พาราสาวะถี
ไม่ว่าถ้อยแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อผลสรุปจากที่ประชุมคสช.เมื่อวาน จะเป็นไปในแนวทางใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองหรือการประกาศปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมแบบมีเงื่อนไข นั่นไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป เพราะเจตนาลากยาวโดยไม่ปล่อยให้พรรคดำเนินกิจกรรมทั้งที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้มากว่า 2 เดือนแล้ว เป็นสิ่งที่คนเกิดข้อกังขาและมองไปยังเป้าประสงค์ของผู้มีอำนาจว่าต้องการอะไร
อรชุน
ไม่ว่าถ้อยแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อผลสรุปจากที่ประชุมคสช.เมื่อวาน จะเป็นไปในแนวทางใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองหรือการประกาศปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมแบบมีเงื่อนไข นั่นไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป เพราะเจตนาลากยาวโดยไม่ปล่อยให้พรรคดำเนินกิจกรรมทั้งที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้มากว่า 2 เดือนแล้ว เป็นสิ่งที่คนเกิดข้อกังขาและมองไปยังเป้าประสงค์ของผู้มีอำนาจว่าต้องการอะไร
มุมมองต่อการลากยาวอำนาจนั้นถือเป็นเรื่องพื้นๆ ไปแล้ว เนื่องจากผ่านมาจนถึงวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้อินังขังขอบต่อประเด็นที่ว่าท่านผู้นำและคณะจะอยู่กันจนรากงอกหรืออย่างไร หากแต่ที่คนทั่วไปอยากรู้และขอคำประกาศให้ชัดๆ คือ จะมีการตั้งพรรคการเมืองทหารหรือพรรคการเมืองที่คสช.สนับสนุนหรือไม่ เพราะนั่นมันจะทำให้เข้าใจถึงเจตนาที่ไม่ยอมให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทั้งที่กฎหมายบังคับใช้ไปแล้วนั่นเอง
เมื่อลากเอามาตรา 44 เข้ามาเกี่ยวข้องย่อมมีเสียงวิจารณ์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสียงจากฝ่ายตรงข้ามถือเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับผู้มีอำนาจ แต่เสียงจากพวกเดียวกันหรือมิตรที่กำลังถูกผลักให้ไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามต่างหากที่น่าสนใจและมีนัยทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฟากฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่พบว่าเวลานี้ตั้งแต่หัวหน้าพรรคไปจนถึงลิ่วล้อสารพัดตำแหน่ง ต่างออกมาซัดแทบจะทุกเรื่องของรัฐบาลคสช.ชนิดไม่ไว้หน้ากันอีกต่อไป
ล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งข้อสังเกตกับการใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายพรรคการเมืองว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญที่วางเงื่อนไขไว้ทั้งหมดทำขึ้นมา ตอนทำ ทั้งคสช. รัฐบาล และสนช.ก็บอกว่าต้องทำแบบนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดการปฏิรูป และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ แต่ถ้าหากจะใช้อำนาจพิเศษมาลบล้างตรงนี้ก็ต้องตอบคำถามว่า ตกลงเรื่องการปฏิรูปที่เคยพูดไว้ทั้งหมดคืออะไร
ที่บอกว่าตอนนี้อะไรๆ เป็นอุปสรรคหมด ไม่ได้มาจากคนอื่น เพราะรัฐธรรมนูญก็เป็นฝ่ายเขียนเองแล้วประชาชนก็รับรองไปแล้ว กฎหมายลูกก็ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.และสนช. เงื่อนเวลาก็กำหนดโดยกรธ.และสนช. ปัญหาที่จะไม่เกิดขึ้นตามเวลาก็เกิดขึ้นจากคสช. ซึ่งไปออกคำสั่งแล้วขัดแย้งกับตัวกฎหมาย
มุมตรงนี้คนส่วนหนึ่งบอกว่าน่าเสียดาย หากอภิสิทธิ์จะหยิบยกมาใช้และเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งในช่วงก่อนที่จะมีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่พอมาพูดในวันนี้มันทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า เป็นเพราะไม่ได้อะไรอย่างที่คาดหวังไว้หรือเปล่า จึงต้องออกลูกตีโพยตีพาย แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่ทำให้ได้เห็นว่า คนที่มีหลักการดีนั้นหากคิดดี ไม่มีวาระซ่อนเร้นจะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญต่อบ้านเมือง
เมื่อเดินมาถึงจุดนี้กันแล้ว บทสรุปของอภิสิทธิ์ต่อทิศทางของผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งที่น่าจะสะกิดให้พวกหลับหูหลับตาเชียร์ได้หันกลับมาพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลกันบ้าง “ถ้าจะใช้อะไรพิเศษอีกเพื่อลบล้างสิ่งที่ตัวเองทำ ก็ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนว่า สรุปแล้วเป้าหมายสุดท้ายคืออะไร และในที่สุดจะเป็นตัวพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นเรื่องของการปฏิรูประบบหรือจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์”
ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่กลายเป็นสิ่งที่ขาประจำวิพากษ์วิจารณ์แทบจะทุกประเด็นของผู้มีอำนาจและองคาพยพที่เกี่ยวข้อง กรณีมาตรา 44 ก็เหมือนกัน กกต.ชายเดี่ยวเห็นว่า กรอบเวลาต่างๆ ที่กำหนดให้พรรคต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นภายใน 90 วัน 180 วัน 1 ปี หรือ 4 ปี ล้วนแล้วแต่เป็นภาคบังคับที่กำหนดให้พรรคต้องทำตาม
โดยหวังว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่เดิมจะใช้เวลาดังกล่าวในการดำเนินการอย่างมีขั้นตอนเป็นระบบ ส่วนพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นก็อยู่ภายใต้กติกาต่างๆ ซึ่งไม่ต่างกันมาก บางอย่างได้เปรียบ บางอย่างอาจเสียเปรียบ ภายใต้ฐานคติว่าคงไม่สามารถทำให้เหมือนกันทุกอย่างได้ มาวันนี้ ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองคนหนึ่งที่ชูธงปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และผู้เตรียมการจัดตั้งพรรคที่ประกาศจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯต่ออีกคนหนึ่ง กลับเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง
มีสาระคือ ยกเลิกสาขาพรรค ยกเลิกไพรมารีโหวต เรียกร้องให้รีเซตสมาชิกของพรรคการเมืองเดิม ทำให้พรรคที่มีความเข้มแข็งกลายเป็นพรรคที่อ่อนแอ ต้องเริ่มต้นใหม่โดยอ้างความเท่าเทียม ไปไกลขนาดเสนอให้หัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง โดยเอาประเด็นกรอบเวลาที่เป็นข้อจำกัดของพรรคการเมืองว่าทำไม่ทันเป็นตัวเริ่ม และลามไปยังประเด็นอื่นๆ โดยลืมสิ้นถึงหลักการปฏิรูปที่เคยพูดไว้ในอดีต
ประเด็นนี้พอสมชัยพูดก็ต้องมีการสะกิดแบบเตือนสติกันหน่อยว่า ก็แล้วใครที่ช่วงซึ่งมีการเคลื่อนไหวชัตดาวน์บ้านเมือง จึงไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง มิหนำซ้ำ ยังผุดวลีเด็ด “ทำการใหญ่ให้ต้องเอียง” อีกต่างหาก ไม่อยากบอกว่าพอกันหรือเปล่า แต่ก็เอาเถอะหลังจากตัวเองถูกเซตซีโร่กระดอนพ้นเก้าอี้กกต.ไปแล้ว อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ยังคิดได้และคิดดี
ส่วนเรื่องมาตรา 44 แก้กฎหมายพรรคการเมืองตามที่ วิษณุ เครืองาม อ้างเหตุผลเพื่อให้เกิดมาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม เกิดผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขด้วยวิธีการปกติไม่ทันการณ์นั้น เครื่องหมายคำถามที่เกิดขึ้นคงไม่มีใครชี้แจงหรืออธิบาย แต่มุมของสมชัยที่เรียกร้องต่อเป็นอะไรที่ต้องขีดเส้นใต้
ถ้าจะให้เกิดมาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม ควรใช้ ม.44 เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม ระหว่างป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กสม. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญก่อนดีไหม เพราะหลายมาตรฐานเหลือเกิน แม้จะเป็นคนละเรื่องเดียวกันแต่ก็ฉายภาพเรื่องมาตรฐานของผู้มีอำนาจได้ชัดเจนยิ่ง