พาราสาวะถี

ช่วงนี้คงต้องสวมบทเตมีย์ใบ้ไปก่อนจนกว่าป.ป.ช.จะมีสรุปเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกาหรู วันวานการประชุมครม. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงไม่ตอบคำถามใดๆ ของนักข่าว มองในแง่ดีก็เหมือนที่เจ้าตัวบอกไว้ตั้งแต่ตอนเกิดเหตุหมาดๆ ไม่อยากให้ไปต่อความยาวสาวความยืด ซึ่งความจริงเรื่องนี้ถ้าเป็นไปตามกระแสข่าวแหวนเป็นของแม่นาฬิกาเป็นของเพื่อน เมื่อไม่ใช่ของตัวเองทุกอย่างก็น่าจะจบ ยอมเสียหน้าที่ว่าไปยืมของคนอื่นมาใส่ ดีกว่าต้องเสียหายกันทั้งคณะ


อรชุน

ช่วงนี้คงต้องสวมบทเตมีย์ใบ้ไปก่อนจนกว่าป.ป.ช.จะมีสรุปเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกาหรู วันวานการประชุมครม. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงไม่ตอบคำถามใดๆ ของนักข่าว มองในแง่ดีก็เหมือนที่เจ้าตัวบอกไว้ตั้งแต่ตอนเกิดเหตุหมาดๆ ไม่อยากให้ไปต่อความยาวสาวความยืด ซึ่งความจริงเรื่องนี้ถ้าเป็นไปตามกระแสข่าวแหวนเป็นของแม่นาฬิกาเป็นของเพื่อน เมื่อไม่ใช่ของตัวเองทุกอย่างก็น่าจะจบ ยอมเสียหน้าที่ว่าไปยืมของคนอื่นมาใส่ ดีกว่าต้องเสียหายกันทั้งคณะ

ส่วน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ก็อารมณ์ดียักคิ้วพร้อมคำพูด “ก็ดีแล้ว” กรณีที่สหภาพยุโรปหรืออียู ได้มีข้อตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ทางการเมืองและด้านอื่นๆ กับประเทศไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นหรือไม่ แต่คงดีใจได้ไม่สุด เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูภายใต้ผลสรุปความเห็น 14 ข้อของอียูนั้น น่าจะเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลรัฐประหารไม่น้อย

เนื่องจาก อียูยังเรียกร้องให้ไทยยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองและองค์กรด้านสังคม พร้อมกับให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ไทยจะต้องจัดการเลือกตั้งและกลับมามีรัฐบาลประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่

ยื่นเงื่อนไขชนิดยากที่จะเป็นไปได้ อีแค่การปลดล็อคพรรคการเมืองอียูก็น่าจะรับรู้และสัมผัสได้ว่าโอกาสในห้วงระยะเวลาอันใกล้นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน ยิ่งท่าทีล่าสุดของ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่สัปดาห์ก่อนเพิ่งบอกนักข่าวขันอาสาลองเสนอให้น้องตู่ได้พิจารณา แต่มาวันนี้กลับยืนยันเสียงแข็ง ยังไม่มีการเสนอเรื่องปลดล็อคในตอนนี้ เพราะยังไม่มีการประชุมคสช. ใช้วิธีแก้ต่างกันเป็นรายวันรายสัปดาห์ไป

ส่วนที่ปลดล็อคและรับข้อเสนอแน่ๆ ก็เป็นท่าทีตอบรับเสียงเรียกร้องของ ชวน หลีกภัย เรื่องปัญหาค่าครองชีพ คนใต้รายได้ต่ำ ดูเหมือนเป็นอะไรที่แตกต่างหน้ามือเป็นหลังมือ หากนำไปเทียบเคียงกับข้อเสนอของคนต่างพรรคกับประชาธิปัตย์อย่าง พิชัย นริพทะพันธุ์ ก่อนหน้านี้ซึ่งมีข้อมูลที่อ้างอิงเป็นหลักเป็นการพ่วงเสนอด้วยความห่วงใยไม่แตกต่างจากนายหัวชวน

แต่ก็พอจะเข้าใจได้ หากยังจำกันได้หลังยึดอำนาจหมาดๆ หัวหน้าคสช.เคยส่งกระเช้าดอกไม้ไปแฮปปี้เบิร์ธเดย์อดีตนายกฯสองสมัย และคล้อยหลังจากนั้นก็มีส่งสารอวยพรวันเกิดให้กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกต่างหาก แต่ไม่ปรากฏข่าวว่าท่านผู้นำส่งคนไปร่วมแสดงความยินดีกับอดีตนายกฯของอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตาม

แค่เท่านี้ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์อะไรบางอย่าง โดยเฉพาะประเด็นความเป็นกลางของกรรมการที่ขันอาสามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ยิ่งนานวันยิ่งเห็นการโดดเข้าไปร่วมเป็นขั้วขัดแย้งเสียเอง ส่วนท่าทีที่มีต่อข้อเรียกร้องของนายหัวชวนนั้น ทำให้คนนึกไปถึงภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รอยอดีตที่เคยเกิดขึ้นในยุคของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มันวนเวียนมาใกล้กับการเมือง ณ เวลานี้ยังไงชอบกล

คนการเมืองในยุคเกือบ 30 ปีก่อนน่าจะรับรู้บรรยากาศกันได้ดี ประกอบกับท่วงทำนองของบางพรรคการเมืองอดีตเป็นอย่างไรปัจจุบันก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ลืมว่าการอิงแอบกับอำนาจชนชั้นนำนั้น เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองบางพรรคดำเนินการมาโดยตลอด มิเช่นนั้น เราคงไม่เห็นปรากฏการณ์การเมืองที่แปลกๆ เกิดขึ้นในห้วงของความขัดแย้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

หลังได้เห็นรัฐธรรมนูญพร้อมมือไม้นามกฎหมายลูกทุกฉบับแล้ว คนจำนวนไม่น้อยมองเห็นทันทีว่าประเทศไทยไม่ใช่เดินหน้าตามคำประกาศของผู้มีอำนาจ แต่มันหมุนย้อนกลับไปในอดีตไม่น้อยกว่า 30-40 ปี ด้วยเหตุนี้ วงเสวนาโฉมหน้าอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ซึ่งจัดเมื่อวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ความเห็นของ อภิชาต สถิตนิรามัย รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงน่าสนใจ

ประการหนึ่งอภิชาตเห็นว่า ระบบเลือกตั้งที่มีบัตรใบเดียวแบบนี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งเรียกมันว่า ไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน คือการเลือกตั้งกำมะลอ การเลือกตั้งทั่วไปเลือกสองอย่างคือ เลือกผู้ปกครองเราคือรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ต่อมาเรื่องหน้าที่สำคัญคือการเลือกนโยบายที่เราถูกใจ การเลือกตั้งระบบนี้มันกำมะลอเพราะว่าจะไม่ได้ทั้งสองอย่าง คือไม่ได้รัฐบาลและนโยบายที่เราต้องการ

ประการต่อมาคือเกิดนายกฯคนนอก เหมือนเปรมโมเดลในปี 2520-2521 เป็นต้นมา คือเป็นนายกฯที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง จัดตั้งพรรคทหารในแบบกว้าง อาจเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยทหาร รัฐบาลประกอบด้วยนายกฯที่มาจากข้าราชการที่นำโดยทหารและเทคโนแครต แต่จะแย่กว่ารัฐบาลเปรมเพราะมีองค์กรอิสระที่คอยตรวจสอบทั้งแนวดิ่งและแนวราบ

ปัญหาคือจะทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้ขัดขารัฐบาลหรือขัดขากันเอง ยกตัวอย่างที่ตอนนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร จากกกต.ก็ซัดกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ทุกวัน ที่สำคัญถ้าพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯจริง เขาจะไม่มีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้ว เขาจะสามารถขับเคลื่อนไทยไปข้างหน้าได้หรือเปล่า กติกาที่จะไขนาฬิกากลับมันขัดกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว

ในเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมาให้กำเนิดตัวละครใหม่คือชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่าง ปีที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจโตขึ้นร้อยละ 3 แต่คนจนเพิ่มขึ้น 9 แสนคน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเข้าใจดี คนเหล่านี้ที่เคยมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง คนที่เคยชอบประชาธิปไตยแบบกินได้ในปี 2540 ที่เลือกนโยบายได้ คุณจะเรียกว่าประชานิยมก็ตามแต่ พวกเขาจะอยู่เฉยหรือเปล่า

บทสรุปของอภิชาตที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพฯรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิตตนเอง ไม่คิดว่าอนาคตในระยะสั้นของพวกเขาและระยะยาวในรุ่นลูกหลานจะดีขึ้น หลังจากไม่มีมาตรา 44 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนายกฯคนในหรือนายกฯคนนอก ท่านคิดว่าพวกเขาจะอยู่เฉยทางการเมืองไหม ถ้าเขาไม่เฉย รัฐบาลก็จะมีแรงกดดัน ขนาดตอนนี้มีมาตรา 44 ยังขาลงเลย ในอนาคตถ้าไม่มีมาตรา 44 จะแก้ปัญหาขาลงแบบนี้อย่างไร วันนี้คนอาจจะหลับหูหลับตากันไปได้ แต่หลังเลือกตั้งมันคงไม่ใช่อย่างแน่นอน

Back to top button