พาราสาวะถี

ปรากฏการณ์การแสดงความคิดเห็นของเหล่าพลพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จากมติที่ประชุมสนช.ออกไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงขั้นมีวาทกรรม “อภินิหารทางกฎหมาย” มาเป็นตัวชูโรง สะท้อนภาพของความไม่ปกติในขบวนการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี


อรชุน

ปรากฏการณ์การแสดงความคิดเห็นของเหล่าพลพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จากมติที่ประชุมสนช.ออกไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงขั้นมีวาทกรรม “อภินิหารทางกฎหมาย” มาเป็นตัวชูโรง สะท้อนภาพของความไม่ปกติในขบวนการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี

ยิ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งเสียงปฏิเสธมาจากอินเดียว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามโดยเฉพาะฝ่ายการเมือง มันช่างเป็นการแบ่งบทกันเล่นได้อย่างเนียนตา จนขนาดที่ว่า วิรัช ร่มเย็น อดีตส.ส.ระนองของพรรคเก่าแก่ถึงขั้นบอกว่า ท่านผู้นำตีบทแตกเทียบชั้นดาราออสการ์เลยทีเดียว

แหม! มันคงจะน่าชื่นชมมากกว่านี้หากมองไปยังความหวังดีของสนช.ที่มีต่อพรรคการเมือง หากคสช.ได้ทำการปลดล็อคให้นักการเมืองและพรรคได้ทำกิจกรรม แล้วเห็นว่าสิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมันไม่ทันเวลา จึงต้องช่วยขยายให้ แต่พอไม่ได้เริ่มทำในสิ่งที่ควรจะเป็น แล้วดันไปข้ามขั้นถ้าเป็นมวยก็ต้องบอกว่าออกลูกโฉ่งฉ่างให้เห็น คนที่เขาดูมวยเป็นก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ทั้งหมดที่ดำเนินการไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองที่มีอยู่ แต่เป็นเรื่องของการให้โอกาสพรรคการเมืองใหม่ที่จะตั้งขึ้น ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษคือพรรคในคาถาของผู้มีอำนาจ ณ ปัจจุบัน รับอานิสงส์แห่งการขยายเวลาไปเต็มๆ ล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับออกมาสะกิดแรงๆ ว่า หากคสช.ต้องการเลื่อนเลือกตั้งควรจะชี้แจงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล และคสช.เอง

พร้อมๆ กับการแสดงความแปลกใจที่คสช.ยืนยันมาตลอดไม่เคยก้าวล่วงการพิจารณากฎหมายของสนช. แต่กลับออกคำสั่งตามมาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งไม่ทราบว่ามีการรับใบสั่งหรือไม่ หาก คสช.ต้องการให้กฎหมายออกมาทางใด ก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากคสช.ยังไม่พร้อมจัดการเลือกตั้ง ก็ควรอธิบายกับสังคมว่าทิศทางต่อจากนี้คืออะไร เพราะประชาชนยังรอคอยการเลือกตั้ง

การเคลื่อนไหวของพรรคเก่าแก่ที่หัวหน้าออกโรงเองและตามมาด้วยตัวละครหลายรายภายในพรรค เป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะตัวเองไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการรัฐประหารในครั้งนี้ แต่มันมีปัจจัยอื่นที่ชวนให้คิดต่อ จากที่เคยแทงกั๊กวิจารณ์กันอย่างเสียมิได้ วันนี้กลายเป็นดับเครื่องชน ด่าแบบไม่ไว้หน้า ถ้าไม่เหลืออดจริงๆ หรือมีอะไรลึกๆ ที่คนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจ แต่คอการเมืองย่อมอ่านเกมกันออก

เพราะแท้ที่จริงแล้ว หากย้อนกลับไปฟังเหตุผลของคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. และบรรดาสมาชิกสนช.ที่พากันยกมือหนุนรวมทั้งอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ถ้าชั่งน้ำหนักแล้วยังมีไม่มากพอ แต่ก็นั่นแหละเมื่อรับงานมาแล้วก็ต้องเดินกันให้สุด ประเภทว่าไม่มีใบสั่งคงหาคนเชื่อยาก คำพูดของสนช.บางรายที่ว่าบางเรื่องก็พูดได้ไม่หมดมันผูกมัดในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม มีคนที่ชอบสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้มีอำนาจ วิเคราะห์ให้ฟังว่า บางทีท่านผู้นำอาจจะไม่รู้เห็นกับเรื่องนี้จริงๆ ก็ได้ เนื่องจากดูจากเวลาตอบคำถามเรื่องนี้แววตาเหมือนมีทุกข์และเครียดเป็นอย่างมาก ไม่เหมือนกับตอบคำถามอื่นๆ ที่เจ้าตัวไม่มีอะไรต้องปิดบัง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทฤษฎีนี้ก็จะไปขัดแย้งกับคำพูดที่ว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะอย่างสิ้นเชิง

บางทีบางเรื่องแป๊ะอาจไม่ได้สั่ง ส่วนมันงอกมาได้อย่างไร ต้องไปถามคนที่ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ปมนาฬิกาหรูที่ทำท่าว่าจะเอวัง จากทางลงที่เลขาธิการป.ป.ช.อุตส่าห์ปูพรมแดงไว้รอ ไม่ใช่ของตัวเองก็ไม่ต้องชี้แจง ยิ่งเป็นของเพื่อน เพื่อนตายแล้วหรือเพื่อนเป็นภาคเอกชน ก็มีทางออกให้ป.ป.ช.ออกลูกถีบถอยว่าเข้าไปยุ่งหรือต่อยอดสอบอะไรได้ไม่มาก

แต่ล่าสุด มีประเด็นที่น่าจะทำให้คนที่ถูกเพ่งเล็งตกเป็นจำเลยของสังคมหนักข้อเข้าไปอีก เมื่อ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลล์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ลาออกจากตำแหน่งผอ.นิด้าโพลล์มีผลวันนี้ (29มกราคม) “เสรีภาพทางวิชาการและการให้เกียรติกัน สำคัญที่สุดสำหรับผม”

ก่อนจะตามมาด้วยคำยืนยันที่หนักแน่น แม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ตนก็มีที่ยืนในสังคมได้เพราะยืนอยู่บนความถูกต้องมาโดยตลอด ตนสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ตนก็ไม่จำเป็นต้องเลีย top boot  ยิ่งมีหลักฐานทางวิชาการที่รัดกุมเป็นความคิดเห็นของประชาชน หน้าที่ตนในฐานะนักวิชาการยิ่งต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา

ตำแหน่งบริหารใดๆ ในสถาบัน ตนไม่รับเงินค่าตอบแทนอยู่แล้วเพราะถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง ต้องทำด้วยความเสียสละ และยืนอยู่บนความกล้าหาญทางวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม หากไม่สามารถธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในตำแหน่งผอ.นิด้าโพลล์ ซึ่งต้องทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ตนจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง

ประกาศออกสื่อแบบนี้ แสดงว่าสิ่งที่สร้างความอึดอัดให้กับอานนท์คงไม่ธรรมดา ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เมื่อ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวบอกถึงสาเหตุของการลาออกจากตำแหน่งผอ.นิด้าโพลล์ของอานนท์คือ โพลสุดท้ายที่ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เผยแพร่สัปดาห์นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยืมนาฬิกา ถูกผู้บริหารสถาบันระงับการเผยแพร่ ทำให้จึงตัดสินใจลาออก

ตามมาด้วยการที่พิชายตอกย้ำว่า เอวัง..ครับ สำหรับเสรีภาพทางวิชาการ ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศ หากผู้บริหารมีวิธีคิดเช่นนั้น ประเด็นนี้ไม่ธรรมดาแน่ เพราะอย่าลืมว่าบุคลากรของนิด้านั้นถือได้ว่าเป็น “กองหนุน” หลักของคณะเผด็จการคสช. แต่พอมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสและการทุจริต ด้วยความหวังดีกับสะกิดเตือนไม่ได้ กลับผลักมิตรให้เป็นศัตรูเสียอย่างนั้น นี่แหละที่บอกมาตลอด สนิมเกิดแต่เนื้อในตน คนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะล้มไม่ใช่เพราะคนอื่นแต่มาจากตัวเองและบริวารแวดล้อมทั้งสิ้น

Back to top button