ปีโค้งอันตราย

ปี 2561 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้คำมั่นสัญญา “คนจนหมดประเทศ” เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำมั่นสัญญา เลือกตั้งเดือน พ.ย.


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง   

ปี 2561 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้คำมั่นสัญญา “คนจนหมดประเทศ” เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำมั่นสัญญา เลือกตั้งเดือน พ.ย.

แต่ก็ไม่แน่อีกละ เพราะล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ถ้ามีความขัดแย้งสูง จะเลือกตั้งได้หรือเปล่าไม่รู้

“ไม่สงบไม่มีเลือกตั้ง” หัวหน้าคณะรัฐประหารพูดอย่างนี้มาหลายครั้ง ซึ่งไม่มีทางเป็นจริงได้ สังคมประชาธิปไตยไม่สามารถหันซ้ายหันขวาตามความต้องการของทหาร

ข้อสำคัญ เกือบ 4 ปีผ่านไป คสช.กลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ขัดแย้งแทบทุกฝ่าย แล้วจะไปสู่เลือกตั้งได้อย่างไร

ยิ่งนับถอยหลังตามโรดแมป ก็ยิ่งเห็นความพยายามสืบทอดอำนาจ เปลี่ยนไปสู่อำนาจที่ผ่านการเลือกตั้งพิธีกรรม พยายามตั้งพรรคการเมืองขึ้นโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งอันที่จริง ดูเหมือนสังคมไทยก็สามานย์พอที่จะยอมรับได้ ถ้าไม่โจ่งแจ้งน่าเกลียดเกินไป

แต่นี่ ไม่เพียงโยน 4 คำถาม 6 คำถาม สั่งรีเซ็ตพรรคการเมืองเก่า แนวโน้มพรรคการเมืองใหม่ที่จะตั้งขึ้น ยังไม่ต่างอะไรกับพรรคสหประชาไทย หรือพรรคสามัคคีธรรม ดูหน้าตานักการเมืองที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจระยะหลัง ก็คนกรุงเคยร้องยี้ทั้งนั้น

ทิศทางของการสืบทอดอำนาจ จึงขัดแย้ง ถึงขั้นเป็นศัตรูกับ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่เคยมีฐานเสียงรวมกัน 27 ล้านเสียง หรือ 83% ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน คะแนนนิยมรัฐบาลก็ตกต่ำลง ทั้งที่มีอำนาจปิดกั้นเสรีภาพ จับคนวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยพฤติกรรมผู้นำบางคนที่น่าข้องใจใน “ธรรมาภิบาล” ด้วยการใช้อำนาจ ใช้อารมณ์ กับชาวบ้านตาดำๆ

ซึ่งเมื่อมองภาพกว้าง การจัดระเบียบสังคมแบบรัฐราชการเป็นใหญ่ ชี้ถูกชี้ผิดชี้นิ้วสั่งไปทุกอย่าง ก็สร้างความขัดแย้ง ระหว่างทหาร ราชการ กับภาคประชาสังคม การเมืองท้องถิ่น คนทำมาหากิน ไปจนคนธรรมดาทั่วไป ที่อึดอัด เบื่อหน่าย อยากพ้นๆ ไปจากระบอบนี้เสียที

เห็นจะมีแต่ทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลคุยได้ว่าตัวเลขส่งออก ท่องเที่ยว ดีขึ้น GDP ดีขึ้น หุ้นไทยบวกไปกว่า 200 จุด แถมจะเป็นปีแห่งการลงทุนสาธารณูปโภคครั้งใหญ่

แต่ทำโพลล์ทีไร ก็มีแต่ชาวบ้านบ่นอยากให้ปากท้องดีขึ้น เป็นภาพ 2 ด้านสวนทางกัน เศรษฐกิจฐานรากมีแต่แย่ลง ราคาพืชผล อาชีพเกษตรกรรม ผู้ใช้แรงงาน ลำบากถ้วนหน้า รัฐบาลช่วยบ้างในแบบ “ซานต้าเบี้ยหัวแตก” เช่น แจกบัตรคนจน 11 ล้านคน จำนำยุ้งฉาง จ้างปรับเปลี่ยนการผลิต ทำโครงการ “เงินผัน” เช่นตำบลละ 5 ล้าน หมู่บ้านละ 2 แสน หรือ 9101 ชุมชนละ 1.25 ล้าน เพื่อให้เงินหมุนเวียน (แต่ถูกโวยว่าทุจริตบานตะไท)

เศรษฐกิจที่ว่าดีนี้ ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร ชี้ว่าแม้ไม่เกิดวิกฤติรุนแรง แต่ก็ยังซบเซา ไม่สามารถออกจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ และกับดักสภาพคล่อง

ปี 2561 เป็นปีโค้งสุดท้าย พอๆ กับโค้งอันตราย เพราะรัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง “ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว” ในขณะเดียวกันก็ต้องรีบวางกลไกสืบทอดอำนาจ

ยิ่งขาลง ยิ่งต้องรีบลง ยิ่งขาลง ก็ยิ่งสืบทอดอำนาจยาก และจะถูกต่อต้านหนัก ไม่เฉพาะพรรคการเมือง สังคมทั่วๆ ไปก็เบื่อหน่าย อยากให้ไปเสียที แต่ขณะเดียวกันสังคมไทยก็ไม่มีตัวเลือก ไม่เห็นทางออก ได้แต่ทนไปก่อน

ภาวะอย่างนี้ อาจเกิดพลิกผันได้ง่าย แต่พลิกผันอย่างไร ก็คาดเดาได้ยาก เพราะระบอบอำนาจวันนี้มาไกลจนไร้กฎเกณฑ์ พลังต่างๆ ในสังคมก็กระจัดกระจายมองไม่เห็นอนาคต รู้แต่ว่าเราอยู่ในภาวะที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

Back to top button