พาราสาวะถี
วิกฤติศรัทธา เชื่อว่าสิ่งนี้ไม่เป็นที่ปรารถนาของท่านผู้นำและคณะผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน แต่ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความเป็นจริง ทำสิ่งใดไว้หรือสัญญาอะไรไว้ เหล่านั้นมันจะย้อนกลับมาเป็นภาพคอยหลอกหลอนหรือตามทวงคำมั่นสัญญาจากผู้ที่เคยประกาศไว้ เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน นี่ก็เกือบจะ 4 ปีแล้ว ถึงเวลาต้องทำตามสัญญาแล้วหรือยังนั่นคำถามหนึ่ง แล้วเวลาที่ผ่านมามีอะไรทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้นบ้างนั่นก็อีกคำถามหนึ่ง
อรชุน
วิกฤติศรัทธา เชื่อว่าสิ่งนี้ไม่เป็นที่ปรารถนาของท่านผู้นำและคณะผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน แต่ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความเป็นจริง ทำสิ่งใดไว้หรือสัญญาอะไรไว้ เหล่านั้นมันจะย้อนกลับมาเป็นภาพคอยหลอกหลอนหรือตามทวงคำมั่นสัญญาจากผู้ที่เคยประกาศไว้ เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน นี่ก็เกือบจะ 4 ปีแล้ว ถึงเวลาต้องทำตามสัญญาแล้วหรือยังนั่นคำถามหนึ่ง แล้วเวลาที่ผ่านมามีอะไรทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้นบ้างนั่นก็อีกคำถามหนึ่ง
ความเป็นจริงที่ท่านผู้นำและคณะหลงใหลได้ปลื้มกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจตัวเลขจีดีพีบนกระดาษ มันสวนทางกับชีวิตจริงของคนผู้ใช้แรงงาน คนรากหญ้าที่พบว่าเงินในกระเป๋าของตัวเองไม่ได้งอกเงย มิหนำซ้ำ ยังพบว่ามันร่อยหรอและแทบจะไม่มีกินเข้าไปทุกวัน นี่ต่างหากคือสิ่งที่จะเป็นตัวก่อวิกฤติศรัทธาในตัวผู้นำและรัฐนาวา
เหมือนที่ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับมติชนว่า กำลังซื้อของชนชั้นกลางหรือระดับล่างลงไปลดต่ำลงแทบไม่มี และวิกฤตนี้ตนมองว่า จะสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “โตยอดหญ้าตายรากหญ้า” ขึ้น สภาวะเช่นนี้ ด้านหนึ่งเราเห็นเงื่อนไขของสินค้าเกษตรที่อยู่ในภาวะที่ประสบปัญหา หากรัฐบาลยืนยันที่จะพูดเรื่องตัวเลขบนกระดาษต่อไปก็จะนำไปสู่สภาวะที่คนไม่เชื่อ เพราะเป็นสิ่งที่สวนทางกับสตางค์ที่มีอยู่จริงในกระเป๋าของพี่น้องประชาชน
สอดรับกับ อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เพิ่งเปิดเผยการประเมินตัวเลขจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ โดยคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีข้อสังเกตว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก
โครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป โดยมีปัจจัยสำคัญที่จะสามารถแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมือง
แต่หลังจากที่ได้มีสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งของคสช. และมีการสืบทอดอำนาจของคสช.จากสัญญาณการเซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ระหว่างการรอประเมินภาพความชัดเจนในห้วงเวลาดังกล่าว แต่อนุสรณ์ก็มองว่า หากประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลาจัดการเลือกตั้ง หากมีขึ้นในช่วงปลายปี อย่างน่าเชื่อถือ โปร่งใสและเป็นธรรม ทศวรรษข้างหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย และจะวางรากฐานสำคัญในการที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป
แต่หากไทยประสบปัญหาในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การจัดการเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือ มีการสืบทอดอำนาจโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงนี้จะไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะปี 2561 เท่านั้น ปัญหาอาจยืดเยื้อออกไปเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลางและระยะยาว ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะร่วมหาทางออกปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
ขณะที่สุรชาติมองในอีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นก็คือ การขยายบทบาทของทหารในภาวะสันติ จากคำสั่งคสช.ที่ 51 /2560 ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่รับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการทำให้ กอ.รมน.เป็นซูเปอร์กระทรวงคุมทุกกระทรวง รวมทั้งคุม สมช.ซึ่งทำหน้าที่คุมระบบความมั่นคงทั้งหมดของประเทศด้วย
เรากำลังเห็นสภาวะรัฐซ้อนรัฐ จากเงื่อนไขแบบรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ นัยยะของคำสั่งฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งในอนาคต อยู่ในสภาวะที่เป็นเป็ดง่อย เป็นการสร้างรัฐทหารโดยคนไม่รู้สึก และไม่จำเป็นต้องยึดอำนาจ เมื่อนำไปรวมกับกลไกลที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีอายุยาวถึง 5 สมัยของรัฐบาลเลือกตั้ง เสมือนเป็นการทำรัฐประหารเงียบ 20 ปีก่อนการจะมีการเลือกตั้ง
พรรคทหารในรัฐธรรมนูญที่มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน รวมไปถึงกลไกอื่นทางกฎหมายหลายส่วน จะทำให้ได้รัฐบาลพลเรือนที่อ่อนแอไม่มีความเข้มแข็งจากการทำนโยบาย เพราะถูกคุมผ่านยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะมีแรงต้านจากบรรดาปีกของพรรคการเมืองที่จะเป็นคลื่นลมตลอดปี ท่ามกลางคลื่นลูกต่างๆ สุดท้ายจะนำไปสู่คลื่นลมขนาดใหญ่ที่รัฐบาลต้องเผชิญคือ วิกฤติจากคำมั่นสัญญา
อย่างที่บอกไป ท่านผู้นำได้ให้คำมั่นสัญญาในเรื่องโรดแมปสู่การเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ทั้งคำมั่นสัญญาที่โตเกียว คำมั่นสัญญาที่นิวยอร์ก และคำมั่นสัญญาล่าสุดที่กรุงวอชิงตันว่า การเลือกตั้งจะอยู่ที่ปลายปี 2561 ซึ่งสุรชาติคิดว่าผู้นำไทยมีสิทธิบิดพลิ้วคำสัญญา แต่หากเป็นจริงการบิดพลิ้วถึง 3 ครั้ง จะอันตรายในตัวเอง จะทำให้รัฐบาลไทยไม่มีความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์เวทีเศรษฐกิจและการลงทุน กลายเป็นประเทศที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ
ฉะนั้นวิกฤตต่างๆ ในปี 2561 จะเป็นปีของความท้าทาย เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่ นักวิชาการอาจจะมีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น สอดแทรกด้วยความเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่คาดหมายกันว่าน่าจะขับเคลื่อนกันอย่างมีนัยมากขึ้น เมื่อบวกเข้ากับวิกฤติศรัทธาของประชาชนทั้งที่เป็นกองแช่งและกองเชียร์ เหล่านี้คือสิ่งที่ท่านผู้นำจะต้องเผชิญ อำนาจเบ็ดเสร็จทั้งหลายอาจจะถูกงัดออกมาใช้ถี่ยิบและไม่แน่ว่ามาตรา 44 ที่ว่าแน่จะเอาอยู่หรือไม่