พาราสาวะถี
ในที่สุดสนช.ก็ล่ารายชื่อได้ครบ 25 คนเพื่อเสนอร่างให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ส่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือร่างกฎหมายป.ป.ช. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในกรณีออกบทเฉพาะกาลมาตรา 178 ต่ออายุให้กรรมการป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้
อรชุน
ในที่สุดสนช.ก็ล่ารายชื่อได้ครบ 25 คนเพื่อเสนอร่างให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ส่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือร่างกฎหมายป.ป.ช. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในกรณีออกบทเฉพาะกาลมาตรา 178 ต่ออายุให้กรรมการป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้
การดำเนินการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากจดหมายของกรธ. ที่แสดงข้อกังวลส่งมาให้สนช.พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า การเขียนบทเฉพาะกาลดังกล่าวเป็นการกระทำที่ส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกรธ.จึงไม่ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาประเด็นนี้ เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของการถกเถียงในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่มีคนแสดงความเป็นห่วงว่า ข้อกังวลของกรธ.และการดำเนินการของสนช.ที่ล่ารายชื่อ จะเป็นการฟ้องซ้ำกับกรณีที่มีผู้ยื่นให้ตีความคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่นั้น คำยืนยันของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญน่าจะกระจ่างชัด จากคำวินิจฉัยเป็นการพูดถึงเรื่องคุณสมบัติเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องลักษณะต้องห้ามแต่อย่างใด การที่สนช.ไปยกเว้นลักษณะต้องห้ามเท่ากับเป็นการยกเว้นรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่
เล่นส่งสัญญาณกันมาอย่างนี้ มองได้ว่าน่าจะมีการปรับแก้ร่างกฎหมายฉบับนี้แน่นอน โดยรอเพียงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะเดียวกันก็ยังมีความคลางแคลงใจของคนจำนวนหนึ่งอยู่เหมือนกันว่า แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรือ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้อยู่ต่อโดยการยกเว้นเรื่องคุณสมบัติเช่นกัน เกรงว่ากระบวนการพิจารณาที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน
นั่นเป็นในมุมที่มีชัยและกรธ.ต้องออกโรง เพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วในอนาคตหากมีคนมายื่นร้อง ทั้งๆ ที่กฎหมายมีช่องโหว่ จะทำให้ตัวเองและคณะเสียหาย แต่เมื่อถึงเวลานั้นหากมีการผิดจริง ก็คงจะไปถามหาความรับผิดชอบจากใครไม่ได้ ถือเป็นการทำงานแบบไทยสไตล์ ในยามที่มีอำนาจก็เดินกันให้สุดลิ่มทิ่มประตู มิหนำซ้ำ บางพวกยังมีการนิรโทษกรรมให้กับตัวเองทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตไว้แล้ว ทุกอย่างจึงไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม
อย่างไรก็ตาม มีคนสงสัยว่าการส่งซิกให้สนช.เที่ยวนี้เพื่อกระทุ้งไปยังเรื่องของป.ป.ช.โดยตรง ในจังหวะที่ป.ป.ช.กำลังพิจารณาประเด็นร้อนนาฬิกาหรูและแหวนเพชร เป็นการบีบเพื่อแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างหรือเปล่า ต้องไม่ลืมว่าภาวะ “สั่งได้ทุกอย่าง” หากใครคิดจะแข็งข้อหรือแสดงความเป็นคนดี ตงฉิน อาจจะไม่มีที่ยืนหรือได้อยู่ในอำนาจต่อไปก็ได้
ความจริงข้อทักท้วงเรื่องของป.ป.ช.นั้น มีมาตั้งแต่กระบวนการพิจารณาและผ่านร่างกฎหมายของสนช.แล้ว แต่เหตุใดจึงไม่มีการแสดงความกังวลใดๆ จากฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และดูเหมือนจะเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้นำในการร่างกฎหมายสูงสุดเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากกฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสนช. ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย แต่ฝ่ายผู้ยกร่างไม่เคยเห็นเป็นเช่นนั้น
มันน่าแปลกใจที่นักกฎหมายและผู้รู้ทั้งหลายแหล่ที่ไปนั่งหัวโด่เขียนกฎหมายเพื่อใช้กับคนทั้งประเทศ กลับมองไม่เห็นหรือตั้งใจจะละเว้นหลิ่วตาข้างหนึ่ง เพราะมีอะไรมาปิดทับ เพราะกรณีของป.ป.ช.จะด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามหรือความจำเป็นใดก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้วก็ไม่ควรจะมีข้อยกเว้น เหมือนดังเช่นที่กระทำกับกกต.และกสม.
ยิ่งมีกรณีนาฬิกาหรู มีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนถูกสอบกับประธานคณะกรรมการผู้ตรวจสอบ ยิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงหนักข้อเข้าไปอีก ตามที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ตั้งข้อสังเกต คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ใช้กับกรรมการป.ป.ช.ชุดนี้ เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับป.ป.ช.ซึ่งอิงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงอ่อนกว่าที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างมาก
ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้คือ ถ้าเป็นข้าราชการประจำจะต้องเคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และถ้าเคยเป็นข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี กรรมการบางคนขาดคุณสมบัติ บางคนเข้าลักษณะต้องห้าม โดยเฉพาะประธานป.ป.ช.ขาดทั้งคุณสมบัติและเข้าลักษณะต้องห้ามด้วย จึงไม่สามารถเป็นกรรมการป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่ากรรมการป.ป.ช.ชุดที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับจะอยู่ในตำแหน่งอีกนานเท่าใดให้กำหนดโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพ.ร.ป. ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสนช.จะใช้พ.ร.ป.ต่ออายุให้กรรมการป.ป.ช.ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือทั้งสองอย่างได้หรือไม่
ดูจากเจตนาของการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ที่ต่อมาเรียกกันว่าเป็นคุณสมบัติขั้นเทพ กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้เข้มงวดเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาล อย่างที่โอ้อวดกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง รัฐธรรมนูญนี้ย่อมมีเจตนาให้ใช้เรื่องเหล่านี้ทันที ไม่ใช่อีก 7-8 ปีข้างหน้า
ด้วยเหตุนี้ จาตุรนต์จึงเตือนอย่างน่ารับฟังว่า หากป.ป.ช.ชุดนี้ยังทำหน้าที่ต่อไป เท่ากับเรากำลังมีป.ป.ช.ที่ตั้งโดยการแทรกแซงของคสช.จนได้คนของคสช.มาคุมป.ป.ช. ขณะที่คสช.กำลังทำทุกอย่างเพื่อให้พวกตนได้อยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง ปัญหาคือถ้าคสช.ทำสำเร็จ ตั้งรัฐบาลนายกฯคนนอกได้ ใครจะตรวจสอบรัฐบาล จะไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นกันใหญ่หรือ
นี่หรือคือรัฐธรรมนูญปราบโกง นี่หรือคือที่คสช.บอกว่าเข้ามาเพื่อปราบคอร์รัปชั่น หากปล่อยให้ป.ป.ช.ชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไป ไม่แก้กฎหมายฉบับที่มีปัญหานั้นเสียให้ถูกต้องคสช.เตรียมพังทั้งระบบได้เลย หากมองเจตนาของมีชัยจากข้อห่วงใยของจาตุรนต์ก็อาจจะเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม เป็นการปกป้องท่านผู้นำที่ไม่ตัดทางตัวเองกลับมาเป็นนายกฯคนนอก และไม่ได้มีเป้าประสงค์แฝงต่อการตรวจสอบปมนาฬิกาหรูแต่อย่างใด