เก็งกำไร 14 หุ้นเด่น รับอานิสงส์บาทแข็งในรอบ 50 เดือน
ช่วงนี้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าอย่างรวดเร็วและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 50 เดือน โดยนักวิเคราะห์มองทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.34 บาท/ดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ช่วงนี้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าอย่างรวดเร็วและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 50 เดือน โดยนักวิเคราะห์มองทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.34 บาท/ดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ดังนั้น“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงทำการรวบรวมกลุ่มหุ้นที่ได้กลุ่มรับอานิสงส์จากค่าเงินบาทแข็งมานำเสนอ โดยกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะผลดี แต่เป็นบวกกับกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศมาก และกลุ่มนำเข้าแต่ขายในประเทศทั้งหมด เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้างเช่นเหล็ก ปิโตรเคมี โรงกลั่น สินค้าไอที
โดยกลุ่มหุ้นที่คัดเลือกมานำเสนอมาจาก บล.ฟินันเซีย ไซรัส,บล.ทรีนีตี้,บล.เคจีไอ และบล.ทิสโก้ ซึ่งมีด้วยกัน 14 ตัว คือ TRUE, THAI, BCP, IRPC, SPRC, RSP, TVO, WINNER, COM7, SYNEX, JMART, FTE, MGT และ THMUI
บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มรับอานิสงส์บาทแข็ง โดยประเมินค่าเงินบาทที่แข็งค่าเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในขณะนี้ เป็น Sentiment บวกต่อหุ้นกลุ่มนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศ (แต่ขายสินค้าในไทย) เช่น กลุ่ม TVO (นำเข้าถั่วเหลืองมาผลิตกากถั่วเหลือง+น้ำมันขายในไทย), RSP (นำเข้ารองเท้า Converse มาขายในไทย), WINNER (นำเข้าสินค้าอาหารขายในไทย) เป็นต้น และกลุ่มขายสินค้าอุปกรณ์ไอที ที่ต้องนำเข้าสินค้า เช่น COM7*, SYNEX, JMART* เป็นต้น
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เงินบาทแข็งค่าเป็นลบกับกลุ่มส่งออก อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว แต่เป็นบวกกับกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศมาก (TRUE, THAI) และกลุ่มนำเข้าแต่ขายในประเทศทั้งหมด เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้างเช่นเหล็ก ปิโตรเคมี โรงกลั่น สินค้าไอที รวมถึง FTE MGT THMUI
โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ยังเป็นหุ้นที่ชอบสุดในกลุ่ม เพราะคาดกำไรโตสูงสุด +32% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 1.33 หมื่นลบ.ในปีนี้ โดยได้ประโยชน์เต็มปีจากกำลังการผลิตส่วนขยาย ซึ่งเป็นสินค้า margin สูง และประสิทธิภาพของโรงงานที่ดีขึ้น ทำให้ GIM เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาแต่ค่าการกลั่น กำไรไตรมาส 4/60 มีแนวโน้มดีกว่าคาดเพราะกำไรจากสต็อกน้ำมัน คาด 3.96 พันลบ. +22% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, +134% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 9 บาท จาก 7.40 บาท โดยปรับ EV/EBITDA ขึ้นจาก 7.5 เท่า เป็น 8.5 เท่าตามความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง มีโอกาสจ่ายปันผลสูงเพราะผ่านยุคการลงทุนขนาดใหญ่ไปแล้ว ปัจจุบันมี PE 11.4 เท่าหรือ PEG เพียง 0.4 ต่ำสุดในกลุ่มแนะนำซื้อ
ส่วนบริษัท ไทยมุ้ย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ THMUI เป็นอีกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็ง เพราะต้นทุนลวดสลิง 70% นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ขายในประเทศทั้งหมด ทุก 1% ที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นบวกกับกำไรสุทธิ 5% ตั้งแต่ต้นปีแข็งมาแล้ว 4% จึงเป็น Upside ต่อประมาณการเดิมราว 20%
รายได้เกินครึ่งเป็น recurring income เพราะลวดสลิงเป็นสินค้าด้านความปลอดภัยที่ต้องเปลี่ยนทุกปี คาดกำไรปี 2017 ที่ 33 ลบ. +73% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและปี 2018 ที่ 53 ลบ. +61% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนจากความต้องการลวดสลิงที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มพลังงานและก่อสร้าง ซึ่งล่าสุดเพิ่งได้คำสั่งซื้อขนาดใหญ่จาก SEAFCO และกำลังรุกตลาดท่าเรือในต่างประเทศ
ราคาปัจจุบันซื้อขายบน PE2018 เพียง 13 เท่า และ PEG 0.4 เท่า ขณะที่ ปันผล 4% ต่อปี แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 3.10 บาท (FSS เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ THMUI)
สำหรับบริษัท ริช สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ RSP แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/60 น่าจะฟื้นตัวดีกว่าคาดอยู่ที่ 58-59 ลบ. (เดิมคาด 50-55 ลบ.) และโมเมนตัมยังดีต่อเนื่องในเดือน ม.ค.61 สอดคล้องกับกำลังซื้อที่สดใสมากขึ้น และจะเห็นสาขาแรกที่กัมพูชาในก.พ.นี้ โดยอาจเห็นทั้ง Converse ควบคู่ไปกับ Pony นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาดีล M&A เพิ่มแบรนด์ใหม่เข้า Portfolio มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนใน ครึ่งหลังปี 61
คาดกำไรปี 61 กลับมาโต 32.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดปันผลงวดครึ่งหลังปี 60 หุ้นละ 0.13 บาท (1H17 จ่ายไปแล้ว 0.18 บาท) คิดเป็น Yield 2.2% แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 9.5 บาท (FSS เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ RSP)
ส่วนบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 (เป้า Consensus 20.22 บาท) 1) ประเมินแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/60 โตเด่น เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำจุดสูงสุดใหม่ (Consensus คาดกำไร 183.5 ล้านบาท +25.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ +21.4% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) และคาดเบื้องต้นแนวโน้มกำไรไตรมาส 1/61 จะยังเดินหน้าเติบโตเด่น เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดสาขาใหม่ + สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่การส่งมอบเริ่มขึ้นในไตรมารส1/61
2) ปรับเปลี่ยนสัญญาการเข้าบริหาร True shop ตั้งแต่ ไตรมาส 4/60 คาดความสามารถกำไรดีขึ้น + ขยายสาขาผ่านทางแฟรนไชส์ เน้นพื้นที่ ที่ COM7* เข้าไม่ถึง
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นหุ้นน่าสนใจ Trading Pick บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO เป็นผู้นำเข้าที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ขณะที่แนวโน้มราคาถั่วเหลืองเริ่มปรับตัวขึ้น โดยฟื้นตัวแล้ว 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ล่าสุดแตะระดับสูงสุดรอบ 2 เดือน,มองกำไรปีนี้จะฟื้นตัว +42% จากฐานที่ต่ำมากในปีที่แล้ว และอัตราส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นตามราคาถั่วเหลือง,ปันผลดีสม่ำเสมอ Div. Yield 2 ปีข้างหน้าเฉลี่ยปีละ 5% โดยปันผลงวดนี้คาดจะจ่าย 0.66 บ./หุ้น คิดเป็น Div. Yield ที่เหลือ 2% ราคาเป้าหมาย 34.75 บาท
บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ หุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า,ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และ Seasonal effect ของค่าการกลั่น ได้แก่ BCP,IRPC,SPRC
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.34 บาท/ดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 50 เดือน
ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยด้วยมูลค่า 4.1 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 2.5 พันล้านบาท ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยเงินยูโรปรับตัวสู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 ปี หลังรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณอาจใช้นโยบายดอลลาร์อ่อน
อย่างไรก็ตามช่วงท้ายสัปดาห์ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวสนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าซึ่งสวนทางกับความเห็นของ รมว.คลัง ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คงนโยบายการเงินตามคาด โดยระบุถึงข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่แข็งแกร่งและเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับขึ้นในระยะกลาง
โดยมองว่า ปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับตลาดการเงินโลกอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 30-31 มกราคม ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ แม้ตลาดคาดว่าจะยังไม่มีการปรับนโยบายในรอบนี้ แต่จะจับตาสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม
นอกจากนี้นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลการจ้างงานเดือนมกราคมของสหรัฐฯโดยเฉพาะการเติบโตของค่าจ้างเพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยในระยะถัดไป อนึ่งความไม่แน่นอนเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ รวมถึงการเปิดฉากสงครามการค้ายังคงจำกัดการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์และเพิ่มความผันผวนให้กับตลาด
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลว่าหากเงินบาทยังแข็งค่ารวดเร็วและต่อเนื่องอาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ โดย ธปท.จะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2561 เงินบาทปรับตัวแข็งค่าเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้มากซึ่งเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ในตลาดโลกเผชิญแรงขายเทียบกับสกุลเงินหลักอย่างต่อเนื่อง ท่าทีล่าสุดของทางการไทยที่แข็งกร้าวมากขึ้นเกี่ยวกับค่าเงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง
ขณะที่ตลาดมีความระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย อย่างไรก็ดีกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่ามาตรการมีหลายระดับและมีข้อดีและความเสี่ยงต่างกันไป ซึ่งเชื่อว่าธปท.ย่อมศึกษาถึงประสิทธิผลของเครื่องมือต่างๆ อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ