พาราสาวะถี
สงสัยประชาชนต้องพากันตะโกนว่า “อีกแล้วครับท่าน” กรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปล่งวาจาหลังการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดสุโขทัยเสร็จสิ้นลง โดยสัญญากับทุกคนว่าจะทำให้ดีที่สุด ในปีหน้าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อารมณ์ดีตลอดเวลา ถึงแม้ว่าใครจะพยายามทำให้ตนหงุดหงิดก็ตาม ตนจะไม่หงุดหงิดตามอีกแล้ว ตนสัญญากับตัวเองไว้แล้ว
พาราสาวะถี : อรชุน
สงสัยประชาชนต้องพากันตะโกนว่า “อีกแล้วครับท่าน” กรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปล่งวาจาหลังการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดสุโขทัยเสร็จสิ้นลง โดยสัญญากับทุกคนว่าจะทำให้ดีที่สุด ในปีหน้าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อารมณ์ดีตลอดเวลา ถึงแม้ว่าใครจะพยายามทำให้ตนหงุดหงิดก็ตาม ตนจะไม่หงุดหงิดตามอีกแล้ว ตนสัญญากับตัวเองไว้แล้ว
หากใครที่ยังสงสัยว่าคำสัญญาของท่านผู้นำจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ให้ย้อนกลับไปดูเมื่อปลายปี 2559 ต่อเนื่องต้นปี 2560 บิ๊กตู่คนนี้คนเดิมก็ลั่นวาจาไว้ว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลิกโมโหโกรธา สงบสติอารมณ์ ผลก็เป็นอย่างที่เห็น นี่ไงบทพิสูจน์ของคำโบราณที่ว่า ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก ไม่ได้เจตนาจะว่าร้ายแต่หากมันทำไม่ได้ก็ไม่ควรจะพูด เพราะสิ่งที่หลุดออกมาจากปากทุกคำมันหมายถึงความเชื่อมั่น
ไม่ใช่เฉพาะความเชื่อมั่นที่มีต่อตัวผู้นำเท่านั้น หากแต่มันจะกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของประเทศด้วย เพราะการที่ท่านผู้นำไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาทั้งที่บอกไว้กับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่สุด นับประสาอะไรกับสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่น มันจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มักจะมีคนขุดเอาเรื่องสัญญาว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตอกย้ำถึงภาวะโรคเลื่อนของคสช.อยู่ตลอดเวลา
ที่บอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน นี่จะผ่านเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว หากเป็นรัฐบาลปกติก็ครบวาระ ต้องเตรียมตัวเลือกตั้งกันใหม่ไปแล้ว แต่กับรัฐบาลรัฐประหาร กลับไม่พบทีท่าว่าจะได้เลือกตั้งตามนั้นหรือไม่ ต้องคอยทายใจกันรายวัน มิหนำซ้ำ ขนาดที่ว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารประกาศวันว.เวลาน.ชัดเจน ประชาชนได้หย่อนบัตรพฤศจิกายนปีหน้า ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามนั้น
ยิ่งได้เห็นคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายเวลาให้พรรคการเมืองได้ทำธุรการต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แทนที่นักการเมืองจะพากันดีใจและเห็นเส้นชัยของการเลือกตั้งรออยู่ แต่กลับพากันส่ายหน้าเป็นแถว นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดี หากแต่เป็นการตีกินหรือใช้ยุทธวิธีอันแยบยลแนบเนียน เอื้อประโยชน์ให้พรรคตั้งใหม่ได้เปรียบพรรคการเมืองเก่า
ท่าทีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ถึงสองครั้งสองหน ทั้งที่โดยปกติแล้วอะไรที่พาดพิงถึงผู้มีอำนาจมักจะไม่ค่อยฉายซ้ำ นี่ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงภาวะวิตกซึ่งพรรคเก่าแก่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าว ความจริงที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้ง คนของพรรคการเมืองนี้มักจะแสดงความเห็นแบบแทงกั๊กมาโดยตลอด
แต่หนนี้กลับไม่ใช่ อภิสิทธิ์และลูกพรรคจัดหนักจัดเต็ม ล่าสุด เจ้าตัวถึงขั้นประกาศว่าให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคศึกษาเนื้อหาคำสั่งดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ซึ่งจะทราบผลหลังปีใหม่ และจะตัดสินใจอีกครั้งว่า จะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ฟันธงไปแล้วว่า คำสั่งคสช.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ไม่เพียงแต่พูดเรื่องขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น อภิสิทธิ์ยังบอกอีกว่า การออกคำสั่งคสช.ครั้งนี้ไม่ใช่การปลดล็อคแต่เป็นการเพิ่มล็อค ทำให้ช้าไปอีก 3 เดือนจนเป็นปัญหากับพรรคใหม่ ตนไม่ติดใจหากจะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น เพราะเป็นประชาธิปไตย ยอมรับการแข่งขันตลอดเวลา แต่ขอให้แข่งขันด้วยการสร้างศรัทธาไม่ใช่เอาเครื่องมือต่างๆ มาทำลายคนอื่น
ไม่เพียงเท่านั้น คำสั่งคสช.ที่ออกมาเหมือนไม่เข้าใจโรดแมปของตัวเอง จึงเป็นการแก้ปัญหาให้กับบางคนมากกว่าการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด ท่วงทำนองของคนพรรคเก่าแก่น่าสนใจ พูดกันคนละครั้งแต่ร้องเพลงคีย์เดียวกันทั้งหมด ขณะที่ฟากเพื่อไทยถึงขั้นนัดตั้งโต๊ะแถลงข่าวออกเป็นแถลงการณ์กันเลยทีเดียว ซึ่งดูรายชื่อบุคคลที่มานั่งแถลงข่าวนั้นต้องบอกว่าไม่ธรรมดาจริงๆ
ไล่เรียงตั้งแต่ พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรค และแกนนำของพรรคคนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง วัฒนา เมืองสุข และ สามารถ แก้วมีชัย โดยเฉพาะรายหลังที่มีหัวโขนเป็นหัวหน้าคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของพรรคด้วย
เนื้อหาแถลงการณ์ของพรรคนายใหญ่แยกย่อยได้คือ รัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วการแก้ไขเพิ่มเติมต้องกระทำโดยสนช. การที่หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมไม่อาจทำได้ การออกคำสั่งดังกล่าว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา 44 เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อปฏิรูปสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือเพื่อป้องกันการกระทำที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ยังถือเป็นการลบล้างกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ
เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสมาชิกพรรคการเมือง ตั้งแต่การคงข้อห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง กำหนดให้รีเซตสมาชิกพรรค การดำเนินการต่างๆ ต้องได้รับอนุญาตจากคสช. เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนให้คสช.และหัวหน้าคสช.สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป โดยก่อนออกคำสั่งไม่กี่วัน มีบางกลุ่มออกมาเรียกร้องให้รีเซตสมาชิกใหม่ ดังนั้น จึงไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง บนความเสมอภาคเท่าเทียมตามที่กล่าวอ้าง
เพิ่มอำนาจให้คสช.แทรกแซงกระบวนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง แทรกแซงการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและกกต. และมีเจตนาซ่อนเร้นที่จะเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไป เพราะเมื่อถึงเวลาพรรคการเมืองไม่อาจดำเนินการหรือส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทัน ก็จะเป็นข้ออ้างของคสช.ให้เลื่อนการเลือกตั้งได้
แน่นอนว่า ออกมากันขนาดนี้ปลายทางของเพื่อไทยคือยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะที่จาตุรนต์ได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจ คำสั่งนี้จงใจให้เกิดการทำลายพรรคการเมืองอย่างชัดเจน สอดคล้องกับที่รัฐบาลออกไปพบประชาชน สร้างความนิยม การที่หัวหน้าคสช.ลงพื้นที่และพบอดีตส.ส. เหมือนมีความพยายามติดต่อนักการเมืองให้ไปร่วมมือซึ่งก็เป็นแผน
คำสั่งนี้ทำลายระบบกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ถ้าทุกคนอยู่เฉยๆ ปล่อยให้คสช.ทำอะไรก็ได้ เท่ากับจากนี้ไปเราจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่มีคสช.แทรกแซงอย่างไรก็ได้ การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย ต้องไม่ลืมว่ามาตรา 44 ยังคงอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ หมายความว่าแม้จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง แต่หากมีอะไรที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็อาจจะสั่งให้ยกเลิกหรือให้เป็นไปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ดูจากเหตุที่ว่า สิ่งที่เราจะทำตามสัญญาถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ถามหาความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือของท่านผู้นำวันนี้ บอกได้คำเดียวว่ายาก