WHAUP ผนึกพันธมิตรก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ 8.63MW เล็ง COD ใน Q4/62

WHAUP ผนึกพันธมิตรกลุ่ม "โกลว์"-"สุเอซ" ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ "ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี" ขนาดกำลังการผลิต 8.63MW เล็ง COD ใน Q4/62


บริษัท ชลบุรี คลีนเอ็นเนอร์ยี จำกัด  หรือ CCE ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในเครือบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP, บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และ SUEZ ได้มอบหมายให้บริษัท มารูเบนิคอร์ปอเรชั่น ผู้รับเหมาฯ เริ่มงานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมขนาด 8.63 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี จังหวัดชลบุรี หลังจากโครงการเริ่มดำเนินการในปลายปี 2562

โดย CCE จะดำเนินการผลิตและให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าฯ ตลอด 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้การสนับสนุนภาครัฐในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยการแปลงขยะให้เป็นพลังงานสีเขียว (Green Energy)

นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP เปิดเผยว่า CCE ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice To Proceed : NTP) สำหรับงานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับบริษัทมารูเบนิคอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) การก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 24  เดือน โดยจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2562  ทั้งนี้ โครงการฯมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท (หรือประมาณ 59  ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับโครงการชลบุรี คลีนเอ็น เนอร์ยี เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานสูงในการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นทางออกในการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยจะช่วยลดปัญหาทางสภาพแวดล้อมที่สืบเนื่องมาจากการฝังกลบขยะและปริมาณขยะที่เพิ่มพูนขึ้นตลอดเวลา

ด้าน นายเบรนดอน วอเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทโกลว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค.60 โดยโครงการฯ จะดำเนินการก่อสร้างเป็นไปตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการอนุมัติอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี เป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของกลุ่มบริษัทโกลว์ในการที่จะพัฒนาโครงการใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการด้านพลังงานด้วยเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ (Low Carbon technologies)

ส่วน นางมารี-อองฌ์ เดอบง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสุเอซ ในฐานะสายธุรกิจระหว่างประเทศ สุเอซ เปิดเผยว่า SUEZ  ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน บริษัทฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยจึงมั่นใจว่าด้วยความเชี่ยวชาญของ SUEZ และมาตรฐานระดับโลกจะเป็นการสร้างหลักเกณฑ์ใหม่ของอุตสาหกรรมการจัดการขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทย

โดยเป้าหมายคือการนำเสนอนวัตกรรมเฉพาะทางพร้อมความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการของบริษัทให้แก่ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นของภาครัฐในการสร้างเมืองที่น่าอยู่โดยการแปลงขยะให้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนในประเทศและหลีกเลี่ยงการปล่อย CO2

Back to top button