พาราสาวะถี

ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรัฐประหารและดำเนินการปกครองประเทศในรูปแบบเผด็จการที่อ้างเรื่องของประชาธิปไตยมาคลุมแค่เปลือก คนก็พอจะหลิ่วตายอมรับไปได้แลกกับความสงบของบ้านเมือง แต่วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปไกลกว่านั้น วันก่อนบอกไปอ่านหนังสือฝรั่งเขียนอ้างประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเสื่อมความนิยม ที่มาแรงคือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม


อรชุน

ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรัฐประหารและดำเนินการปกครองประเทศในรูปแบบเผด็จการที่อ้างเรื่องของประชาธิปไตยมาคลุมแค่เปลือก คนก็พอจะหลิ่วตายอมรับไปได้แลกกับความสงบของบ้านเมือง แต่วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปไกลกว่านั้น วันก่อนบอกไปอ่านหนังสือฝรั่งเขียนอ้างประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเสื่อมความนิยม ที่มาแรงคือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

สิ่งที่ไม่ต้องถอดรหัสอะไรกันให้มาก การพยายามพูดเช่นนี้เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่ตัวเองและคณะเผด็จการคสช.กำลังดำเนินการอยู่ ไม่มีอะไรซับซ้อนจริงๆ ส่วนคำถามที่ว่าแล้วพูดเอาดื้อๆหรือเอาแต่ได้แบบนี้ ไม่กลัวจะเสียคะแนนนิยมหรือ เรื่องอย่างนี้เชื่อได้เลยว่าไม่มีในหัวของผู้นำการรัฐประหาร สิ่งสำคัญคือแล้วใครจะกล้าวิจารณ์

อย่างไรก็ตาม นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนหนึ่งที่ฟังแล้วรับไม่ได้ จึงรีบออกมาบอกว่า ฟังแล้วตกใจโดยเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์คงไม่อ่านเอง หรือหากอ่านเองก็คงอ่านไม่หมด หยิบเฉพาะส่วนที่เห็นด้วยมาพูดเหมือนจับหางช้างและพูดว่าช้างมันมีลักษณะอย่างนี้ เรื่องที่นายกฯพูดมันเป็นปรัชญาในทางรัฐศาสตร์

สิ่งที่ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ใน 2 เรื่องคือ เวลาเลือกตั้งประชาชนต้องการให้ผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ของเขาเป็นตัวแทนหรือเป็นผู้แทน ซึ่งทั้ง 2 อย่างไม่เหมือนกัน ทั้งตัวแทนและผู้แทน ต่างก็มีจุดด้อยด้วยกันทั้งนั้น พร้อมกับย้อนโดยถ้อยคำที่แสบทรวงคือ ท่านผู้นำพูดถูกที่ว่าต้องอุดช่องว่างด้วยการเสริมการมีส่วนร่วมเข้าไป แต่คนจะถามด้วยคำถามง่ายๆว่า แล้วเรื่องเรือดำน้ำกับรถไฟไทย-จีนประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่

ดังนั้น เวลาพูดเรื่องเหล่านี้จึงต้องระวัง ทางที่ดีพลเอกประยุทธ์ควรพูดในเรื่องที่ถนัดดีกว่า อย่าให้คนอื่นเอาเรื่องที่ไม่ถนัดมาให้พูด ยิ่งการพูดด้วยการยกหนังสือเป็นตัวอย่างยิ่งต้องระวัง เพราะถ้าไม่อ่านจริงหรืออาจไม่เข้าใจในสารัตถะ คนที่นำเสนออาจถูกหลอกให้หลงทางได้ หนังสือจะดูเฉพาะหน้าปกไม่ได้ มีเยอะไปที่หน้าปกบอกว่าหนังสือธรรมะแต่ข้างในเป็นหนังสือโป๊

ไม่รู้ว่าจะเลียนแบบใครที่ชอบแนะนำให้อ่านหนังสือ แต่ไม่ได้ดูแคลนว่าท่านผู้นำอ่านน้อย เชื่อโดยสุจริตใจว่าอ่านมากหรือไม่ก็มีคนอ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง แต่ก็อีกนั่นแหละ ต้องพิจารณาด้วยว่าคนที่เล่าให้ฟังนั้นเป็นประเภทไหน หากเป็นพวกตรงไปตรงมาอันนี้ก็น่าจะช่วยให้ท่านพูดในสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากเป็นประเภทสอพลอก็จะเลือกเอาเฉพาะที่นายสบายใจ ทว่าคนฟังไม่ได้สบายใจไปด้วย มิหนำซ้ำ ยังจะดูแคลนคนที่พูดด้วยว่า เขลาเบาปัญญา

นี่คือเรื่องธรรมดาของคนที่เป็นนักปราชญ์ย่อมที่จะเลือกสนทนาวิสาสะกับปราชญ์เช่นเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และรู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ไม่ใช่พวกอวดดี อวดเก่ง ที่อ้างว่ารู้ไปเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เอาเข้าใจก็แค่ผิวๆ สิ่งที่พิสูจน์ได้คือใช้องค์ความรู้ที่มีไปสู่ภาคปฏิบัติทำให้เห็นผลได้มากน้อยแค่ไหน หลายเรื่องที่ผ่านมาน่าจะเป็นบททดสอบที่สำคัญว่า ทำได้อย่างที่พูดหรือแค่ดีแต่พูดเท่านั้น

การเมืองว่าด้วยเรื่องผ่อนปรนให้พรรคการเมืองได้ดำเนินธุรการตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หลังหัวหน้าคสช.มีคำสั่งตามมาตรา 44 กำหนดกรอบ กติกา ออกมา ซึ่งถูกโขกสับเละเทะจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่และ 1 พรรคการเมืองขนาดกลางอย่างชาติไทยพัฒนา แต่ฟัง วิษณุ เครืองาม เนติบริกรฝั่งรัฐบาลชี้แจงแล้ว แทนที่จะหายสงสัยกลับทำให้คนเกิดคำถามตามมาอีก

วิษณุบอกว่ากรณีให้สมาชิกพรรคการเมืองเก่าแสดงตัวหรือพรรคตรวจสอบความมีอยู่จริง หากไม่เข้าหลักเกณฑ์มีอันต้องพ้นจากสมาชิกภาพนั้น ไม่ได้เป็นการรีเซตแต่เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของสมาชิก พร้อมกับพาดพิงไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่าเป็นคนรวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนลูกบ้านในพื้นที่มาส่งให้พรรคการเมือง โดยที่คนๆ นั้นยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่าตัวเองจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด

เป็นการฉายภาพในอดีตที่วิษณุน่าจะรู้ดี อันนี้ก็พอฟังกันได้ แต่การที่ท่านบอกว่าสิ่งที่พรรคการเมืองกังวลคือ การให้ยืนยันสมาชิกภายใน 30 วันจะทำไม่ทันนั้น ความจริงไม่มีปัญหา เพราะเวลา 30 วันหากพ้นไปแล้ว ยังสมัครสมาชิกใหม่ได้ สามารถยืดเวลาออกไปได้ตลอด จะขยายเป็นชาติก็ได้ ถ้าเช่นนั้นก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วจะใช้มาตรา 44 มาขยายเวลาให้พรรคการเมืองหาอะไร

มองท่าทีของวิษณุ รวมไปถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะเนติบริกรประจำคณะรัฐประหารแล้ว ต้องยอมรับกันว่าเป็นความเหนือชั้นในการใช้ชั้นเชิงหลอกล่อผู้สื่อข่าวที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่กระบวนการการออกประกาศหรือคำสั่งทุกครั้ง จะเห็นได้ชัดว่ามีการเตรียมการ การหาเหตุและผลมาประกอบ บางครั้งก็พาดพิงไปถึงนักการเมืองและพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องง่าย เพราะสองสิ่งนี้เป็นพวกต้นทุนต่ำในสายตาของคนดี

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องการยืนยันสมาชิกพรรคนั้น ความจริงแล้วพรรคเก่าไม่ว่าจะเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์หรือพรรคการเมืองอื่นก็ตาม ไม่น่าจะต้องไปวิตกอะไรให้มากนัก เพราะจะว่าไปแล้วจำนวนสมาชิกที่เห็นกันนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าจะทำให้พรรคชนะการเลือกตั้ง หากยึดตรรกะดังกล่าว พรรคเก่าแก่คงผูกปีชนะพรรคนายใหญ่มาโดยตลอด

ข้อเท็จจริงก็อย่างที่เห็นกัน นับตั้งแต่ปี 2544 หลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การเลือกตั้งประชาชนส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจเลือกจากนโยบายของพรรคที่มีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปได้และทำให้คะแนนเสียงของคนเหล่านั้นมีความหมาย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจนกระทั่งเกิดความไม่พอใจของคนเมืองหลวงที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่า ดีกว่าจนเป็นที่มาของการล้มรัฐบาลเลือกตั้งและโบกมือดักกวักมือเรียกรัฐประหารถึง 2 ครั้ง 2 คราในรอบ 8 ปี

เหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องยอมรับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ไปมีส่วนร่วมกับการทำให้เกิดวิกฤติเทียม มาถึงวันนี้ย้อนถามกลับไปว่าที่ออกมาเคลื่อนไหวกันสองหนนอกจากเป้าหมายล้มระบอบทักษิณแล้ว สิ่งที่เป็นจุดยืนคืออะไรคงไม่มีใครกล้ายืนยัน แม้กระทั่งนาทีนี้ให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ลุกขึ้นมาปลุกม็อบอีกรอบ สถานการณ์จะเป็นอย่างที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้สัมภาษณ์ว่า น่าจะมีแนวร่วมแค่พุทธะอิสระกับกรวยยางเท่านั้น

Back to top button