พาราสาวะถี

เอกสารขนาดเอสี่ 12 หน้าเขียนด้วยลายมือของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกแจกให้กับคณะรัฐมนตรีในการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จะเรียกว่าคู่มือปฏิบัติการณ์นับถอยหลังสู่โหมดเลือกตั้งก็ว่าได้ แต่สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ส่วนที่มีเนื้อหาระบุ"สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ สื่อ นักการเมืองที่มีปัญหา พยายามจะล้มรัฐบาลและคสช.ให้ได้ในช่วงนี้ กฎหมาย คำสั่งทุกฉบับจะแก้ไขให้กลับไปที่เดิมและข้าราชการไม่สุจริตร่วมมือ"


อรชุน

เอกสารขนาดเอสี่ 12 หน้าเขียนด้วยลายมือของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกแจกให้กับคณะรัฐมนตรีในการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จะเรียกว่าคู่มือปฏิบัติการณ์นับถอยหลังสู่โหมดเลือกตั้งก็ว่าได้ แต่สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ส่วนที่มีเนื้อหาระบุ“สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ สื่อ นักการเมืองที่มีปัญหา พยายามจะล้มรัฐบาลและคสช.ให้ได้ในช่วงนี้ กฎหมาย คำสั่งทุกฉบับจะแก้ไขให้กลับไปที่เดิมและข้าราชการไม่สุจริตร่วมมือ”

คำถามที่ตามมาทันทีคือ ในบริบทที่มีกฎหมายพิเศษยั้วเยี้ยไปหมดพ่วงด้วยมาตรายาวิเศษอย่างม.44 ถามว่าจะมีใครหน้าไหนกล้าหือกับผู้มีอำนาจ ขณะเดียวกัน ด้วยกลไกต่างๆที่ถูกวางกับดักไว้โดยเนติบริกรชั้นครูและมือกฎหมายชั้นเซียน ถามว่าการจะรุกคืบไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงนั้น ทำได้ง่ายๆอย่างนั้นเลยหรือ นี่คือโจทย์ที่หลายคนสงสัยว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ท่านผู้นำหวั่นไหว

หรือเป็นเพราะการข่าวที่รายงานมายังท่านผู้นำทำให้เชื่อเช่นนั้น พอย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของ พลเอกวัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ยอมรับว่าพบมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นจากหลายๆทาง ทั้งนักการเมืองปัจจุบันและคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองเพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ซึ่งบทสรุปของเลขาฯสมช.ก็คือ จากภาพรวมไม่เชื่อว่าจะสามารถล้มรัฐบาลและคสช.ได้

นี่เป็นความจริง เพราะด้วยฐานกำลังและกฎหมายเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ถือไว้อยู่ในมือ ถามว่ามีเหตุอะไรที่จะทำให้เสถียรภาพของท่านผู้นำและคณะสั่นคลอนอย่างนั้นหรือ ยิ่งสิ่งที่ไปกล่าวหาว่ามีข้าราชการไม่สุจริตร่วมมือ ปัญหาที่จะตามมาคือ ผู้มีอำนาจแยกแยะข้าราชการทั้งหลายอย่างไรว่าเป็นคนดีและคนเลว คนที่ตัวเองแต่งตั้งถือว่าเป็นฝ่ายสุจริต และพวกที่ถูกย้ายหรือไม่ให้ความร่วมมือถือเป็นพวกทุจริตแล้วเช่นนั้นหรือ

หากยึดถือตรรกะเช่นนี้ บอกได้คำเดียวว่าตื้นเขินและวิบัติเป็นอย่างมากสำหรับคนที่เป็นผู้นำ ความจริงถ้าจะพูดว่า ข้าราชการที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกมากที่สุด น่าจะเป็นองค์กรที่ท่านผู้นำเคยสังกัดและนั่งเป็นผู้บังคับบัญชานั่นแหละ คนที่ไม่ใช่รุ่นหรือสายบังคับบัญชาเดียวกัน ถูกเขี่ยให้พ้นเส้นทางจนเกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจและไม่พอใจไปในคราวเดียวกันมาเป็นเวลาหลายปีดีดัก

จากเอกสารดังกล่าวนั้น พอจะทำให้เห็นได้แล้วว่าเหตุใดจึงมีประเด็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จึงได้มีมติเสียงข้างมากให้ยืดเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปอีก 90 วันหลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องพรรคทหารยังไม่พร้อมนั่นประการหนึ่ง แต่จุดสำคัญอยู่ที่ความไม่พร้อมของรัฐบาลทหารมากกว่า

นานวันในแง่ผลงานที่ยังมองไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน  เรื่องของคะแนนนิยมยิ่งไม่ต้องพูดถึง หากยึดเอาผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งกระโน้นเป็นที่ตั้ง ซึ่งมีคนชื่นชอบท่านผู้นำถึงร้อยละ 99.5 วันนี้ไม่ทราบว่าถ้ากลับไปถามประชาชนกลุ่มเดิม คะแนนนิยมยังจะสูงลิบเหมือนเดิมหรือเปล่า

คำตอบของมันสะท้อนผ่านการยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอย่างเด่นชัด เพราะคงไม่มีใครที่บ้าไม่ยอมจัดการเลือกตั้งในขณะที่คะแนนนิยมของตัวเองยังสูงลิ่ว ความชมชอบที่มีต่อหัวหน้าคสช. ล่าสุด สะท้อนผ่านผลสำรวจความคิดเห็นของกรุงเทพโพลล์ จากที่เคยบอกว่าถ้ามีการเลือกตั้งจะเลือกพลเอกประยุทธ์ถึงกว่าร้อยละ 52 ถ้ามีการเลือกตั้งในวันนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม แต่ผลการสำรวจในเดือนนี้กลับลดเหลือร้อยละ 36.8

ส่วนของเสียงที่ไม่สนับสนุนนั้นถือว่าสูสีอยู่ที่ร้อยละ 34.8 ขณะที่ร้อยละ 28.4 งดออกเสียง แม้จะเป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนหนึ่งแต่ก็น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงในแง่ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ การยืดโรดแมปออกไปโดยการยืมมือสนช. จึงไม่ต้องสงสัยว่ามีใบสั่งหรือไม่ เพราะมันคงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ในฐานะที่สภาเผด็จการถูกตั้งมากับมือของคณะรัฐประหาร จะทำงานนอกเหนือคำสั่งได้อย่างไร ตลอดเวลาเกือบ 4 ปีก็จะเห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ที่อยู่ในเรือแป๊ะและฟังคำสั่งของแป๊ะเป็นอย่างดี

คงไม่มีการประชุมสภาที่ใดอีกแล้ว ที่ไม่มีเสียงคัดค้านหรือแม้แต่คิดจะอภิปรายฝ่ายบริหารทั้งๆที่มีเรื่องร้อนซึ่งประชาชนให้ความสนใจ นอกจากจะไม่ซักฟอกหรือแสดงความเห็นแล้ว ที่แย่ไปกว่าคือมีการชื่นชม ยกย่อง ผู้นำประเทศผ่านรัฐสภาอันทรงเกียรติอย่างออกนอกหน้าอีกต่างหาก ส่วนใครที่หวังจะเห็นบทบาทการคัดค้านจากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างกรธ.ต่อประเด็นดังกล่าวก็เลิกคิดไปได้เลย

เนื่องจาก อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.ยืนยันว่าการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายนั้นสามารถทำได้ จะเพิ่มเวลาอีก 120 วัน 180 วัน หรือ 1 ปี แล้วค่อยมีผลก็ยังได้ บางกรณีระบุให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก็เคยมี นี่ไงที่บอกมาโดยตลอดการแวดล้อมไปด้วยเนติบริกรชั้นครู เรื่องพลิกแพลงหรือใช้เหลี่ยมคูทางกฎหมายนั้นไม่มีใครจับได้ไล่ทัน

อย่างไรก็ตาม อุดมก็ยังยอมรับความเป็นจริงไม่ได้อ้างแบบข้างๆคูๆเหมือนอย่างที่กมธ.ของสนช.พากันออกมาปฏิเสธ เพราะเจ้าตัวยอมรับว่าการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุผลของฝ่ายการเมืองที่บริหารอยู่ ว่ามีเหตุผลอะไรที่จำเป็นต้องขยับเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป ซึ่งตรงนี้กรธ. คงตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้ดูแลสถานการณ์บ้านเมือง ความพร้อมต่างๆเป็นเรื่องของรัฐบาล และคนที่ใช้กฎหมายเหล่านี้

ไม่ได้บอกว่ามีใบสั่งหรือรับใบสั่ง แต่ความต้องการหรือจำเป็นของฝ่ายบริหารที่ดูแลสถานการณ์บ้านเมือง ก็เป็นการยอมรับว่าการยืดเวลาการใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันนั้น เป็นความประสงค์ดีของสนช.ต่อพรรคการเมือง หรือความต้องการบนความไม่พร้อมของผู้มีอำนาจกันแน่ ส่วนการเลื่อนเวลาออกเรื่อยๆ โดยใช้ลูกเล่นทางกฎหมายเช่นนั้น กระทบต่อความน่าเชื่อถือของท่านผู้นำหรือไม่

อย่างที่อุดมว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผลงานของเขาถ้ามีผลงานดีประชาชนคงไม่ต่อว่าอะไร แต่ถ้าผลงานไม่ดีก็อาจเป็นภาพลบได้ สิ่งที่กรธ.รายนี้ไม่ได้พูดแต่เป็นอันรู้กันคือ แม้จะไม่พอใจอย่างไรก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องใดๆได้ มองกันตาปริบๆอย่างเดียว แล้วก็รอฟังว่าท่านผู้นำจะยัดเยียดเรื่องอะไรแล้วบอกว่าเป็นผลงานของรัฐบาลคสช. ทำกันได้แค่นี้จริงๆ

Back to top button