เปิด 5 หุ้นปี 60 เลือดท่วมกระดาน! GL นำทีมราคาดิ่งเหวไม่เลิก

เปิด 5 หุ้นปี 60 เลือดท่วมกระดาน! GL นำทีมราคาดิ่งเหวไม่เลิก


ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ปี 2560 ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นโดยเห็นได้จากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 1542.94 จุด (30 ธ.ค. 59) มาอยู่ที่ระดับ 1753.71 จุด ( 29 ธ.ค.60) บวกไป 210.77 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.66%

ทั้งนี้แม้ภาวะตลาดจะออกมาสดใสและราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงและราคาทำนิวไฮต่อเนื่องหลายตัว แต่อีกด้านหนึ่งยังมีหุ้นที่ปรับตัวสวนทางตลาดและราคาทรุดลงต่อเนื่องตลอดปี 2560 โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงล้วนเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ออกมาไม่สดใส ประกอบกับมีเรื่องเอื้อฉาวเข้ามากระทบราคาหุ้นรวมทั้งแผนธุรกิจไม่เป็นตามแผนทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลกับธุรกิจและทิ้งหุ้นออกมา

ดังนั้น“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงทำการรวบรวมหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในปี 2560 มานำเสนอ โดยครั้งนี้ได้ทำการคัดเลือกหุ้นที่ปรับตัวลงแรงเกิน 50% เป็นหลัก โดยหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 5 ตัว คือ GL,PACE,AJA,SMT และ DIGI ตารางประกอบดังนี้

อันดับ 1 บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ปรับตัวลงแรง 88.12% มาอยู่ที่ระดับ 6.80 บาท (29ธ.ค.60) ลบไป 50.45 บาท จากระดับ 57.25 บาท (30 ธ.ค. 59) ราคาหุ้นปรับตัวแรงเนื่องจากความกังวลของนักลงทุนต่อการที่บริษัทได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทย่อยนี้ได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัส และสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อ หรือ “แครี่เทรดข้ามชาติ” และได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อย

แน่นอนประเด็นดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ราคาหุ้น GL ร่วงหนักตลอด1ปีที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทไม่สามารถชี้แจงข้อมูลการปล่อยกู้ได้ชัดเจน อีกทั้งช่วงที่ผ่านมามีประเด็นลบออกมากระทบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การตรวจพบปมฉาว ก.ล.ต.ญี่ปุ่นเคยสั่งปรับฐานปั่นหุ้น และโบรกเกอร์ได้ออกมาเตือนเรื่องการเข้าลงทุน

นอกจากนี้ก.ล.ต.ได้แจ้งให้ GL แก้ไขงบการเงิน แบบรายงาน 56-1 และแบบรายงาน 56-2 ให้ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริงโดยเร็ว แต่ขณะนี้  GL ยังอยู่ในช่วงการสรรหาสำนักงานสอบบัญชีที่มีความเป็นอิสระและน่าเชื่อถือเพื่อตรวจสอบพิเศษในเงินที่ให้กู้ยืมแก่ผู้กู้กลุ่มไซปรัสและผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ (Special Audit) ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา

 

อันดับ 2 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE  ปรับตัวลงแรง 82.23% มาอยู่ที่ระดับ 0.59 บาท (29 ธ.ค.60) ลบไป 2.73 บาท จากระดับ 3.32 บาท (30 ธ.ค. 59) โดยราคาหุ้นปรับตัวลงแรงนับตั้งแต่มีนักลงทุนเกิดความกังวลในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินจากการพิจารณาฐานะการเงินจากงบดุล Q1/60 มีหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี 15.3 พันล้านบาท แต่เป็นเงินเบิกเกินบัญชีและหุ้นกู้ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 4.5 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้

จากนั้นบริษัทได้ออกมาแถลงประเด็นดังกล่าว พร้อมยืนยันสถานะทางการเงินว่าแข็งแกร่งเพียงพอชำระหนี้ทั้งหมดที่มีทั้งตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) หุ้นกู้ และเงินกู้ที่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมกว่า 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท ด้วยสินทรัพย์ขนาดกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสเงินสดกว่า 5 พันล้านบาท พร้อมเตรียมแผนเพิ่มทุนเสนอขายให้กับกลุ่มธุรกิจจีน คือ บริษัท ซิติค คอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาถือหุ้นเสริมศักยภาพในระยะยาว (Strategic Partner) แต่ราคาหุ้นก็ไม่กระเตื้องขึ้นได้

เนื่องจากมี ก.ล.ต.) ให้ PACE ชี้แจงข้อมูลสืบเนื่องจากกรณีการเข้าลงทุนของกลุ่ม Partner ใน 2 บริษัทย่อย โดยในงบการเงิน Q2/60 บริษัทฯ ได้ทำข้อตกลง Consent conditions Undertaking (CCU) กับกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งมีผลให้ PACE มีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อหุ้นบุริมสิทธิบางส่วนคืนมูลค่ารวม 3.7 พันล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงอีก

ไม่เพียงเท่านั้น PACE แจ้งงบไตรมาส 3/60 ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 961.71 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 798.72 ล้านบาท อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ได้ขึ้นเครื่องหมายห้ามการซื้อขาย เหตุผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินของบริษัทสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.60

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สั่งให้บริษัทชี้แจงสมมติฐานที่ใช้ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด และให้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม PACE พยายามเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่อเนื่องโดยล่าสุดมีประเด็นด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน PACE แบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 400 ล้านหุ้น รวมทั้งนายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE ใส่เงินซื้อ 1.36 พันล้านบาทซึ่งหุ้นเพิ่มทุน RO ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่นักลงทุน

 

อันดับ 3 บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA ปรับตัวขึ้นแรง 71.88% มาอยู่ที่ระดับ 0.54 บาท (29ธ.ค.60) ลบ 1.38 บาท จากระดับ 1.92 บาท (30 ธ.ค. 59) คาดนักลงทุนขายทำกำไรหลังหุ้นปรับตัวขึ้นแรงก่อนหน้านี้ อีกทั้งพื้นฐานบริษัทไม่สดใสนับตั้งแต่ขาดทุนอย่างหนักในไตรมาส 1,2,3 ปี 2560 อีกทั้งแผนงานธุรกิจยังไม่ชัดเจนทำให้ให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

 

อันดับ 4 บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT ปรับตัวลงแรง 64.89% มาอยู่ที่ระดับ 2.44 บาท (29 ธ.ค.60) ลบ 4.51บาท จากระดับ 6.95 บาท (30 ธ.ค. 59) คาดนักลงทุนขายทำกำไรหลังเรื่องผลประกอบการปี 60 จะพลิกกลับมามีกำไร เนื่องจากบริษัทประสบผลขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557

แต่เมื่อบริษัทประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1,2,3 ปี 60 ออกมาพบว่าไม่เป็นไปตามที่คาดการทำให้นักลงทุนทยอยขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าวโดยผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนปี 2560 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 198.79 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 102.17 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้นโบรกเกอร์ยังแนะนำให้ขายพร้อมปรับประมาณการรายได้ของปี 2018 ลงเหลือ 3,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย และปรับอัตรากำไรขั้นต้นลงเหลือ 16.1% จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 24.9% เนื่องจากยอดขายสินค้าในกลุ่ม High margin ไม่เป็นไปตามคาด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ Wafer dicing และ Advance IC ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิสำหรับปี 2018 ของเราลดลงเหลือ 201 ล้านบาท ลดลง 62.6% จากประมาณการเดิม

จากการปรับประมาณการรายได้และกำไรสุทธิใหม่ จากมุมมองต่อการเติบโตในอนาคตของ SMT ที่ลดลงมากราจึงเปลี่ยนมาใช้ราคาเป้าหมายในปี 2018 ที่ 3.60 บาท (จากเดิมราคาเป้าหมายปี 2017 อยู่ที่ 5.50 บาท โดยยังคงอิง PE ที่ 15 เท่า) คงคำแนะนำ “ขาย”

 

อันดับ 5  บริษัท ดิจิตอลเทค แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ DIGI ปรับตัวลงแรง 57.06% มาอยู่ที่ระดับ 0.73 บาท (29ธ.ค.60) ลบ 0.97 บาท จากระดับ 1.70 บาท (30 ธ.ค. 59) คาดนักลงทุนขายทำกำไรหลังหุ้นปรับตัวขึ้นแรงก่อนหน้านี้ ประกอบกับหุ้นพื้นฐานไม่สดใสเห็นได้จากขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบันและไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนจึงเป็นเหตุให้นักลงเทขายหุ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button