พาราสาวะถี

การเมืองว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์และโค้งสุดท้ายแห่งอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน แม้จะมีความพยายามในการสืบทอดอำนาจหรืออยู่ต่อให้นานที่สุด แต่สถานการณ์ก็เป็นตัวบังคับ ไม่ว่าจะถืออำนาจเบ็ดเสร็จอย่างไร หากกระแสสังคมหรือประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเคลือบแคลง ไม่ไว้วางใจก็น่าจะลำบาก


อรชุน

การเมืองว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์และโค้งสุดท้ายแห่งอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน แม้จะมีความพยายามในการสืบทอดอำนาจหรืออยู่ต่อให้นานที่สุด แต่สถานการณ์ก็เป็นตัวบังคับ ไม่ว่าจะถืออำนาจเบ็ดเสร็จอย่างไร หากกระแสสังคมหรือประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเคลือบแคลง ไม่ไว้วางใจก็น่าจะลำบาก

นอกจากปากท้องของประชาชนที่เกือบ 4 ปี รัฐบาลคสช.ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีปัญญาทำให้ปัญหาดีขึ้น มีแต่การท่องคาถาเสียสละรัฐประหารเพื่อคืนความสุข มาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและมาเพื่อปราบโกงและไม่มีการคอร์รัปชั่น ทว่าความจริงที่ปรากฏในหลายๆ ประเด็น รวมไปถึงพฤติกรรมของคนบางคน ไม่น่าจะทำให้คำพูดของท่านผู้นำมีความน่าเชื่อถือเหมือนคราวยึดอำนาจหมาดๆ

กรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรูของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่เรื่องการกล่าวหาว่าได้มาเพราะการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หากแต่เป็นการแสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่ชวนให้คนส่วนใหญ่สงสัยว่า ผู้มีอำนาจที่สถาปนาตัวเองเป็นผู้สะอาด บริสุทธิ์ ตรวจสอบได้ เหตุใดจึงไม่มีการแจ้งทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ในการยื่นต่อป.ป.ช. แม้คำชี้แจงของบิ๊กป้อมยังไม่มีใครเห็นรวมทั้งยังไม่มีบทสรุปผลสอบจากป.ป.ช. แต่สังคมก็ไม่ไว้วางใจ

ไม่ใช่ไม่ไว้วางใจท่านผู้นำ หากแต่ไม่ไว้วางใจในคนรอบกายโดยเฉพาะคนที่ได้ชื่อว่าเคยเป็น “นาย” ของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ณ ปัจจุบัน ความเกรงใจหรือการตอบแทนบุญคุณ คนจำนวนไม่น้อยเกรงว่ามันจะเป็นเหตุให้ต้องหลิ่วตาข้างหนึ่งหรือปล่อยปละละเลยในเรื่องที่ควรจะเคร่งครัดและจัดการแบบตรงไปตรงมาเหมือนในหลายๆ กรณี

อย่างที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ในการ “พักงาน” พลเอกประวิตร แต่ยังไม่พ้นจากตำแหน่งจนกว่าจะมีการตรวจสอบเสร็จ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้ เฉกเช่นเดียวกับกรณีที่เคยสั่งพักงาน หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. และ เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จนกว่าป.ป.ช. จะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อครหาและการร้องเรียนแล้วเสร็จ

ประเด็นนี้อาจดูไม่มีอะไร แต่สร้างผลสะเทือนต่อความเชื่อถือเชื่อมั่นที่มีต่อตัวผู้นำไม่น้อย สะเทือนในมุมเรื่องของ “มาตรฐาน” และ “บรรทัดฐาน” ข้าราชการหรือคนอื่นที่ไม่ใช่พวก แค่ถูกกล่าวหาหรือมีข้อสงสัยก็มีการใช้มาตรายาวิเศษเข้าไปจัดการ มิหนำซ้ำ จำนวนไม่น้อยยังถูกโยกโดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิมอีกต่างหาก ข้อเสนอนี้ถือเป็นการวัดใจท่านผู้นำว่ากล้าหรือไม่

สิ่งที่ศรีสุวรรณเรียกร้องยังถือว่าเบากว่าความเห็นของ “โหรส.ว.” บุญเลิศ ไพรินทร์ ที่แนะให้บิ๊กตู่ปลดบิ๊กป้อมพ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และไม่ตกเป็นเหยื่อให้ฝ่ายการเมืองหยิบยกมาเป็นประเด็นโจมตี บิดเบือน จนทำให้สังคมเสื่อมศรัทธา นำไปสู่ความยากลำบากในการดำรงอยู่ของตนได้

ที่ต้องขีดเส้นใต้โตๆ คงเป็นการหยิบยกเอาคำคมของผู้นำจีนคนหนึ่งมาสะกิดเตือนหัวหน้าคสช.ว่า “ต้องไม่เอาผลประโยชน์ของชาติไปตอบแทนบุญคุณส่วนบุคคลโดยเด็ดขาด” แต่เชื่อได้ว่าประสาคนเคารพพี่รักเพื่อนดูแลน้องของพลเอกประยุทธ์ คงไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อพี่ใหญ่ของตัวเองในเวลานี้อย่างแน่นอน สิ่งที่จะทำคือให้ทุกคนรอบทสรุปป.ป.ช.เป็นด้านหลัก

ขณะที่การเมืองว่าด้วยการดูแลอำนาจยังเผชิญกับความเชื่อเรื่องความโปร่งใสของพี่ใหญ่ อีกด้านการเมืองที่ว่าด้วยพรรคการเมืองก็เริ่มที่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การปูดข้อมูลว่าด้วยพรรคประชารัฐของ วัชระ เพชรทอง จากค่ายประชาธิปัตย์ โดยชูตัวละครผู้ที่จะเข้ามากุมบังเหียนคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สร้างความสนใจให้กับทุกคนทุกฝ่ายแม้จะไม่ใช่คอการเมืองก็ตามโดยทันที

คำอธิบายของวัชระยิ่งเร้าความสนใจเป็นอย่างยิ่ง น่าเสียดายที่ทหารภาพลักษณ์ดีบางคนเสพติดอำนาจ เสพติดผลประโยชน์ แล้วเอาแต่ท่องคาถา “กูไม่โกงๆ” แต่ประชาชนเห็นว่าโกงกันทั้งประเทศ เขาก็ยังปกป้องกันแบบกิ่งทองใบหยก น่ารักน่าเอ็นดู แต่ประชาชนส่ายหน้าและยากจนลงทั้งประเทศ ทหารกลุ่มนี้จึงสมคบคิดกับอดีตข้าราชการประจำ เจ้าสัว และนักการเมืองพันธุ์เก่าดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออดีตกำนันคนดังของภาคใต้ เพื่อสานต่อภารกิจในการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปโดยไม่สนใจสิ่งอื่นใด แล้วจะอ้างการปฏิรูปประเทศสวยหรูขึ้นมาบังหน้า น่าสนใจตรงกำนันคนดังซึ่งก็หนีไม่พ้น สุเทพ เทือกสุบรรณ  และยิ่งมองไปยังข้อเสนอให้สนช.แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมของพรรคเก่าพรรคใหม่ ยิ่งทำให้เห็นความไม่ธรรมดาของการเคลื่อนไหว

ประเด็นรีเซตสมาชิกพรรค จึงไม่ใช่ข้อเสนอที่เลื่อนลอยหรือไร้ที่มา อย่างที่วัชระสรุปว่า หากทุกคนไม่ได้เป็นสมาชิก กรรมการบริหารพรรคก็จะสิ้นสภาพไปด้วย อดีตส.ส.ทุกคนจะเป็นอิสระจากพรรค บรรดาลุงๆ ก็จะไล่ช้อนอดีตส.ส.ไปสังกัดพรรคทหาร ไม่แตกต่างอะไรกับแม่น้ำ 5 สายบางคนที่เคยให้คนแอบช้อนปลาคาร์ฟหน้าอาคารรัฐสภาไปเลี้ยงดูเล่นที่บ้าน

หนีไม่รอด วิษณุ เครืองาม ยอมรับผ่าทางตันปัญหาพรรคการเมืองต้องใช้มาตรา 44 ขยายเวลาให้ บนเงื่อนไขไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง พร้อมคำพูดที่ชวนให้คิด แม้การขยายเวลาเป็นอำนาจของกกต. แต่จะเกิดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง จึงต้องใช้มาตรายาวิเศษ คำถามก็คือ อะไรคือความได้เปรียบเสียเปรียบในมุมมองของผู้มีอำนาจ หรือเป็นความเสียเปรียบเฉพาะพรรคที่คสช.จะเข้าไปสนับสนุนหรือพรรคทหารที่กำลังจะตั้งขึ้นเท่านั้นหรือไม่ คิดจะทำอะไรมักมีปริศนาพ่วงท้ายตลอดเวลา

Back to top button