ECF ฉายแววโตเด่น! ลุ้นกำไร Q4 กระฉูด เดินหน้าบุ๊ครายได้โรงไฟฟ้าเต็มสูบ
ECF ฉายแววโตเด่น! ลุ้นกำไร Q4/60 พุ่งกระฉูด เดินหน้าบุ๊ครายได้โรงไฟฟ้าเต็มสูบ หลัง COD ไปในช่วงไตรมาส 3/60 รวมถึงรายได้จากการขายหุ้น PP ให้แก่ บลจ.วรรณ มูลค่า 167.40 ลบ
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์ของ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ผลประกอบการในไตรมาส 4/60 จะเติบโตดี หลังจากมีการรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้า ที่เริ่มจำหน่ายฟ้าเข้าระบบไปในช่วงไตรมาส 3/60 ที่ผ่านมา อีกทั้งในส่วนของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ที่บริษัทมีแผนเป็นตัวแทนขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศมาเลเซีย หนุนกำไรเติบโตยั่งยืนในอนาคต
อีกทั้ง บริษัทยังตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์โดยรวมจะขึ้นไปถึง 3,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เดิมที่ดำเนินการอยู่จะขึ้นไปถึง 2,000 ล้านบาทในปี 62 จากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบริษัทเน้นขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น
โดยคาดยอดขายตลาดจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีนี้ จากปีก่อนที่มียอดขายราว 500 ล้านบาท โดยเฉพาะในตลาดกัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากยอดขายทั้ง 3 ประเทศเติบโตในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
อีกทั้งก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทพิจารณาและอนุมัติการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวนไม่เกิน 30,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท ได้แก่ บลจ.วรรณ ราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเท่ากับ 5.58 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมเท่ากับ 167,400,000 บาท
โดย บลจ.วรรณจะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเฉพาะในส่วนที่บริษัทออกและจัดสรรเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) เท่านั้น และกำหนดวันใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน เสนอขายและวันชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บลจ.วรรณ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2560
ขณะที่ราคาหุ้น ECF ปิดตลาดวานนี้ (4 ม.ค.61) อยู่ที่ 5.80 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 1.69% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 21.69 ล้านบาท
ด้านนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF คาดกำไรปี 61 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ขยายตัว 10% จากปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่เติบโตจากการส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้น หลังจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่เกือบ 10 เมกะวัตต์ (MW) ภายใต้บริษัทร่วมทุน บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ได้เต็มปี
ขณะที่จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มินบูในเมียนมา เฟสแรก 50 เมกะวัตต์ เข้ามาในช่วงกลางปี 61
“ปีหน้า ECF เราตั้งใจจะมีรายได้โต 10% อยู่แล้ว กำไรก็ตามสัดส่วนที่เราวางไว้ กำไรก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะเราขายเพิ่มขึ้น มีธุรกิจพลังงานเพิ่มขึ้น กำไรปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้อยู่แล้ว เพราะมีโรงไฟฟ้าเข้ามาเต็ม ๆ มีทั้งนราธิวาส แพร่ ทั้งมินบู และเฟอร์นิเจอร์ก็เติบโตขึ้น” นายอารักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุน SAFE วางแผนจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 60 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่เกือบ 10 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 7.5 เมกะวัตต์ จ.นราธิวาส เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) และเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มไตรมาส 3/60 ที่ผ่านมา และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ จ.แพร่ คาดว่าจะ COD ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 61
โดยปัจจุบัน กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 แห่ง กำลังผลิตราว 30 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปดีลได้ภายในไตรมาส 1/61 โดยเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ผลิต และมี PPA ที่หมดอายุแล้ว แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอต่อใบอนุญาต PPA
รวมถึงยังได้ยื่นเสนอภาครัฐเพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล อีก 20 เมกะวัตต์ด้วย ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จก็จะทำให้กลุ่มบริษัทมี PPA เพิ่มเป็น 60 เมกะวัตต์ได้ภายในปี 61
สำหรับเม็ดเงินลงทุนที่จะใช้ลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลอีก 60 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกราว 3.5 พันล้านบาท ซึ่งหากคิดเฉพาะในส่วนที่ ECF ถือหุ้นใน SAFE กับพันธมิตรอีก 2 รายที่ถือหุ้นฝ่ายละ 33.37% จะใช้เงินลงทุน 1.2 พันล้านบาท ในส่วนนี้คาดว่าจะเป็นเงินกู้ราว 60%
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสในการลงทุนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศด้วย โดยอาจจะเป็นการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าที่ COD โดยมีส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8 บาท/หน่วย
ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมองโอกาสการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งโซลาร์ฟาร์ม และชีวมวล ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่โรงไฟฟ้ามินบูเดินเครื่องผลิตเฟสแรกในกลางปี 61 แล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทวางเป้าหมายจะมีสัดส่วนกำไรจาก 3 ธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่ระดับ 30:30:30 จากในปีหน้าที่สัดส่วนกำไรส่วนใหญ่ยังอยู่ในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ราว 60-70% และธุรกิจไฟฟ้าราว 30%