พาราสาวะถี

ร้อนแรงต่อเนื่องกับ 6 คำถามของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สองพรรคการเมืองใหญ่พร้อมใจกันสหบาทา แม้ลีลาจะแตกกันด้วยบริบททางการเมืองของแต่ละพรรคก็ตาม รวมไปถึงกลุ่มการเมืองที่ต่างไม่เห็นด้วยกับคำถามดังกล่าว ส่วนคนกันเองเป็นไปตามสูตร ทั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ วิษณุ เครืองาม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเป็นเรื่องของท่านผู้นำคิดเองและไม่ได้หวังผลในการสืบทอดอำนาจ


อรชุน

ร้อนแรงต่อเนื่องกับ 6 คำถามของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สองพรรคการเมืองใหญ่พร้อมใจกันสหบาทา แม้ลีลาจะแตกกันด้วยบริบททางการเมืองของแต่ละพรรคก็ตาม รวมไปถึงกลุ่มการเมืองที่ต่างไม่เห็นด้วยกับคำถามดังกล่าว ส่วนคนกันเองเป็นไปตามสูตร ทั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ วิษณุ เครืองาม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเป็นเรื่องของท่านผู้นำคิดเองและไม่ได้หวังผลในการสืบทอดอำนาจ

ที่น่าขีดเส้นใต้คงเป็นเสียงจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.คนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาปกป้องอย่างเป็นพิเศษต่อคำถามที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้สิทธิของตัวเองรวมไปถึงคสช.ด้วย ในการสนับสนุนพรรคการเมือง  ซึ่งเนติบริกรชั้นครูก็บอกว่าเป็นสิทธิของคนทุกคนที่จะสนับสนุนได้ แต่บิ๊กตู่ยังไม่ได้บอกว่าจะสนับสนุนใคร แค่ถามประชาชนว่าถ้าคสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองได้หรือไม่เท่านั้น ความจริงไม่ต้องถามก็ได้ แต่คงอยากรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไร

ขนาดเอาลูกตัวเองมาเป็นเลขาส่วนตัวทำงานในคสช. กินเงินเดือนหลวง โดยที่ตัวเองมีส่วนในอำนาจปัจจุบัน ยังบอกว่าไม่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน นับประสาอะไรกับคำถามเหล่านี้ของท่านผู้นำที่คนอย่างมีชัยจะบอกไม่ได้ว่ามีสิทธิและทำได้ ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของความเป็นคนดี ขึ้นชื่อว่าคนดีเสียอย่าง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ย่อมเบาบางเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเหนียวแน่นอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ระบุว่า การที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้น ต้องถามว่า จะสนับสนุนด้วยการแสดงความคิดเห็นหรือด้วยการใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุน ถ้าจะใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนนั้น ย่อมเป็นการผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องวางตัวเป็นกลาง แม้ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้

สิ่งที่สะท้อนผ่าน 6 คำถามของท่านผู้นำ แสดงให้เห็นถึงการดำรงจุดมุ่งหมายและความคงเส้นคงวาอย่างเปิดเผย ไม่อ้อมค้อมอำพรางใดๆ เสียแต่ว่าจุดมุ่งหมายนี้เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ที่มีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจของตนเองออกไป โดยไม่ฟังเสียงประชาชนแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

คำถาม 6 ข้อของพลเอกประยุทธ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลกลับมาเป็นรัฐบาลอีก โดยคสช.ต้องการจะสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ทั้งที่จะตั้งขึ้นใหม่และที่มีอยู่แล้ว เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใต้กำกับของคสช.ขึ้นมาบริหารประเทศไปตามยุทธศาสตร์และแผนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน โดยไม่ต้องฟังเสียงเรียกร้องและความต้องการของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง

ข้ออ้างว่า หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงและความแตกแยกอีก เหมือนเมื่อครั้งก่อนการรัฐประหาร อีกทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและมีความต่อเนื่องได้ ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลอันคลาสสิคที่ท่านผู้นำท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองมาตลอดนับตั้งแต่การยึดอำนาจ

พลเอกประยุทธ์กับพวกได้วางแผนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตนมาตั้งแต่ต้น การร่างรัฐธรรมนูญ การตั้งคำถามเพิ่มเติมในขั้นการลงประชามติ การออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การตั้งคำถาม 4 ข้อก่อนหน้านี้ การจัดการกับพรรคการเมืองบางพรรค การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนด และการพูดถึงการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ล้วนเป็นไปเพื่อการนี้ทั้งสิ้น

ส่วนที่ต้องออกมาตั้งคำถามอีก เพราะที่ทำมาทั้งหมด ดูเหมือนจะยังไม่เป็นไปตามแผน พรรคการเมืองใหญ่ยังไม่ได้ถูกทำลายไปจนราบคาบ คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลคสช.ก็ลดลงฮวบฮาบ ปัญหาของประชาชนที่สะสมมาในช่วง 3 ปีกว่าก็มากขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะมีปัญญาไปแก้ไขได้ หากมีการเลือกตั้งขึ้นมาในสภาพเช่นนี้ก็ไม่มีหลักประกันว่าพลเอกประยุทธ์และพวกจะเป็นรัฐบาลได้ต่อไปอีก

เสียงวิจารณ์อันสะท้อนความเป็นคนประชาธิปไตยของจาตุรนต์ คงเป็นบทสรุปที่ว่า ทำไมช่วงนี้นักการเมืองจึงออกมาโจมตีรัฐบาลคสช.กันมาก ต้องบอกว่าขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์คสช. ใครก็วิจารณ์กันทั้งนั้น เพราะเห็นว่ายิ่งอยู่นานก็ยิ่งทำความเสียหายแก่ประเทศชาติ คนที่ทำให้รัฐบาลคสช.ด้อยค่าไม่ใช่ใครที่ไหนแต่คือคสช.เอง และการตั้งคำถาม 6 ข้อครั้งนี้ยิ่งทำให้คสช.ด้อยค่าลงไปอีก

ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แสดงความเห็นน่าสนใจ โดยมองว่า พลเอกประยุทธ์อย่าเพิ่มคู่ขัดแย้งใหม่ ช่วงที่คสช.เข้ามาระยะแรก พยายามบอกว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งใคร แต่ที่ตั้งคำถามคือการดึงตัวเองเข้ามาเป็นคู่กรณี ซึ่งขอให้ช่วยกันคิดดีกว่าว่าจะเดินหน้าอย่างไร ไม่ควรดึงตัวเองเข้าสู่ความขัดแย้ง คนดีไม่จำเป็นต้องคิดเห็นเหมือนกันทุกเรื่อง ทำไมต้องผลักคนเห็นต่างเป็นคนไม่ดี

ต้องยอมรับต่อความเป็นคนที่แม่นในหลักการของอภิสิทธิ์ แต่น่าเสียดายที่หัวหน้าพรรคเก่าแก่แสดงทัศนะได้ดี แต่ปรากฏว่ารองโฆษกพรรคอย่าง ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ที่ขึ้นต้นได้ดี แต่บทสรุปส่งท้ายกลับกลายเป็นการแสดงธาตุแท้ความเป็นคนรุ่นใหม่แต่หัวใจเก่าแก่แบบพรรคต้นสังกัด ด้วยการบอกว่า เสียงที่วิจารณ์รัฐบาลนั้น เป็นแค่บางกลุ่มบางพรรคการเมืองเท่านั้น

ยังมีนักการเมืองจำนวนมากที่ยังสงบปากสงบคำ ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือให้ร้ายรัฐบาล อย่างที่พลเอกประยุทธ์กำลังกล่าวหา นอกจากนั้น ยังมีอีกหลากหลายความเห็นจากนักการเมืองที่ดีที่เขามองเห็นปัญหา และอยากจะชี้ช่องทางให้รัฐบาลแก้ไข ก็น่าจะถือเป็นความปรารถนาดีจากฟากฝั่งนักการเมืองที่มอบให้รัฐบาลในเวลานี้

น่าชื่นชมต่อความพยายามของนักการเมืองหนุ่มรายนี้ที่ถึงขั้นเสนอให้ท่านผู้นำศึกษาประชาธิปไตยก่อนจะตั้ง 6 คำถามและให้สัญญาว่าจะไม่ลากรถถึงมาปกป้องพรรคการเมืองที่ตนเองสนับสนุน หากได้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศแล้วทำบ้านเมืองแย่ แต่ดันมาตกม้าตายด้วยความที่ยังมีการแยกพวกเขาพวกเรา เอาดีเข้าตัวโยนชั่วให้คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอง เพราะจุดอ่อนของนักการเมืองเองแบบนี้นี่ไง ผู้มีอำนาจเขาจึงใช้เป็นช่องในการที่จะขยายแผลและหามวลชนมาเป็นแนวร่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมกับคนทำรัฐประหาร

Back to top button