STEC ลางเนื้อ ชอบลางยา
ปัญหาที่รับทราบกันดีของบรรดาบริษัทที่มีงานแบบ "รับเหมา" หรือ "รับจ้างทำของ" อยู่ที่เรื่องของรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ...หวือหวา วูบวาบไปกับข่าวสารเรื่องการรับงาน หรือแบ็กล็อกที่ไม่รู้ว่าได้งานมาแล้วจะขาดทุนหรือกำไรกันแน่
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
ปัญหาที่รับทราบกันดีของบรรดาบริษัทที่มีงานแบบ “รับเหมา” หรือ “รับจ้างทำของ” อยู่ที่เรื่องของรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ…หวือหวา วูบวาบไปกับข่าวสารเรื่องการรับงาน หรือแบ็กล็อกที่ไม่รู้ว่าได้งานมาแล้วจะขาดทุนหรือกำไรกันแน่
ความไม่สม่ำเสมอของรายได้ และกำไรสุทธิ ที่ส่งผลต่อราคาหุ้นนี้ เป็นภาระที่แก้ไม่ตกของบริษัทที่มีพื้นฐานหลักข้างต้น …จึงเป็นทางเลือก ที่หลายบริษัทพยายามหาทางหลบเลี่ยง
คำว่า รายได้สม่ำเสมอ หรือคงที่ (Recurring income)..จึงเป็นพันธกิจหลักของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่เริ่มพบว่า การแข่งขันในธุรกิจที่ทำให้รายได้จากการรับเหมาหรือรับจ้างทำของเป็นครั้งคราว ลดน้อยถอยลง…. จำต้องมุ่งไป
ความพยายามล่าสุดของ ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างอันดับสามของไทย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ในการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอผ่านการลงทุนในธุรกิจที่ตนเองไม่ชำนาญ จึงท้าทายยิ่ง….น่าติดตามความสำเร็จในอนาคต
มติของที่ประชุมบอร์ด STEC เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน อนุมัติให้บริษัทใช้เงินสดเข้าลงทุน โดยการจองซื้อหุ้นสามัญที่ออกใหม่ หรือ IPO ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในวงเงิน 1,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.88% ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ด้วยเหตุผลว่า เพื่อคาดหวังผลประโยชน์ที่จะได้รับจากมูลค่าหุ้นที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และ/หรือ ผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินปันผลที่จะได้รับจาก GULF ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทนอกเหนือจากรายได้จากธุรกิจหลักของบริษัท
เงินสดที่จะลงทุนดังกล่าว มาจากการจัดสรรเงินส่วนเกินจากเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ซึ่ง….อ้างว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของบริษัท
การลงทุนเช่นนี้ แม้จะดูเยอะพอสมควร แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ STEC มีอำนาจครอบงำเหนือ กัลฟ์ ฯ เพราะถือหุ้นในสัดส่วนที่ต่ำมาก และสามารถขายทิ้งได้เมื่อพอใจ เพราะไม่ต้องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนรายที่ถือเกิน 5%
การลงทุนบริษัทอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันกับ STEC โดยตรงมาก่อน ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ STEC ได้เคยเข้าร่วมลงทุนในกิจการที่ไม่เคยทำมาก่อนในฐานะหุ้นส่วนน้อยเช่นกันในญี่ปุ่นเป็นการนำร่องมาแล้ว
โครงการลงทุนที่ว่าคือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 154.98 เมกะวัตต์ ที่เมืองโอนิโกเบ (Onikoube) จังหวัดมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการดังกล่าว จะได้รับค่าไฟฟ้าคงที่ (Feed-in-tariff – FIT) ที่ราคา 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 20 ปี เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง
การเข้าลงทุนในญี่ปุ่นของ STEC ไม่ได้เข้าไปแบบฉายเดี่ยว แต่เป็นการเข้าไปร่วมกับผู้ที่ทำธุรกิจนี้อยู่เดิมแล้วคือ บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนขึ้นใหม่
การลงทุนในญี่ปุ่นนั้น มีผลทำให้ความผูกพันระหว่าง STEC และ TSE แนบแน่นยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านั้น ในช่วงปลายปี 2559 STEC ได้เข้าถือหุ้น TSE ในสัดส่วน 10% และได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสามของบริษัทดังกล่าว
เพียงแต่ความสัมพันธ์ใหม่ในการลงทุนที่ญี่ปุ่นนั้น มีรูปแบบของกิจการร่วมค้ากับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มากกว่าเป็นหุ้นส่วนทางตรง…แต่ก็ทำให้เห็นชัดว่า ถ้ามีกำไรก็เข้ามาที่ STEC แบบ “สองเด้ง” เห็นๆ
การเข้าร่วมลงทุนเพื่อสร้างแหล่งรายได้สม่ำเสมอในระยะยาวดังกล่าว มีโมเดลแตกต่างไปจากบริษัทก่อสร้างที่ล่วงหน้าไปเก็บดอกออกผลล่วงหน้าอย่าง กลุ่ม ช.การช่างที่ใช้สูตร “สร้างลูกกตัญญู” หรือ “อภิชาตบุตร” มาสร้างรายได้ต่อเนื่องให้บริษัทแม่เป็นกอบเป็นกำยามนี้
ภายใต้โมเดลของ ช.การช่าง จะเห็นได้ชัดเจนว่า มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทลูกใต้ร่มธงของค่าย ช.การช่าง ทั้ง BEM, CKP และ TTW ที่มีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะ บริษัทลูกเหล่านี้ กำลังมีสาระสำคัญในด้านบวกเข้ามาหนุนต่อเนื่องยาวนานภายใน 5 ปีข้างหน้า และส่งผลบวกต่อบริษัทแม่อย่าง CK ทั้งมูลค่าหุ้นที่เพิ่ม และป้อนงานให้ ส่งผลต่อราคาหุ้นที่เพิ่มเป้าหมายขึ้นได้ง่ายๆ
ที่น่าสนใจคือ การลงทุนของบริษัทใต้ร่มธงตามสไตล์ ช.การช่าง ดังกล่าว มีการถ่วงดุลเอาไว้อย่างดี จนกระทั่งไม่กระทบต่อความเข้มแข็งทางการเงินของบริษัทแม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่อย่างใด
โมเดลการสร้าง “อภิชาตบุตร” ของช.การช่าง อาจจะยากเกินไป หรือไม่ก็มีลักษณะเฉพาะอย่างมาก เลียนแบบไม่ไหว… ทำให้ทางเลือกสร้างโมเดลใหม่ของ STEC ที่กำลังเริ่มดำเนินการ…มีความเสี่ยงน้อยลง แม้ว่าอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเท่า
ถือเป็น ลางเนื้อ ชอบลางยา …ดีกว่าอยู่เฉยๆ
เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกุล ซะอย่าง
อิ อิ อิ