ตลาดน้ำมันขาขึ้น
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า ราคาน้ำมันดิบที่บวกแรงทะยานเหนือ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เกิดจากปัจจัยดอลลาร์แข็งค่า หรือเกิดจากภาวะน้ำมันล้นเกินในโลกเริ่มมาถึงจุดใกล้จบกันแน่ แต่การเคลื่อนตัวที่ผิดสังเกตของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เคลื่อนย้ายเม็ดเงินหน้าตักจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำลงไปสู่ตลาดน้ำมันดิบและทองคำมากขึ้น เป็นความชัดเจนว่าตลาดนี้กำลังกลับมาเป็นขาขึ้นแน่นอน
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า ราคาน้ำมันดิบที่บวกแรงทะยานเหนือ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เกิดจากปัจจัยดอลลาร์แข็งค่า หรือเกิดจากภาวะน้ำมันล้นเกินในโลกเริ่มมาถึงจุดใกล้จบกันแน่ แต่การเคลื่อนตัวที่ผิดสังเกตของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เคลื่อนย้ายเม็ดเงินหน้าตักจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำลงไปสู่ตลาดน้ำมันดิบและทองคำมากขึ้น เป็นความชัดเจนว่าตลาดนี้กำลังกลับมาเป็นขาขึ้นแน่นอน
กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตอกย้ำข้อเท็จจริงของราคาน้ำมันดิบในระยะใกล้ได้ชัดเจน
ข้อถกเถียงว่า ราคาน้ำมันดิบสิ้นปีนี้จะไปอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นแค่ปัญหาของตัวเลขเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรอื่น นอกจากบ่งชี้ว่าตลาดน้ำมันจะเป็นขาขึ้นตลอดปีนี้
สัญญาณทางเทคนิคของดัชนีราคาน้ำมันในตลาดเก็งกำไรทุกแห่งทั่วโลกบ่งบอกทิศทางเดียวกันทั้งหมด คงไม่ต้องถามกันอีกแล้วว่า วิกฤตราคาน้ำมันราคาต่ำ จะกลับมาอีกรอบเมื่อใด
ความชัดเจนของฝั่งอุปทานน้ำมัน เห็นได้ชัดว่า มีการร่วมมือกันอย่างลับๆ เพื่อดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น ในยามที่ทุกคนเริ่มมองเห็นอุปสงค์ของตลาดขยับตัวขึ้นมาในตลาดที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน
3 ตัวแปรที่บ่งชี้ถึงขาขึ้นน้ำมันดิบรอบใหม่ล่าสุดมาจากองค์ประกอบสำคัญดังนี้
- ความสำเร็จในข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันของชาติผู้ผลิตทั่วโลกทั้งโอเปกและนอกโอเปกนำโดยรัสเซียและซาอุดีอาระบีย แล้วสามารถตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับตามข้อตกลง โดยไม่มีการเบี้ยวกันเหมือนในอดีต ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำมันล้นเกินความต้องการของตลาดได้พอสมควร
- การปรับความเร็วในการปิดและเปิดหลุมเจาะน้ำมันของผู้ผลิตเชลล์ออยล์ในสหรัฐฯ ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ราคาน้ำมันไม่ล้นเกินตามที่คาดกันเอาไว้
- อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่กระเตื้องขึ้น ดูจากผลกำไรภาคอุตสาหกรรมในปี 2560 เพิ่มขึ้นกว่า 20% ในอัตราสูงสุดในรอบ 6 ปี และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี 2560 อยู่ที่บวก 3%
ผู้นำชาติส่งออกน้ำมันเริ่มพากันออกมาพูดแบบ “เชียร์แขก” กันอย่างไม่มีเหนียมอาย นับตั้งแต่ประธานกลุ่มโอเปกที่บอกว่า ได้เวลาของการปรับดุลยภาพใหม่ของตลาดน้ำมันแล้วในปีนี้ ในขณะที่รัฐมนตรีจากซาอุดีอาระเบียพูดถึงภาวะ “ไร้สัญญาณขาลง” ของตลาดน้ำมัน และรัฐมนตรีน้ำมันรัสเซียพูดถึง “จุดจบของภาวะน้ำมันล้นตลาด”
แม้คำพูดดังกล่าว จะไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย เพราะตราบใดที่ยังมีการทำข้อตกลงลดการผลิตน้ำมันดิบ ภาวะน้ำมันล้นตลาดจะยังดำรงอยู่ไม่จบสิ้น ภาวะดุลยภาพของตลาดน้ำมันดิบต่างหากที่เป็นของปลอมหรือมายาคติที่สร้างกันขึ้นชั่วคราว ให้ดูดีเกินจริง และเปิดช่องให้กองทุนเก็งกำไรฉกฉวยโอกาสเฉพาะหน้า
ที่สำคัญ ยังไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ส่วนหนึ่งของราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น มาจากมีปัจจัยเสริม เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปสู่เงินสกุลอื่นๆ แทน โดยมีมุมมองว่า ดอลลาร์สหรัฐที่เคยเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำกว่าเงินสกุลอื่นๆ
นักวิเคราะห์ตลาดเก็งกำไรระดับโลก อย่างวาณิชธนกิจ JP Morgan ของสหรัฐฯ ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ เพิ่มสูงขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐจากคาดการณ์ครั้งก่อน โดยคาดว่าอาจแตะระดับ 78 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 แต่จะปรับตัวลดลงในช่วงปลายปี จากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
ด้านผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ชื่อดังของสหรัฐฯเรื่องน้ำมัน ก็พูดว่า ราคาดังกล่าวต่ำเกิน เพราะเชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสหรัฐอเมริกา (ที่มีราคาต่ำกว่าเบรนต์ประมาณ 5-6 ดอลลาร์สหรัฐเสมอ) น่าจะสูงมากกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐ
ในมุมตรงกันข้าม นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกับที่เคยพูดถึงราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อ 2 ปีก่อน กลับลำใหม่สวนกระแสขาขึ้น โดยบอกว่า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบของโลกปีนี้จะไม่มีทางเหนือ 62-65 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะยังมีความเสี่ยงทั้งจากการลดลงของการใช้พลังงานจากฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทนที่มีต้นทุนต่ำลงมากขึ้น จากความกังวลเรื่องปัญหาโลกร้อน และ อีกด้านหนึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยามนี้ อาจจะทำให้วินัยในระหว่างชาติที่ทำข้อตกลงลดกำลังการผลิตหย่อนยานลงไปได้ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่)
ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งเป็นขาขึ้นแรงยามนี้ จะกลายเป็นแรงจูงใจใหม่ให้โลกกลับมาเผชิญกับภาวะน้ำมันล้นตลาดอีกครั้งได้หรือไม่ เป็นเรื่องต้องจับตากันในปีนี้ ไม่ใช่เฉพาะหน้า ที่เกิดจากแรงส่งของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลกที่เวียนเทียนหากำไรจากทุนที่ล้นเกินท่วมโลกถ่ายเดียว
หากว่า การที่ราคาน้ำมันดิ่งเหว 2 ปีก่อน ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติของอุปทานและอุปสงค์อย่างเดียว แต่เกิดจากสงครามแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐฯเป็นสำคัญ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบช่วงนี้ก็ถือว่า ผิดธรรมชาติ เช่นกัน