ส่อง 13 หุ้นเสี่ยงเจอผลกระทบเหตุต้นทุน Q2 พุ่ง หลังกระทรวงแรงงานขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
เปิดชื่อ 13 หุ้นเสี่ยงเจอผลกระทบหลังกระทรวงแรงงานขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หวั่นต้นทุนตั้งแต่ Q2/61 พุ่งฉุดรายได้ลดฮวบ!
สืบเนื่องจากกรณีที่กระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด โดยปรับตั้งแต่ 5-22 บาท แบ่งเป็นทั้งหมด 7 ระดับ ตามสภาพความเจริญทางเศรษฐกิจ
โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นสูงสุดคือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง จำนวน 330 รองลงมาคือ 325 บาท คือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 เม.ย.2561 นี้ทันที
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเกษตร และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ในแง่ของต้นทุนการจ้างพนักงาน ซึ่งจะเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้นำบทวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ที่รวมรวมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย เป็น STA กระทบมากสุด 3.9% รองลงมาคือ TU, BR, CPF, TFG, GFPT, KSL, SVI ,HANA, DELTA , KCE, STEC, UNIQ และ CK
โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลการเจรจาขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศมีข้อสรุปคือ จากเดิมที่อยู่ในช่วงวันละ 300-310 บาท/วัน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ส่วนค่าแรงใหม่เพิ่มขึ้น 8-22 บาท ช่วงวันละ 308-330 บาท แบ่งเป็น 7 กลุ่ม) ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติสัปดาห์หน้า 23 ม.ค. และจะมีผล 1 เม.ย.2561 ตามพื้นที่หลักๆ เรียงจากมากไปน้อยคือ
1.กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจ EEC คือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ปรับขึ้นราว 6.45%
2.กรุงเทพฯและปริมณฑล 5 จังหวัด นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปรับขึ้นราว 4.83%
3.จังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดรอง เช่น สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี อยุธยา ขอนแก่น สงขลา ปรับขึ้นราว 3.9%
4.ส่วนจังหวัดที่ปรับขึ้นน้อยสุดคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ปรับขึ้นราว 2.67%
โดยสรุปค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศของใหม่จะอยู่ที่ 315.97 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 305.44 บาท หรือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.45% จากค่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังใกล้เคียงกับที่เคยนำเสนอก่อนหน้า โดยนักวิเคราะห์ ASPS ใช้สมมติฐานที่ 5% ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการไม่มากนัก คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร คาดว่าจะกระทบกำไรสุทธิของกลุ่ม 1.4% แยกเป็น STA กระทบมากสุด 3.9% รองลงมาคือ TU 1.7%, BR 1.5%, CPF 4%, TFG 1%, GFPT 0.8%, KSL 0.5%
ขณะที่ กลุ่มชิ้นส่วนฯ คาดว่ากระทบกำไรสุทธิของกลุ่ม 0.5% แยกเป็น SVI กระทบมากสุด 1.9% รองลงมา HANA 0.5%, DELTA 0.4%, KCE 0.2%
ส่วนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แม้ค่าแรงจะมีสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวมก็ตาม แต่คาดว่าจะมีผลกระทบจำกัด เพราะหากพิจารณาปริมาณงานก่อสร้างที่คาดว่าจะมีโครงการประมูลเพิ่มเติมในปี 2561 จากงานที่ค้างท่ออยู่จำนวนมากกว่า 9. แสนล้านบาท ทำให้การแข่งขันด้านราคาลดลง ช่วยเพิ่มอัตรากำไรกว่าที่ผ่านมา จึงยังคงประมาณการกำไรปี 2561 เป็นต้นไป และ ยังคงชื่นชอบหุ้นก่อสร้าง STEC, UNIQ, CK
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ด้านราคาสินค้าเกษตรปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เชื่อว่าเงินเฟ้อในปี 2561 น่าจะยังใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 1.26% เร่งขึ้นจาก 0.99% ในปี 2560
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้กระทบภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor Intensive) เช่น กลุ่มเกษตรและอาหาร, กลุ่มชิ้นส่วนฯ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าผลกระทบต่อผลการดำเนินงานน่าจะจำกัด
สำหรับ STEC งานรับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีแรงงานราว 10,000 คนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก 15 บาท (จาก 310 เป็น 325 บาทต่อวัน) ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 1.5 แสนบาทต่อวัน หรือ 54 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของกำไรทั้งปี 2561 ที่ประเมินไว้ 1550 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นวานนี้ปรับลดลงแรงมากเกินไปถึง 5.9% ถือว่าลดลงมากเกินไป
ด้าน CK งานรับเหมาก่อสร้างทั้งไทยและลาว พิจารณาสัดส่วนกำไรในงวด 9M60 มาจากในลาว 38.6% ที่เหลือในไทย ขณะที่ Backlog ในมือนั้นเป็นงานก่อสร้างในลาว 21% ของ Backlog ทั้งหมด จึงคาดว่า ผลกระทบจากการปรับค่าแรงจะทบต่อ CK น้อยกว่า STEC ขณะที่ราคาหุ้นวานนี้ลดลงไป 1.77%
ขณะที่ UNIQ แม้จะมีงานรับเหมาก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และงานก่อสร้างถนน ซึ่งเป็นงานในกรุงเทพฯ แต่ยังมีงานที่เกี่ยวข้องกับโรงหล่อชิ้นส่วนตั้งอยู่ในสระบุรี ซึ่งเป็นงานที่ใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ และใช้แรงงานน้อย การขึ้นค่าแรงจึงไม่น่าจะกระทบกับต้นทุนแรงงานของ UNIQ น่าจะน้อยกว่า STEC เช่น กัน แต่ ราคาหุ้นวานนี้ลดลงถึง 3.59%
ส่วน SEAFCO เป็นผู้สร้างรากฐาน ระยะเวลาการทำงานจึงสั้นกว่า ผลกระทบจากต้นทุนแรงงานจึงจัดการได้มากกว่า 3 บริษัทข้างต้น ขณะที่มี Backlog สูงทำ new high และยังมีโอกาสที่ Backlog จะสูงขึ้นหลังจากที่ได้งานใหม่อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องรอบริษัทประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
โดยภาพรวมจึงคาดว่าต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นน่าจะกระทบกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจำกัด แต่ทุกอย่างได้สะท้อนในราคาหุ้นส่วนใหญ่ ยังแนะนำให้สะสม และยังคงชื่นชอบหุ้นก่อสร้าง STEC (FV@B30), UNIQ (FV@B24) และ CK (FV@B36) และ SEAFCO(FV@B12)