายได้น้อยอายุ 20 ปีขึ้นไป ที่อยากมีบ้านหลังแรกราคาหลังละไม่เกิน 1,500,000 บาท โดยภาครัฐจะปล่อยสินเชื่อวงเงิน 70,000 บาท แบ่งเป็นสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนภาคอสังหาริมทรัพย์สร้างที่อยู่อาศัย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

ครั้งนี้ โครงการช้อปช่วยชาติ ที่ได้ถูกใช้อีก มีการปรับปรุงมาตรการให้ดียิ่งขึ้นด้วย โดย นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร ประเมินว่าจะมีผู้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีจากมาตรการช้อปช่วยชาติประมาณ 22,500 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา

ผลพวงที่ได้รับโดยตรงของมาตรการนี้ ตกอยู่กับบรรดาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีธุรกิจค้าปลีกเต็มที่ ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ทั้งหมดขยับตัวเพิ่มมากขึ้นในการซื้อขายวานนี้ทันที

นักวิเคราะห์ทุกสำนักมองว่า การอนุมัติมาตรการช้อปช่วยชาติติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แต่ในปีนี้มีระยะเวลาการใช้มาตรการที่ยาวนานขึ้นเป็น 23 วัน จากปี 59 ที่ใช้ระยะเวลาเพียง 17 วัน จึงเชื่อว่าจะช่วยหนุนอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยจะหนุนอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมที่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีนับจากไตรมาส 3 ให้มากขึ้นไปอีก

มาตรการออกแบบเพื่อหารายได้จากภาษีเข้ารัฐที่แนบเนียนอย่างนี้ เป็นมากกว่าคำวิจารณ์ว่าเป็นมาตรการช้อปช่วยห้างธรรมดา

Back to top button