ใครเก็บหุ้น THANI

สังเกตกันไหมราคาหุ้น “ราชธานีลิสซิ่ง” หรือ THANI ขยับขึ้นมาแรงมาก และมูลค่าการซื้อขายก็เยอะซะด้วย


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

สังเกตกันไหมราคาหุ้น “ราชธานีลิสซิ่ง” หรือ THANI ขยับขึ้นมาแรงมาก

และมูลค่าการซื้อขายก็เยอะซะด้วย

หากดูจากเส้นกราฟจะพบว่า ราคาขยับอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 60 หรือจากระดับ 6.10 บาท

กระทั่งวานนี้ราคาก็ยังวิ่งขึ้นมาอีก

โดยราคาขึ้นไปสูงสุด 10.80 บาท และต่ำสุด 10.20 บาท (ราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค.) และมาปิดที่ระดับ 10.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท มูลค่าการซื้อขายกว่า 172.3 ล้านบาท

ราคาหุ้น THANI หากดู 5 วันย้อนหลังเพิ่มขึ้น 11.48%

20 วันย้อนหลัง เพิ่มขึ้น 3.55%

60 วันย้อนหลัง เพิ่มขึ้น 71.43%

และ 120 ย้อนหลัง เพิ่มขึ้น 72.88% และจากสิ้นปี 2559 ราคาขยับขึ้นมา 94.29%

หากถามว่า นอกเหนือจากผลประกอบการที่ดี และแนวโน้มก็ยังดี ยังมีปัจจัยอะไรอีกหรือไม่ที่ทำให้ราคาหุ้นขยับขึ้นมารุนแรง

เมื่อพลิกเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.ก็พบดีลสำคัญ

ณ วันที่ 20 ตุลาคม 60 “เจริญสุข  กิจอิทธิ” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นกรรมการใน THANI ขายหุ้นออกมา 30 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 8.68 บาท

หรือได้เงินจากการขายไปกว่า 260.40 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไม่ปรากฏชื่อผู้มา “รับซื้อ” ทั้งที่เป็นการขายแบบไม้เดียว ไม่ใช่ทยอยขาย

และในวันนั้น ก็ไม่พบว่ามีรายการบิ๊กล็อตเกิดขึ้นด้วย

ส่งผลให้ราคาหุ้น ณ วันนั้นของ THANI ปรับลงทันทีกว่า 7.65% หรือมาที่ 8.45 บาท (วันก่อนหน้าหน้าปิดที่ 9.15 บาท) ก่อนที่จะขยับขึ้นมาได้เล็กน้อยและปิดตลาดที่ 8.75 บาท

“เจริญสุข  กิจอิทธิ” จากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ใน THANI ด้วยจำนวน 89,657,318 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.71%

ปัจจุบัน สัดส่วนหุ้นดังกล่าวน่าจะปรับลงมาแล้ว

มีการตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการขายผ่าน NVDR หรือไม่

คำตอบคือ “เป็นไปได้”

ปกติแล้ว อย่างที่เรารับทราบกันครับว่า การซื้อขายผ่าน NVDR โดยคนซื้อไม่ต้องการที่จะเปิดเผยตนเอง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ

หรือบางครั้งก็เป็นการเลี่ยงเกี่ยวกับ Foreign limit

หรือหากเป็นกลุ่มนักลงทุนไทย สมมติว่า กลุ่มรายนี้มีหุ้นตัวนั้นๆ อยู่แล้ว และต้องการหุ้นเพิ่ม แต่ไม่ต้องการทำเทนเดอร์ฯ เพราะยังต้องการให้หุ้นตัวนั้นอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป

หรือกลุ่มนักลงทุน (ไทย) นั้นๆ อาจไปติดเงื่อนไขอะไรบางอย่าง

การขายหุ้นออกมาแบบคราวเดียว 30 ล้านหุ้น และต่ำกว่าราคากระดาน น่าจะมีการ “เจรจา” ไว้ล่วงหน้ากันแล้ว

นี่คือการตั้งข้อสงสัย

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ หลังการขายหุ้นดังกล่าว

ราคาหุ้น THANI กลับยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง นั่นแสดงว่า อาจจะมีการไล่ซื้อ และไล่ราคากันมาเรื่อยๆ ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่มากกว่าปกติ

ปัจจุบัน THANI มีรายได้เติบโตดีมาก

สินเชื่อรถบรรทุก หัวลาก ต่างขยายตัวสูง

จักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือบิ๊กไบค์ ก็ปล่อยสินเชื่อได้สูง และเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน

ราคาหุ้นของ THANI ที่ขยับขึ้นมา หากเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรม ก็พบว่า มีเปอร์เซ็นต์ขยับขึ้นมาในอัตราส่วนที่มากกว่าค่อนข้างมาก

สำหรับหุ้น THANI มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดคือ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ในสัดส่วน 65.18%

แบงก์ธนชาต ได้หุ้น THANI มาจากการเข้าซื้อแบงก์นครหลวงไทย หรือ SCIB

ขณะนั้น SCIB ถือหุ้นอยู่ใน THANI ในสัดส่วนไม่ถึง 50%

ก่อนที่แบงก์ธนชาต จะเข้ามาซื้อหุ้นเรื่อยๆ ใน THANI กระทั่งมาถืออยู่ที่ 65.18%

Back to top button