ความหวังต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร

นักวิเคราะห์หลายสำนักในไทย ชี้แนะให้ข้อสังเกตว่า หากดัชนี SET จะเกิดภาวะกระทิงระลอกใหม่ ควรมีเงื่อนไขสำคัญให้ครบต่อไปนี้คือ


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

นักวิเคราะห์หลายสำนักในไทย ชี้แนะให้ข้อสังเกตว่า หากดัชนี SET จะเกิดภาวะกระทิงระลอกใหม่ ควรมีเงื่อนไขสำคัญให้ครบต่อไปนี้คือ

– มูลค่าซื้อขายต่อวันควรจะมากกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท

– ดัชนีควรฝ่าข้ามแนวต้านแรก 1,710 จุด และแนวต้านที่สอง 1,730 จุดให้ได้

– หุ้นกลุ่มธนาคารจะต้องเป็นตัวนำตลาดแทนหุ้นสื่อสาร หรือพลังงาน (รวมปิโตรเคมี) ทุกชนิดที่มาถึงทางตันแล้ว

อาจจะเพราะเหตุนี้กระมัง ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในตลาดถูกดันระลอกใหม่อย่างผิดปกติเพื่อให้ดูสมจริง สอดรับกับการวิเคราะห์

สรุปก็คือดัชนี SET ในระยะโค้งสุดท้ายปลายปีฝากความหวังสูงสุดไว้ที่โมเมนตัมขาขึ้นของหุ้นธนาคาร

ความพยายามอธิบายของนักวิเคราะห์ “ขาเชียร์” ที่ว่าหุ้นธนาคารมีเสน่ห์ยิ่งยามนี้เพราะ 1) ราคายังแลกการ์ด พี/อี ต่ำ (ทั้งที่ก็เป็นอย่างนี้มานาน) 2) สัดส่วน NPLs จะพีคสูงสุดในไตรมาสสี่ และปีหน้าจะถดถอยลง ทำให้พี/อีต่ำลงไปอีกน่าซื้อ (ไม่รู้ว่าให้ตัดไม้ทำกระบอก ก่อนเห็นน้ำไปทำไม) 3) มีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เอื้อต่อผลประกอบการงวดครึ่งปีหลัง และบวกเต็มที่ในปี 2561-2562 ที่คาดว่าจะกลับมาโตเฉลี่ย 11% แล้วชี้ให้คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด” เพราะ valuation กลุ่มแบงก์ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค รวมทั้งมี P/BV ปี 2560 ต่ำเพียง 1.1 เท่า ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 1.4 เท่า จึงขึงขังปึ๋งปั๋งเป็นพิเศษ

แรงเชียร์แขกดังกล่าว ชวนคึกคักยิ่งกว่าฟังเสียงพากย์ฟุตบอลของพวกลาตินอเมริกาหลายเท่า แม้จะมีเสียงทักท้วงว่าอาจจะเป็นเสียงเพลงของนางอัปสรไซเรนก็ได้

โดยข้อเท็จจริง 2 ปีที่ผ่านมา หุ้นธนาคารของไทยที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดส่วนใหญ่ กลายเป็นหุ้นที่ถ่วงตลาด และทำให้ดัชนีตลาดขึ้นได้ยากลำบาก เพราะหุ้นกลุ่มนี้แม้จะลดอิทธิพลลงไปมากกว่าในอดีต แต่ยังมีน้ำหนักถ่วงต่อดัชนีมากกว่าหรือเท่ากับหุ้นกลุ่มพลังงาน หรือสื่อสาร

ความสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ส่งผลให้หุ้นธนาคารกลายเป็นเครื่องมือในการดันหรือทุบราคาของต่างชาติหรือกองทุน เพราะการดันราคาหุ้นธนาคารเท่ากับการดันทิศทางของดัชนีให้เป็นไปได้ดังใจ

การที่หุ้นธนาคาร ซึ่งปัจจุบันถือว่าพี/อีต่ำกว่าตลาดมาก เพราะในบรรดาธนาคารขนาดใหญ่นั้น พี/อีเฉลี่ยไม่เกิน 9  เท่ากันทั้งหมด ขณะที่พี/อีของ SET อยู่ที่ระดับ 17 เท่าได้ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มนี้กลายเป็นเครื่องมือในการทุบดัชนี ซึ่งก็ถือว่าสมเหตุสมผล

เหตุผลสนับสนุนอยู่ที่ความกังวลในเรื่องหนี้สูญ (NPL) หรือการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จากการที่ลูกค้าของธนาคารมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งเป็นตัวการทำให้กำไรสุทธิของธนาคารต่ำลงหรือต่ำกว่าคาด ดังเช่นในช่วง 9 เดือนแรกที่มีกำไรและอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่ำที่สุด หากเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นๆ

นอกจากนั้น แรงเหวี่ยงของราคาหุ้นกลุ่มนี้ที่แคบมาก ทำให้หุ้นธนาคารถูกนักลงทุนรายย่อยหมางเมิน จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันจะเข้าครอบงำราคาได้ง่าย เพราะไม่ต้องใช้จำนวนหุ้นมากมายเหมือนอดีต

หลายปีมานี้หุ้นธนาคารถือเป็นกลุ่มหุ้นหลักที่ต้องซื้อขายของบรรดากองทุนและต่างชาติเมื่อเกิดกระแสฟันด์โฟลว์ เพราะมีกำไรสุทธิที่เติบโตสวยหรูมาต่อเนื่อง โดยที่กำไรเติบโตเหนือกว่าภาคธุรกิจการผลิตและพาณิชยกรรม และยังมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น

ปีนี้รายได้จากดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนลดลง ต้องเร่งหารายได้จากธุรกรรมที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารมากขึ้น แม้ว่ารายได้จากส่วนนี้จะสร้างปัญหาให้เกิดเสียงบ่นจากลูกค้ามากขึ้น

นอกจากนั้น กฎที่เข้มงวดของ BASEL3 ทำให้ธนาคารถูกบังคับต้องตั้งสำรองในกรณีมีหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเรียกกันว่าอัตราส่วนสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ coverage ratio per NPL มีส่วนรบกวนความสามารถทำกำไรของธนาคารค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจธนาคารมีอัตรากำไรสุทธิมีแนวโน้มต่ำลงเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร

เสน่ห์ที่ลดลงของหุ้นธนาคารในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้เปิดทางให้บรรดานักลงทุนสถาบันอย่างกองทุน พอร์ตโบรกเกอร์ และต่างชาติ ฉวยโอกาสเข้าครอบงำราคาหุ้นธนาคาร จนเริ่มสูญเสียสภาพธรรมชาติของหุ้นบลูชิพโดยปริยาย ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ต้นทุนของการดันและทุบหุ้นธนาคารในยามนี้ ไม่แพงมากเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว

ราคาหุ้นของธนาคารที่บรรดานางอัปสรร่วมสมัยในคราบนักวิเคราะห์ขาเชียร์พากันออกมาระบุเหมือนนัดแนะล่วงหน้ายามนี้ว่า ราคาไม่สูงมากนัก และมีพี/อีที่ต่ำ น่าจะรับผล “ขาแบก” ดัชนีตลาดเหนือ 1,730 จุดได้ น่าจะมีแมงเม่าเชื่อถือไม่น้อย แต่จะถึงขั้นเป็นสัจจะหรือมายาคติ ต้องรอผลงานออกมาเสียก่อน

Back to top button