พาราสาวะถี
น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีข่าวเด็ดอะไรผุดมากลบกระแสประเด็นยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งออกไป 90 วันเท่ากับเลื่อนเลือกตั้งในปีนี้ออกไปด้วยปริยาย และอีกข่าวที่ร้อน-แรงดีไม่มีตกนั่นก็คือ นาฬิกาหรูของ “มนุษย์พันธุ์ยืม” ตามคำกล่าวของ ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ยกให้เป็นฉายาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของประเด็นแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน เพื่อน (บางคน) ตายแล้ว
อรชุน
น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีข่าวเด็ดอะไรผุดมากลบกระแสประเด็นยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งออกไป 90 วันเท่ากับเลื่อนเลือกตั้งในปีนี้ออกไปด้วยปริยาย และอีกข่าวที่ร้อน-แรงดีไม่มีตกนั่นก็คือ นาฬิกาหรูของ “มนุษย์พันธุ์ยืม” ตามคำกล่าวของ ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ยกให้เป็นฉายาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของประเด็นแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน เพื่อน (บางคน) ตายแล้ว
เหตุที่จั่วหัวไว้ว่าต้องหาอะไรมากลบ ไม่ใช่เพราะปลอดประสพตั้งฉายามนุษย์พันธุ์ยืม หากแต่การทอดระยะเวลามาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้ก็ยังไม่เงียบเสียที มิหนำซ้ำ ยังดูเหมือนว่าจะกระแสแรงขึ้นมาอีก โดยพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์แสดงสปิริตด้วยการลาออก ซึ่งเสียงเรียกร้องนั้นก็ใช่ใครอื่นไกลล้วนแต่เป็นคนกันเองหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “กองหนุน” ของรัฐบาลคสช.นั่นเอง
การออกมาถามหาความรับผิดชอบจากพี่ใหญ่ ไม่ได้มีเหตุมาจากความไม่ชอบเป็นการส่วนตัว หากแต่เป็นความหวังดีที่ต้องการถอนฟืนออกจากไฟ ที่ไม่ต้องการให้ภาพด้านลบไปกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีงามของน้องเล็กที่นั่งเป็นผู้นำ เพราะขืนดันทุรังกันไปอย่างนี้บรรดากองทุนที่เหลือน้อยเต็มทีก็จะหมดไปเหมือนอย่างที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยว่าไว้
ต่อให้เจตนาดีอย่างไร แต่กลับพบว่าไม่ดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับกรณีที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ นั่นย่อมหนีไม่พ้นข้อครหาว่าสมคบคิด หรือให้ท้ายผู้ที่มีภาพความไม่โปร่งใสอยู่ร่วมรัฐนาวาคสช.นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เรื่องมนุษย์พันธุ์ยืมที่ปลอดประสพหยิบมาตีเพื่ออธิบายเหตุผลด้านหนึ่งคือ คนระดับนี้ทำไมจึงทำตัวเช่นนี้หรือพูดอีกนัยคือทำไมหาทางลงให้กับตัวเองด้วยเหตุผลที่ใครฟังแล้วก็พากันส่ายหน้า
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้นำสิ่งที่ปลอดประสพสรุปตบท้ายถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องขีดเส้นใต้ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ไม่ทราบเลยหรือว่าสังคมเจ็บปวดและเสียดแทงแค่ไหน คำว่าลดราวาศอกที่ท่านร้องขอแปลว่าอะไร และที่พูดบ่อยเหลือเกินว่าคนดีสังคมดีนั้น เป็นแค่วาทกรรมให้ตัวเองถูกมองดูดีเท่านั้นหรือ ขณะนี้ประเทศไทยได้ถูกเผด็จการปฏิวัติมายืมสิทธิ เสรีภาพและความสุขของประชาชนเจ้าของประเทศไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่พึงระวังก็คือ วันเวลาจะพิสูจน์ว่ากลุ่มมนุษย์พันธุ์ยืมนี้ไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างถาวรเป็นแน่
ในอีกแง่สื่อต่างชาติก็พร้อมใจกันนำเสนอข่าวนี้ โดยเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เดลี่ เมล์ จากอังกฤษถึงกับนำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง “นายพลโรเล็กซ์ : โลกออนไลน์แฉผู้นำหมายเลข 2 ของรัฐบาลทหารประเทศไทยกับภาพคู่นาฬิกา 25 เรือนมูลค่ารวม 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557” ซึ่งหลังจากปรากฎรายงานดังกล่าว เว็บไซต์ของสื่อดังกล่าวก็ถูกบล็อกการเข้าถึงจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีของไทยโดยทันที
ทั้งๆ ที่โดยเนื้อหาของรายงานชิ้นดังกล่าวไม่ได้มีอะไรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือเสถียรภาพของรัฐบาลแม้แต่น้อย สิ่งที่เด่นชัดคือการนำเสนอภาพนาฬิกาทั้ง 25 เรือนของมนุษย์พันธุ์ยืมตามที่เพจ ซีเอสไอ แอลเอ นำเสนอเท่านั้น สิ่งที่พอจะเป็นประเด็นทำให้ผู้มีอำนาจไม่สบายใจ น่าจะเป็นสิ่งที่สื่อดังกล่าวระบุว่า พลเอกประยุทธ์ได้พยายามเปลี่ยนตนเองจากนายพลที่มีมาดเข้มแข็งเมื่อครั้งนำกองทัพทำรัฐประหาร มาเป็นนักการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปลายปี 2561
แต่ประเด็นนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร กลายเป็นเรื่องกวนใจทั้งต่อรัฐบาลและคสช. รวมถึงบรรดาผู้สนับสนุน ขณะที่กลุ่มการเมืองต่างๆ ในไทยซึ่งขัดแย้งกันมาตลอด ต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันต่อปมนาฬิกาหรู ก่อนที่จะตบท้าย คสช.ซึ่งมีพลเอกประวิตรเป็นบุคคลสำคัญอยู่ด้วย ได้ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยอ้างเหตุผลต้องการขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น แต่สุดท้ายกลับต้องมาประสบปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับนาฬิกาหรูนี้เสียเอง
อย่างหนึ่งซึ่งรายงานดังกล่าวของเดลี่ เมล์ สรุปได้ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและล้อไปกับผลโพลเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการชี้ว่า ปฏิกิริยาที่ประชาชนมีต่อเรื่องนี้เป็นการสะท้อนว่าประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายการปกครองประเทศโดยคสช. และต้องการเห็นการเลือกตั้งเสียที เสียงที่แสดงผ่านกรุงเทพโพลเรื่องการอยากได้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี
แต่ก็อีกนั่นล่ะ ด้วยวิธีการปกครองและการใช้มือไม้ของเนติบริกรที่รายล้อมทำให้ผู้มีอำนาจเองสามารถพลิกพลิ้วได้ตลอดเวลา เห็นได้ชัดจากกรณียืมมือกรรมาธิการของสนช.ในการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ออกไป ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงกระบวนการในการตรวจสอบสิ่งที่สงสัยว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น มันจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสหรือไม่
ความเห็นของ จาตุรนต์ ฉายแสง ผ่านข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวล่าสุดน่าจะเป็นการอธิบายภาพที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี 3 ปีกว่าภายใต้การปกครองของคสช. ระบบในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้แท้จริงแล้ว ในระบบนี้ไม่มีองค์กรอิสระ หากแต่เป็นระบบที่คสช.กำกับควบคุมได้ หรือเรียกได้ว่ารวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของคสช.อย่างสมบูรณ์ ระบบนี้อยู่ในสภาพที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติ สื่อมวลชนและประชาชน
ภายใต้ระบบที่สังคมจะสามารถตรวจสอบการทำงานของคสช.และรัฐบาลได้อย่างจำกัดมากนี้ แม้จะมีข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้นๆ แต่ก็ไม่มีใครทราบว่า แท้จริงแล้วมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากหรือน้อยเพียงใด สังคมจะได้รับรู้ความจริงกันก็ต่อเมื่อมีระบบในการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ดีและมีประสิทธิภาพ และต่อเมื่อประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วเท่านั้น
แล้วเมื่อไหร่จึงจะก้าวไปถึงจุดนั้น บทสรุปของจาตุรนต์เป็นคำตอบ ระบบที่การตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทำได้อย่างจำกัดนี้ จะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่ คสช.ยังอยู่ในอำนาจ แต่บางทีอาจจะนานกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้วางกลไกไว้ แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน กฎของความเสื่อมบอกไว้ว่าสนิมย่อมเกิดแต่เนื้อในตน
บางทีข้อกังวลของจาตุรนต์อาจจะปรากฏภาพให้เห็นจากถ้อยแถลงของ วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช.เมื่อวานต่อกรณีนาฬิกาหรู ไม่มีอะไรเซอร์ไพร์สอย่างที่คุยโว เพราะการที่ประธานป.ป.ช.ไม่ร่วมการพิจารณาด้วยมันก็สมควรแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นการรีบบอกว่านาฬิกาไม่ใช่ของบิ๊กป้อมก็ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินกับป.ป.ช. ก็น่าที่จะพอเห็นบทสรุปที่รออยู่ข้างหน้ากันแล้ว มันเริ่มเข้าเค้ายิ่งถ้าไม่อธิบายว่านาฬิกาทั้งหมดเป็นของใครและผลตรวจสอบเป็นอย่างไร หากเป็นเช่นนั้นสมควรที่จะยุบองค์กรนี้ทิ้งไปได้แล้ว