ตลาดหุ้น กับ การเลือกตั้ง
ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ ออกอาการผิดสำแดงมาตั้งแต่เปิดตลาด เพราะโดยปกติที่ผ่านมา วันไหนที่ค่าเงินบาทแข็งเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาหุ้นหลักและดัชนีจะบวกแรง โดยมีคำอธิบายสำเร็จรูปว่า เกิดจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ ออกอาการผิดสำแดงมาตั้งแต่เปิดตลาด เพราะโดยปกติที่ผ่านมา วันไหนที่ค่าเงินบาทแข็งเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาหุ้นหลักและดัชนีจะบวกแรง โดยมีคำอธิบายสำเร็จรูปว่า เกิดจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า
เมื่อเปิดตลาดหุ้นเช้าวานนี้ บาทที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี ที่ระดับใต้ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ กลับไม่ได้ทำให้ดัชนี SET ของตลาดหุ้นบวกไปมากมายอะไร แถมก่อนปิดตลาดเช้ายังทำท่าแกว่งไกวเกือบลบเอา ยังดีที่ว่า มูลค่าการซื้อขายช่วงเช้าที่คึกคัก ประคองตลาดไว้ โดยเฉพาะหุ้นพลังงานที่วิ่งบวกตามกระแสหุ้นพลังงานทั่วโลกรับข่าวราคาน้ำมันดิบพุ่งเหนือ 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
หลังจากปิดตลาดหุ้นช่วงเช้า นักวิเคราะห์เริ่มแสดงอาการกังวลเห็นได้ชัดเจนว่า แม้จะได้รับแรงหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงาน-แบงก์ แต่การที่วอลุ่มเทรดของตลาดโดยรวมชะลอตัวลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ ทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อโมเมนตัมตลาดยังมีการปรับขึ้นไปต่อ ใกล้ระดับดัชนี 1,850 จุด ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะมีแรงขายทำกำไรตามมา เพราะหุ้นที่เริ่มขยับตัวในสัปดาห์นี้ เป็นกลุ่มหุ้น “เที่ยวสุดท้าย” ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ขึ้น
ที่สำคัญ ประเด็นที่ไม่ค่อยจะยกขึ้นมากล่าวถึงบ่อยนักในวงการหุ้นที่ผ่านมา ได้แก่ เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งที่มีสัญญาณชัดเจนว่า มีผู้นำในกองทัพและรัฐบาลไทยปัจจุบันจำนวนไม่น้อย พยายามถ่วงเวลาออกไปให้ยาวนานขึ้น โดยอ้างถึงสาเหตุสัพเพเหระ ส่งผลให้มุมมองของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่างชาติพากันมีความเห็นร่วมที่เรียกว่า Consensus (หลีกเลี่ยงการเอ่ยชื่อบุคคล) ได้ปรับลดประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทยลง 0.5% ขณะที่ตลาดอื่นได้รับการปรับเพิ่มประมาณการกำไร ทำให้เสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยถูกลดลงไปมาก
เมื่อถึงเวลาตลาดหุ้นไทยภาคบ่าย สถานการณ์เริ่มผันผวนเหมือนกับ 2 วันที่ผ่านมาคือดัชนี SET มีทั้งแกว่งตัวบวก-ลบสลับกันนานพอสมควร ก่อนจะพลิกร่วงต่อเนื่อง ปิดตลาดลบไปเกือบ 20 จุด รวมทั้งหุ้นพลังงานและธนาคารที่กลายเป็นตัวแดงให้หุ้นร่วงก่อนใคร
ผลลัพธ์คือ ดัชนี SET ช่วงเช้าที่เคยแตะระดับสูงใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 1,848.07 จุด สูญเสียโมเมนตัมขาขึ้นชัดเจน ต้องกลับไปที่ใต้ 1,820 จุดอีกครั้ง และอาจจะตามมาด้วยการลดไปทดสอบแนวรับใต้ 1,800 จุดได้หากความกังวลยังคงอยู่
แม้เสียงของนักวิเคราะห์สถานการณ์แบบ “โลกสวย” อย่างนายประกิต สิริวัฒนเกตุ แห่ง บล.กสิกรไทย จะออกมาปลอบประโลมว่า การ “ตื่นตูม” ของนักลงทุนเกินจริง เพราะความกังวลในเรื่องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ไม่น่าเกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมที่จะเลือกตั้งได้ตามแผนโรดแมปเดิม และหากจะเลื่อนออกไปบ้าง อีกแค่ 90 วัน ก็ถือว่าไม่ได้เลื่อนออกไปมากนัก ก็ยังไม่มีเสียงเอกฉันท์ยอมรับ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองร่วมกันว่า ข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเคาะกำหนดวันเลือกตั้งในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ เป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนเกิดขึ้น จากความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปโดยเจตนา ซึ่งในมุมมองของนักลงทุนมองว่าเป็นความคลุมเครือและสร้างความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะสถาบันเทขายออกมามาก จากจุดเริ่มที่ตลาดตราสารอนุพันธ์
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พูดหลังปิดตลาดวานนี้ว่า แนวโน้มวันต่อไป (ซึ่งตรงกับวันศุกร์พอดี) คาดว่าดัชนี SET มีโอกาสที่ปรับตัวลดลงต่อไปทดสอบ 1,800 จุด จากความไม่แน่นอนและความคลุมเครือของวันเลือกตั้งดังกล่าว
การ “ฟันธง” ของนักวิเคราะห์หุ้นในตลาดฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พยายามลดทอนคำพูดที่ “เป็นการเมือง” ให้น้อยที่สุด เท่ากับยอมรับโดยปริยายว่า จากนี้ไป ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการปกครองแบบประชาธิปไตย จะเป็นตัวแปรที่กดดันหรือเปิดทางให้กับราคาหุ้น และการซื้อขายของเหล่านักลงทุน ไม่ว่าพวกเขาจะยอมรับหรือไม่ก็ตามว่าเป็นหรือไม่เป็น “สัตว์การเมือง” (political animals)
อย่างน้อยที่สุด เท่ากับนักวิเคราะห์เหล่านี้ (ซึ่งไม่เคยบอกเป็นทางการเลยว่านิยมประชาธิปไตยหรือนิยมทหาร) ก็ยอมรับอีกเช่นกันว่า รู้เท่าทันอย่างถึงที่สุดว่าข้อเสนอของ คสช.และกลุ่มคนจากการ “ลากตั้ง” ที่พยายาม “ยัดเยียด” แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เป็นข้อเสนอแบบ “เด็กเลี้ยงแกะ” ที่พยายามซื้อเวลาอยู่ในอำนาจไปอีกยาวนาน
ข้ออ้างของนายวิษณุ เครืองามที่ว่า การนำเสนอข้อเสนอแนะปฏิรูป ทั้งที่เป็นข้อเสนอใหม่ ต้องใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติมด้วย และบางข้อเสนอเป็นงานประจำของหน่วยงานเฉพาะอยู่แล้วที่ต้องไปดำเนินการ หรือบางข้อเสนอเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมาย สามารถรวบรวมได้ จำนวน 119 ฉบับ บางส่วนเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ และปรับปรุงกฎหมายเดิม โดยจะเร่งดำเนินการต่อไป เป็นเพียงข้ออ้างแบบ “ศรีธนญชัย” เพื่อเปิดทางให้กับการออกแบบ “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” หรือ guided democracy เท่านั้น
ปรากฏการณ์ที่คนในวงการหุ้นที่คำพูดมีน้ำหนักต่อตลาดพอสมควรไม่มากก็น้อย เริ่มโยงตัวแปรภายนอกว่าด้วยบรรยากาศทางการเมืองเข้ากับตลาดหุ้น สัญญาณลบของตลาดก็เริ่มต้นขึ้น จนกระทั่งอาจจะกลบปัจจัยภายในว่าด้วยผลประกอบการหรือตัวเลขทางการเงินลงไป (ไม่ว่าจะชอบหรือไม่) ก็ไม่ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนเอาเสียเลย
เสียงของนางอัปสรไซเรนส์ซีกการเมืองจะดังขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ไป ระวังตัวและเงินในพอร์ตให้ดีก็แล้วกัน
เราเตือนคุณแล้ว