สตอรี่(โหด)ตลาดหุ้น

ปรากฏการณ์ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า “EARTH” ถือเป็นปรากฏการณ์ตาค้างที่นึกไม่ถึงจริงๆ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ปรากฏการณ์ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า “EARTH” ถือเป็นปรากฏการณ์ตาค้างที่นึกไม่ถึงจริงๆ

บริษัทเพิ่งประกาศผลกำไรดำเนินงานในปี 2559 อยู่หยกๆ แถมมีเงินจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น แต่อยู่ๆ ช่วงปลายไตรมาส 1 ราคาหุ้นในกระดานทรุดตัวอย่างหนัก แถมมีข่าวลือสะพัด เช่นผู้ถือหุ้นใหญ่แตกคอกันบ้าง แบงก์ระงับสินเชื่อบ้าง

ช่วงนั้น ทางฝั่งความเห็นว่ามีการทุจริตกันภายในหรือไซฟ่อนเงิน ยังไม่สู้จะมีคนเชื่อถือสักเท่าใดนัก แต่ในที่สุด ความจริงที่ค่อยๆ เผยตัวมาทุกวันนี้เริ่มชัดขึ้นๆ ทุกที

นั่นก็คือ มีการโกง การไซฟ่อนเงิน และการปลอมแปลงเอกสารใบสั่งซื้อและใบขนส่งสินค้า เพื่อประกอบการพิจารณาการขอสินเชื่อกับธนาคาร และก็เป็นวงเงินสินเชื่อจำนวนกว่า 2 หมื่นล้านบาท

แยกเป็นธนาคารกรุงไทย 1.2 หมื่นล้านบาท, เค แบงก์ 3.8 พันล้านบาท, กรุงศรีอยุธยา 1.2 พันล้านบาท และเอ็กซิมแบงก์ไทย 350 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีเจ้าหนี้ระยะสั้น เป็นตั๋วแลกเงิน (บี/อี) 2.9 พันล้านบาท และหุ้นกู้ 2 ชุดรวม 5.5 พันล้านบาท

ถือเป็นโศกนาฏกรรมส่งท้ายปี 2560 ทั้งต่อวงการธนาคารและตลาดหุ้นเลยทีเดียว

“เอิร์ธ” ถือกำเนิดมาจากบริษัทเน่าบริษัทหนึ่งชื่อ “แอดว้านซ์เพ้นท์” โดยเข้าจดทะเบียนทางประตูหลังหรือที่เรียกว่า “Backdoor Listing” ในราคาซื้อแค่ 3 ส.ต.ซึ่งถูกมากๆ

แต่พอกลับมาเทรดวันแรก ราคาหุ้นก็ปิดได้ถึง 68 ส.ต. ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้เกี่ยวข้องมีกำไรส่วนตัวกันเหนาะๆ จากเกมเทรดหุ้นอย่างคุ้มค่า

ข้อดีของการแบ็คดอร์ฯ ก็คือ การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนได้รวดเร็ว ไม่ต้องไปปั้นหน้าแต่งตัวนาน แต่ข้อเสียก็คือ บริษัทไม่ได้ประโยชน์จากการระดมทุนเพื่อนำเงินมาเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ หรือการลดต้นทุนทางการเงินลงเลย

ตั้งแต่ปี 2554 ที่แบ็คดอร์ฯ เข้ามา เอิร์ธสามารถสร้างเรื่องหรือสร้างสตอรี่ที่งดงามมาอย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่ภาพพจน์ผู้บริหารงานคนหนุ่มภายใต้การนำทีมของ ขจรพงศ์ คำดี ที่บุกตลุยงานไปข้างหน้าอย่างดุดัน

สไตล์ค้าถ่านหินแบบเก่า ก็คือการสั่งซื้อถ่านหินจากแหล่งซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นแหล่งจากอินโดฯ หรือออสเตรเลีย ไปขายให้ผู้ใช้ไม่ว่าในหรือต่างประเทศ

แต่นี่ใช้ยุทธศาสตร์เป็นเจ้าของเหมืองเสียเองเลย เพื่อล็อคราคาไม่ให้ดิ้นมาก โดยใช้วิธีการอันชาญฉลาด ซึ่งไม่ต้องใช้เงินสักแดงเดียวเลย แต่ก็สามารถจะเป็นเจ้าของเหมืองได้โดยวิธีการ “สว็อปหุ้น”

ฟังแล้วดูดีมาก แต่ตอนนั้นก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า บริษัทเอิร์ธยังเป็นบริษัทหน้าใหม่ ทำไมเจ้าของเหมืองในอินโดฯ ถึงพิสมัยในการถือครองใบหุ้นเอิร์ธแทนการกำเงินสดนัก

แต่เรื่องนี้ก็รอดหูรอดตา ผ่านการตรวจสอบหรือเค้นเอาความจริงจากสังคมไปได้

บริษัทยิ่งมีความน่าเชื่อถือใหญ่ เมื่อตลาดหุ้นแฟรงค์เฟิร์ตรับเอาใบอ้างสิทธิ์เสมือนหุ้นของเอิร์ธ (ดีอาร์) ไปเทรดในตลาด ข่าวที่ออกมาจากเอิร์ธ มีแต่ความหอมหวานทั้งนั้น ไม่ว่าการบุกเข้าไปในตลาดอินเดียและจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่

ช่างเป็นสตอรี่ที่หอมหวานเอาเสียจริง

ฝีมาแตกเอาเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีและหุ้นกู้ อีกทั้งเมื่อมีการอายัดและระงับสินเชื่อจากแบงก์เจ้าหนี้รายใหญ่นั่นแหละ หุ้น EARTH ร่วงถลาเป็นนกปีกหัก ฟลอร์ 3 วันซ้อน และซวดเซหนักเมื่อประกาศงบไตรมาส 1 ออกมาขาดทุน และติดตามมาด้วยการประกาศระงับการซื้อขายจากตลาดหลักทรัพย์

ความจริงที่ปรากฏจากคำแถลงของกรมศุลกากร ก็คือเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ทำใบขนส่งถ่านหินปลอมขึ้นมา โดยไม่มีการส่งสินค้าจริง และมีการตั้งบริษัทย่อยในจีนขึ้นมา ซึ่งก็เป็นแค่บริษัทเอาไว้ผ่องถ่ายเงินเท่านั้นเอง

แสบสันต์สุดๆ กับเรื่องราวของเอิร์ธ ความจริงฉบับสมบูรณ์คงได้รับการเผยโฉมออกมาในไม่ช้า

 

Back to top button