ก.ล.ต.ล้อมคอก “ตั๋วบี/อี”-“หุ้นกู้” เจ้าปัญหา อุดช่องโหว่บจ.เบี้ยวหนี้

ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งปรับปรุงเกณฑ์ออกหุ้นกู้-ตั๋วเงิน เน้นความคล่องตัวในการระดมทุน หวังแก้ปัญหาบจ.เบี้ยหนี้ตั๋วบี/อี คาดประกาศใช้ไตรมาส 2 ปีหน้า


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงร่างประกาศการออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการทำหน้าที่ของตัวกลาง เพื่อยกระดับความคุ้มครองผู้ลงทุน และเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ผู้ออกตราสารสามารถระดมทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าประกาศจะมีผลใช้บังคับไตรมาส 2 ปีหน้า

โดย ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงร่างประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการทำหน้าที่ของตัวกลางเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนประเภทต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีการจำกัดตั๋วเงิน จากเดิมที่สามารถระดมทุนได้ในวงกว้างกับผู้ลงทุนทั่วไปจะเปลี่ยนเป็นแบบการขายแบบเฉพาะเจาะจง หรือผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับบริษัทมากนัก การแยกการกำกับดูแลผู้ลงทุนรายใหญ่ออกจากผู้ลงทุนสถาบันเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนรายใหญ่ให้ได้รับคำแนะนำและข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

รวมถึงปรับปรุงเกณฑ์อนุญาตแบบผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อเพิ่มกลไกคุ้มครองผู้ลงทุน  นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการการปฏิบัติงานของตัวกลาง หน่วยงานให้บริการออกตราสารหนี้ต้องคัดกรองสินค้าและแยกออกจากหน่วยงานขายอย่างชัดเจน โดยคนขายต้องเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงตราสารหนี้เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้า ทั้งนี้ร่างประกาศที่เผยแพร่ในครั้งนี้ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมตามความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับจากการเปิดรับฟังความเห็นครั้งก่อนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

อนึ่งการปรับปรุงเกณฑ์ในครั้งนี้ “ผู้สื่อข่าว” คาดว่ามาจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ รวมถึงตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายรายในช่วงก่อนหน้านี้ อาทิ บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC ,บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ไปจนถึงบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL และ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว นำไปสู่การฟื้นฟูกิจการ และส่งผลต่อภาพรวมของตลาดทุนไทยเป็นอย่างมาก จึงคาดว่าก.ล.ต.ต้องการที่ปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้ออกตราสารหนี้ และยกระดับความคุ้มครองผู้ลงทุน

Back to top button