พาราสาวะถี
คู่ขนานกันมากับประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองเวลานี้ในส่วนของรัฐบาลคสช.คือ การปรับครม.และการปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ประเด็นแรกแค่ปรับปรุงห้องแต่ดันมาทำในช่วงนี้เลยถูกจับเข้าพวกว่าจะเป็นคนที่ถูกเด้งพ้นเก้าอี้สำหรับ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บางทีเรื่องพรรค์นี้อาจมีพวกที่รอไล่ส่ง คอยชงข้อมูลเพื่อให้เป็นข่าวหรือไม่ก็มีมูลดูทรงแล้วว่าท่านน่าจะไม่ได้ไปต่อ
อรชุน
คู่ขนานกันมากับประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองเวลานี้ในส่วนของรัฐบาลคสช.คือ การปรับครม.และการปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ประเด็นแรกแค่ปรับปรุงห้องแต่ดันมาทำในช่วงนี้เลยถูกจับเข้าพวกว่าจะเป็นคนที่ถูกเด้งพ้นเก้าอี้สำหรับ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บางทีเรื่องพรรค์นี้อาจมีพวกที่รอไล่ส่ง คอยชงข้อมูลเพื่อให้เป็นข่าวหรือไม่ก็มีมูลดูทรงแล้วว่าท่านน่าจะไม่ได้ไปต่อ
จะว่าไปสำหรับออมสินต้องยอมรับว่า เหนี่ยวแน่นเกาะกลุ่มมากับอำนาจรัฐประหารตั้งแต่ต้น เริ่มด้วยการไปนั่งเป็นประธานบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อนจะขยับมากุมบังเหียนรัฐมนตรีช่วยคมนาคม แล้วถูกโยกประจำสำนักนายกฯ แม้ดูจะระหกระเหิน แต่หากไม่แน่จริงคงไม่ยืนหยัดมาจนเข้าสู่ครม.ประยุทธ์ 5 เว้นเสียแต่จะไร้ภารกิจที่แป๊ะจะใช้งานแล้วนั่นก็อีกเรื่อง
ส่วนรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายดีหนึ่งประเภทหนึ่ง “บิ๊กนมชง” พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เรื่องถูกเตะโด่งไปพักผ่อนตามความประสงค์ที่ปรากฏเป็นข่าวตอนแรก เพื่อนรักอย่างบิ๊กตู่คงไม่ทำเช่นนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คงเป็นการหาที่ลงให้เหมาะสม ไม่ต้องนั่งในกระทรวงที่ตกเป็นเป้าตำบลกระสุนตกเหมือนอย่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อย่างไรก็ตาม สัญญาณการงวดเข้ามาของโผครม.ประยุทธ์ 5 ดูจากอาการของ วิษณุ เครืองาม วันวานน่าจะพอเดาได้ การยืนกรานไม่รู้ ไม่ตอบ พร้อมกับบอกว่า อยากพูดเหมือน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถูกบี้ถามเรื่องนี้ว่า ”น่ารำคาญ” แต่ท่วงทำนองหรือน้ำเสียงของรองนายกฯฝ่ายกฎหมายกับรองนายกฯด้านความมั่นคง มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่ถ้าย้อนกลับไปจับสัญญาณจากคำบอกกล่าวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นักข่าวถามว่าจะปรับครม.ให้เสร็จภายในปีนี้ ”มั้ง” ทุกอย่างไม่น่าจะลากยาวไปถึงเดือนหน้า รายชื่อครม.ใหม่น่าจะเกิดขึ้นภายในเร็ววันนี้ ก่อนจะขยับไปที่การปลดล็อคให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นบางส่วน ขณะที่ความเป็นห่วงที่ว่ากกต.กำลังเตรียมการส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. 2560
ตามมาตรา 27 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง โดยกกต.เป็นผู้ควบคุมให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งกกต.เห็นว่ากฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ ฟังจากคำอธิบายของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะผู้ยกร่างกฎหมายแล้ว แนวทางปลายทางของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้น่าจะพอคาดเดากันได้ ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินหน้าของคสช.
ต้องไม่ลืมว่า การโยน 6 คำถามอันเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนพรรคการเมืองและสิทธิของคสช.ในฐานะผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ เมื่อผนวกเข้ากับการปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน นี่จะเป็นการซักซ้อมเตรียมความพร้อมอย่างดี เพื่อหยั่งเสียง คะแนนนิยมของผู้มีอำนาจปัจจุบัน เพราะผู้สมัครท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง
แต่ส่วนใหญ่เป็นที่รู้กันว่าล้วนมีสังกัดทั้งนั้น ทว่าในยามที่พรรคการเมืองถูกจับมัดมือมัดเท้า ก็เป็นโอกาสของผู้ที่อยู่ในอำนาจ ในการเลือกที่จะสนับสนุนบุคคลเพื่อส่งลงสู่สนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เพื่อวัดคะแนนนิยมของตัวเองผ่านตัวแทน ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการดูปฏิกิริยาของคนในแต่ละที่ด้วยว่า มีความโน้มเอียงในการสนับสนุนใครและกลุ่มไหน
ทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่องที่จู่ๆ เพิ่งคิดได้ แต่ผ่านกระบวนการวางแผนมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมไปถึงการสรรหากกต.ชุดใหม่ที่เวลานี้มีคนยื่นใบสมัคร 41 คน ซึ่งตามปฏิทินที่คณะกรรมการสรรหากางออกมา คาดว่าจะได้ตัว 5 เสือกกต.จากการสรรหาโดยคณะกรรมการบวกกับอีก 2 จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายในวันที่ 4 ธันวาคมนี้
พิจารณาจากรายชื่อของผู้สมัครแล้ว บางคนในทางลึกเป็นที่รู้กันดีว่าคือมือไม้ในการดูแลผู้ยิ่งใหญ่บางราย ดังนั้น จึงไม่น่าจะพลาดโอกาสที่จะได้รับเลือก ส่วนที่เหลือต้องไปลุ้นว่าจะมีใครที่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ หากคุณสมบัติไม่ครบกันมาก ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะมีคนถูกเลือกได้ไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งนั่นก็จะเข้าล็อกที่เปิดช่องให้คณะกรรมการสรรหาไปทาบทามบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมมาทำหน้าที่ได้
ทั้งหมดเหล่านี้ อย่าคิดว่ามันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะในภาวะที่ยังมีอำนาจวิเศษอยู่ในมือ อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ด้วยโจทย์ที่จะต้องแสดงแสนยานุภาพในการกลับมาด้วยวิถีที่อ้างว่าตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย จึงต้องทำกันทุกทาง เพื่อให้ดูเหมือนว่าทุกอย่างเป็นไปกระบวนการที่ถูกต้อง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือ สิทธิหลายประการของคนส่วนใหญ่ถูกลิดรอนและไม่มีเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น
เห็นข้อสงสัยของ ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งปุจฉาไปยังกกต.เรื่องที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับเป็นเวลาเดือนเศษแล้ว แต่ยังมีคำสั่งคสช.ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง กรณีนี้จึงเป็นการขัดกันแห่งกฎหมายระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองกับคำสั่งคสช.
ขอสอบถามกกต.ว่า กรณีคสช.ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในขณะที่บทบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมือง บัญญัติให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมและมีเวลาบังคับไว้ ประการสำคัญมีบทกำหนดโทษไว้ค่อนข้างรุนแรง กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องขัดกันแห่งกฎหมาย จะให้พรรคการเมืองปฏิบัติอย่างไร
ที่น่าสนใจคือ ขอสอบถามว่าศักดิ์ทางกฎหมายระหว่างกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญ กับคำสั่งคสช. ฉบับใดมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าและจะให้พรรคการเมืองปฏิบัติอย่างไรเมื่อเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปค้นหาคำตอบจากกูรูกฎหมายสำนักใด คำตอบมันก็มีอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ก็ถึงขนาดที่ท่านผู้นำกล้าประกาศว่ามีม. 44 อยู่ในมือทำอะไรก็ไม่ผิด แล้วคิดว่าอย่างไหนจะยิ่งใหญ่กว่ากัน