พาราสาวะถี
หลังประกาศตัวเป็นนักการเมือง ดูเหมือนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแสดงออกให้เห็นถึงความเข้าใจการเมืองอย่างถ่องแท้ วันที่เด็กเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลก็บอกว่าอย่ารังเกียจการเมือง พร้อมสอนวิธีการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศ ล่าสุด ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. “ผมเป็นได้หมด วันนี้ต้องเป็นคนของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม หรือจะเป็นอะไรที่ทุกคนอยากตั้งให้”
อรชุน
หลังประกาศตัวเป็นนักการเมือง ดูเหมือนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแสดงออกให้เห็นถึงความเข้าใจการเมืองอย่างถ่องแท้ วันที่เด็กเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลก็บอกว่าอย่ารังเกียจการเมือง พร้อมสอนวิธีการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศ ล่าสุด ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. “ผมเป็นได้หมด วันนี้ต้องเป็นคนของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม หรือจะเป็นอะไรที่ทุกคนอยากตั้งให้”
สิ่งที่สัมผัสได้และทำให้เกิดการตีความคือ คำพูดของท่านผู้นำถูกมองว่าเป็นการปูทางเพื่อตัวเองจะได้กลับมาในฐานะนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้งหรือเปล่า แม้ทุกครั้งจะมีการออกตัวก็ตาม เช่นการที่บอกว่าไม่ว่าใครก็ตามที่มายืนอยู่ตรงนี้ จะมาด้วยวิธีใดก็ตาม ขอให้ดูเจตนารมณ์ความมุ่งมั่น ตนพยายามที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง
หากใครที่คิดมุ่งมั่นอย่างนั้นก็เหมาะสมที่จะมาบริหารงานในอนาคตต่อไปที่ไม่ใช่ตน ตนพูดถึงการเมืองต่างๆ ในวันหน้าอย่าเอาตนไปเกี่ยวข้องอีก ทุกคนที่เขามุ่งมั่นจะเข้ามาแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองก็ดูแลสนับสนุนเขาไป มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนที่ไม่ดีเราก็ต้องรู้ว่าเขาไม่ดีอย่างไร อาจจะดีกับบางกลุ่ม ไม่ดีกับบางกลุ่มทำนองนี้ ก็ไปเลือกกันให้ดีเป็นหน้าที่ของท่านไม่ใช่ของตน
การพูดในลักษณะออกตัวต้องยอมรับว่ามันง่าย เหมือนกับที่บิ๊กตู่เคยพูดเองว่าจะไม่ทำการรัฐประหารแล้วผลเป็นอย่างไร อยู่ในอำนาจมาจนจะครบ 4 ปีอยู่แล้ว กรณีนี้ก็เช่นกัน หากยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของคนที่จะเลือกตั้งว่าจะเลือกใคร และใครที่เป็นคนดีให้เข้ามาบริหารประเทศ ตัวคนที่ถูกมองว่าจะสืบทอดอำนาจก็ให้ประกาศอย่างแข็งขันหรือจะถึงขั้นสาบานก็ได้ว่า จะไม่รับตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่มีเรื่องการเสียสัตย์เพื่อชาติอย่างแน่นอน
เมื่อไม่ยืนยันและไม่ประกาศปิดทางตัวเอง ทุกท่วงท่าที่ท่านเดินย่อมเต็มไปด้วยข้อกังขาและถูกจับตามองอย่างไม่ลดละ ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหากเกิดขึ้นจริงในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ อยากเห็นว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผลของการเลือกตั้งที่ออกมาจะนำพาประเทศชาติก้าวไปในทิศทางใด
ท่ามกลางความสงสัยเหล่านั้น ข้อเขียนของ “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “ทำไมพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายในวันที่ 6 มกราคม 2544” มีมุมมองที่มีต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอย่างน่าสนใจ การเลือกตั้งใหญ่ที่เราอยากให้มาถึงปลายปีนี้ ไม่มีใครรู้ว่าผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะเปลี่ยนระบบนิเวศของการเลือกตั้งไปมากขนาดไหน
ไม่มีใครรู้ว่า Social media อย่าง Facebook, Twitter, Instagram จะส่งผลในการรับรู้ข่าวสารการเลือกตั้ง แล้วมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนมากมายเหมือนใน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ หรือไม่
ไม่มีใครรู้ว่า คนที่เคยไปเลือกตั้งเมื่อ 7 ปีที่แล้วยังคิดเหมือนเดิมไหม และคนที่อายุ 11-17 ปีที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเมื่อ 7 ปีที่แล้วอีกหลายล้านคน คิดอย่างไรกับอนาคตของเขาเมื่อไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง
แต่สิ่งที่หมอเลี้ยบบอกว่ารู้แน่คือ แนวทาง วิธีคิด วิธีบริหารจัดการแบบเป๊ะๆ อย่างที่พรรคไทยรักไทยเคยเริ่มไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และพรรคการเมืองอื่นทำตามอย่าง ไม่เพียงพอแล้วในวันนี้ วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก พรรคการเมืองทุกพรรคต้องทำมากกว่านั้น ต้องมีนโยบายที่รองรับอนาคตของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่น
พรรคการเมืองต้องดึงดูดคนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีที่เก่งกาจสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กฎหมาย รัฐศาสตร์ การจัดการ จำนวนมากมายในสังคมนี้เข้ามาทำงานการเมือง เข้ามาร่วมรับผิดชอบ คิด และขับเคลื่อนนโยบายที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก พรรคการเมืองต้องมี Platform ของการจัดการแบบใหม่ที่ใช้ศักยภาพของ Social Network ได้เต็มที่ในทุกระดับ ทั้งกระบวนการจัดการภายใน การทำนโยบาย การรณรงค์หาเสียง และการระดมทุน
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราพูดกันว่า Differentiate or Die เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราพูดกันว่า Innovate or Die วันนี้ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองต้อง Disrupt or Die ถือเป็นการอ่านสถานการณ์ในประสาคนที่ผ่านการเมืองมาอย่างลึกซึ้งถึงแก่น แต่ในบริบทที่มีคนดีพยายามจะทำให้การเมืองหรือประชาธิปไตยของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ไม่ใช่แนวทางสากล คงต้องคิดกันหนักว่าบทสรุปที่จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
หรือจะเป็นไปอย่างที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญไทยบนสังคมระยะเปลี่ยนผ่านว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกร่างและประกาศใช้ท่ามกลางระบอบอำนาจนิยมที่พลัดหลงห้วงเวลามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง เนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ถูกโต้แย้งอย่างกว้างขวางทั้งในด้านของการออกแบบสถาบันทางการเมือง ด้วยการทำให้สถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ความต้องการที่จะให้อุดมคติ ความเชื่อ ความหวัง ของคนรุ่นหนึ่ง (ที่กำลังจะจากไป) อยู่ปกครองคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ต่อไป คำถามสำคัญก็คือว่าคนรุ่นที่กำลังมีอำนาจอยู่นี้เท่าทันกับโลกที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน และรวมทั้งมีความกล้าหาญพอที่จะเห็นปรากฏการณ์ที่ดารดาษอยู่เพียงใด มีสักกี่คนที่นั่งวางแผนการปฏิรูปประเทศกันอย่างขะมักเขม้นในห้วงเวลานี้สามารถเปิดใช้ facebook หรือ line ด้วยตัวเองได้บ้าง
มีใครในผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากในข้อพิพาทที่เกี่ยวกับคณะรัฐประหารในหลากหลายรูปแบบ ความคาดหวังว่าจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำรงอยู่ไปอย่างยาวนาน ขณะที่มีเนื้อหาซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไพศาล และไม่มีช่องทางที่จะเปิดให้ระบบทำการแก้ไขได้ในตัวมันเองด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม
เมื่อสิ่งที่เห็นและเป็นไปมีลักษณะเช่นนี้ ย่อมมีผลให้ความตึงเครียดทางสังคมการเมืองค่อยๆ สะสมเพิ่มมากขึ้น อนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงสามารถคาดเดาได้โดยไม่ยากลำบากนัก ความไม่ชัดเจนอาจเหลือเพียงว่า มันจะจบลงอย่างไรและเมื่อใด เท่านั้นเอง นี่อาจเป็นสิ่งที่คนทั่วไปหรือนักการเมืองในระบบมองเห็น แต่คนที่เป็นนักการเมืองจากการรัฐประหารน่าจะไม่ได้คิดและมองว่ามันจะเป็นเช่นนั้น