SPECIAL REPORT – บล.ฟินันเซีย ไซรัส

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลบวกต่อการบริโภค ภายในไม่เก …


การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลบวกต่อการบริโภค

ภายในไม่เกิน 15 ม.ค. นี้ คณะกรรมการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 3 ฝ่าย (ฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐที่มีกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ) จะมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และค่าแรงใหม่จะมีผลทันทีสิ้นเดือน ม.ค. มีการคาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้น 2-15 บาท หรือราว 5%

เรามองผลกระทบสุทธิเป็นบวกต่อบริษัทจดทะเบียนโดยรวมและต่อเศรษฐกิจ เพราะหลายธุรกิจมีการปรับตัวนับตั้งแต่มีการขึ้นค่าแรงครั้งใหญ่เป็น 300 บาททั่วประเทศเมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 40-90% ทำให้มีการลดปริมาณแรงงาน เปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องจักรมากขึ้น ยกเว้นบางธุรกิจที่ยังต้องพึ่งพาแรงงานในระดับสูงเช่น ก่อสร้าง สิ่งทอ การประมง เกษตรและอาหาร เป็นต้น แต่ค่าจ้างที่หลายธุรกิจจ่ายอยู่ก็สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

ผลด้านบวกคือการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำต้นปี 2012 การบริโภคภาคเอกชนใน 2Q12 – 2Q13 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 1% Q-Q ต่อไตรมาส เทียบกับก่อนหน้านั้นที่ขยายตัวไตรมาสละ 0.3% Q-Q ส่วน EPS growth ของตลาดในปี 2012 ที่โต 10% สูงกว่าปี 2011 ที่โตเพียง 5% ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะในปี 2012 รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% และลดเหลือ 20% ในปี 2013 ชดเชยต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ทำให้ EPS growth ปี 2013 +4%

ในปี 2017 ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นอีกเล็กน้อย 1.7-3.3% หรือ 5-10 บาทใน 69 จังหวัดจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 305 – 310 บาทต่อวัน แต่ EPS ของตลาดที่ขยายตัวเพียง 3.5% Y-Y ในงวด 9M17 น่าจะเป็นผลจากการบริโภคที่ซบเซาในช่วง 4Q16-2Q17 มากกว่าจะเป็นผลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เราคาดว่ากำไรทั้งปี 2017 จะเพิ่มขึ้น 9% และเพิ่มต่อเนื่องอีก 11% ในปี 2018

กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มเกษตรอาหารเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนได้ทั้งหมด แม้จะได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ก็จำกัด สำหรับกลุ่มก่อสร้าง ต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 15-30% ของต้นทุนรวม ทุกๆ 5% ที่ค่าแรงปรับขึ้น กระทบกำไร 1-2% ถ้าบริษัทไม่ปรับตัว แต่การประมูลงานใหม่ๆ ผู้รับเหมาได้คำนึงถึงต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นไว้แล้ว เราเห็นว่า Mega project จำนวนมากที่จะประมูลในปีนี้มีน้ำหนักมากกว่าประเด็นค่าแรง Catalyst ระยะสั้นคือการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท คาดเปิดประมูลเป็นโครงการแรกใน 1Q18 เราเลือก STEC เป็น Top Pick ราคาเป้าหมายปี 2018 ที่ 31.80 บาท

กลุ่มอาหารได้รับผลกระทบจำกัดเช่นกันเพราะอัตราค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่ (แรงงานมีทักษะสูง) และหลายบริษัททยอยหันไปใช้เครื่องจักรแทน มีเพียง TKN ที่ยังพึ่งพาแรงงานค่อนข้างสูง แต่ในกรณีที่ไม่ปรับตัวก็กระทบกำไรเพียง 3% (และกระทบราคาเป้าหมาย 1 บาท)

กลุ่มเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจำกัด ต้นทุนค่าแรงคิดเป็นเพียง 5-7% ของต้นทุนทั้งหมด ปัจจุบันค่าจ้างสูงเกินค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบจำกัดเพราะมีแนวโน้มลดจำนวนแรงงานลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันต้นทุนค่าแรงคิดเป็นเพียง 3-5% ของต้นทุนทั้งหมด

กลุ่มยานยนต์ได้รับผลกระทบจำกัด ต้นทุนแรงงานคิดเป็นเพียง 5-10% ของต้นทุนรวม การปรับขึ้นของค่าแรงราว 5% กระทบกำไรของทั้งกลุ่มเพียง 0.25-0.50% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเกือบทุกแห่งปรับตัวเพื่อลดต้นทุนและปัญหาแรงงาน เปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ในการผลิตแทนแรงงานคนมากขึ้น

กลุ่ม Media ได้รับผลกระทบจำกัด ปัจจุบันค่าจ้างสูงเกินค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้วเพราะพนักงานส่วนใหญ่เป็นระดับ Skilled และบางบริษัท เช่น MAJOR มีนโยบายควบคุมต้นทุน เช่น การใช้นักศึกษาฝึกงาน การปรับลดพนักงาน การใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เป็นต้น

Back to top button