พาราสาวะถี

ความสิ้นหวังจากสถาบันอุดมศึกษาในการที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย มันมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องตลอดห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดวิชาการเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน ที่วันหนึ่งกลับออกมาประกาศเชิญชวนคณาจารย์และนิสิตร่วมสถาบันขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วโหยหาอำนาจจากปลายกระบอกปืน


อรชุน

ความสิ้นหวังจากสถาบันอุดมศึกษาในการที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย มันมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องตลอดห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดวิชาการเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน ที่วันหนึ่งกลับออกมาประกาศเชิญชวนคณาจารย์และนิสิตร่วมสถาบันขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วโหยหาอำนาจจากปลายกระบอกปืน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพาตัวเองไปนั่งในสภาเผด็จการอย่างหน้าชื่นตาบานหลังการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง 2 หน ไม่นับรวมมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ผู้บริหารสถาบันต่างพากันไปชูคอในองคาพยพของคณะเผด็จการ กับเหตุการณ์ล่าสุด อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการนิด้าโพลล์ ประกาศไขก๊อกจากตำแหน่งเพราะรับไม่ได้กับการถูกแทรกแซงกระบวนการทำงานก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก

เพราะอ่านถ้อยแถลงของอธิการบดีนิด้า ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ที่ออกมายอมรับว่า ตนเป็นผู้สั่งระงับการทำโพลที่กำลังเป็นเรื่องอื้อฉาวเอง โดยมีเหตุผล 2 ประการคือ กรณีแหวนเพชรและนาฬิกาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของป.ป.ช.ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา ดังนั้น หากทำผลสำรวจในช่วงนี้เท่ากับเป็นการชี้นำสังคม และการทำโพลได้มีการมุ่งไปที่ตัวบุคคลว่าทำผิดหรือไม่ผิด ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากศาลหรือป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน และยังไม่มีคำตัดสินให้เป็นที่สิ้นสุด

ก่อนที่จะออกตัวว่าไม่ได้มีใครสั่งไม่ว่าจะจากรัฐบาลหรือคสช. ซึ่งก็ถูกอานนท์ตอกกลับแบบนิ่มๆ สิ่งที่ทำคือการสำรวจความเห็นโดยอาศัยหลักวิชาการ ที่สำคัญการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอผลสอบของป.ป.ช. ซึ่งความเห็นของประชาชนก็อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผลสอบของป.ป.ช.ก็ได้ และไม่ใช่การชี้นำอย่างที่อธิการบดีกล่าวอ้าง

ส่วนหัวข้อที่ถูกระงับไม่ให้เผยแพร่ก็คือ “เรื่องนาฬิกาที่ยืมเพื่อน เป็นเรื่องบิดเบือนหรือเรื่องจริง” ก็น่าเห็นใจอธิการบดีรายนี้อยู่เหมือนกัน ต่อให้ไม่มีใครสั่งแต่หากมีการเผยแพร่ผลสำรวจชิ้นนี้ออกไปแล้ว เกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและคสช.เป็นอย่างยิ่ง จะต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม ซึ่งพอเป็นสถาบันแห่งนี้คนทั่วไปก็ไม่แปลกใจที่จะมีท่าทีปกป้องผู้มีอำนาจที่มาจากรัฐประหารอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ไม่ต้องแปลกใจเช่นเดียวกันที่ “ไก่อู” สรรเสริญ แก้วกำเนิด กระบอกเสียงรัฐบาลและอธิบดีกรมกร๊วก จะรีบออกมาปฏิเสธทันควันงานนี้ไม่มีใบสั่งจากผู้มีอำนาจ พร้อมท้าทายให้อานนท์เปิดเผยหรือระบุรายชื่อคนที่แทรกแซงการทำงานมาให้สังคมรับรู้ ไม่อยากมองว่านี่เป็นการหลับหูหลับตาทำหน้าที่ เพราะต้องปกป้ององคาพยพของผู้มีอำนาจอย่างสุดชีวิต แต่สงสัยไก่อูไม่ได้ดูที่อาจารย์ท่านนี้ชี้แจง เขาสนับสนุนคณะรัฐประหารและรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพียงแค่ว่าสิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม เขายอมไม่ได้เท่านั้นเอง

โดยที่เจ้าตัวก็บอกอีกอย่างว่าไม่จำเป็นต้องเลียท็อปบู้ต (เหมือนอย่างที่ใครบางคนทำมาตลอดทั้งชีวิตหรือเปล่า) อย่างไรก็ตาม อานนท์ได้มีการตอบคำถามดังกล่าวของไก่อูโดยบอกว่าสงสารและเห็นใจเสธ.ไก่อูมาก ที่ต้องงงเป็นไก่ตาแตก เพราะเรื่อง self censorship แทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการในนิด้า โดยที่รัฐบาลไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย

น่าสนใจตรงคำที่ว่าเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งในกรณีนี้ก็คืออธิการบดีนิด้าไม่อนุมัติให้เผยแพร่โพลของสถาบันตัวเอง อันเป็นประเด็นที่ไปพาดพิงถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แน่นอนว่า หากเป็นการเมืองปกติเรื่องนี้คงจะถูกตีจนน่วม เสียงวิจารณ์จะดังกระหึ่มทั้งจากนักวิชาการ แวดวงสื่อสารมวลชน ตลอดจนบรรดาคนดีทั้งหลายแหล่

แต่พอเกิดขึ้นในยุคนี้ คำถามที่จะตามมาคือ นอกเหนือจากการทำความเข้าใจกันระหว่างอธิการบดีกับอดีตผอ.นิด้าโพลแล้ว จะมีใครลุกขึ้นมาทวงถามเรื่องสิทธิ เสรีภาพทางวิชาการกันหรือไม่ หรือจะปล่อยให้มันเป็นไปเหมือนอย่างที่บรรดานักวิชาการผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งถูกกระทำตลอดห้วงเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา

คำว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารน่าจะเป็นสิ่งที่ฉายภาพของกรณีที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี พอเกิดกรณีจิตสำนึกอันสูงส่งของอธิการบดีนิด้านี้แล้ว ก็ชวนให้นึกถึงสำนักโพลอีกแห่งหนึ่งที่เผยแพร่การสำรวจความเห็นต่อกรณีการตัดสินคดีจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกนำเสนอเพียง 1 วันก่อนที่จะมีการตัดสินคดีดังกล่าว

ในลักษณะเช่นนี้หากใช้จรรยาบรรณอันสูงส่งของอธิการบดีนิด้า ก็น่าสนใจเหมือนกันว่าอธิการบดีของสถาบันที่เผยแพร่โพลคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ไม่มีความรู้สึกเหมือนกรณีนาฬิกาหรูบ้างเลยหรือ ทั้งๆ ที่กรณีดังกล่าวการเผยแพร่ก่อน 1 วันที่ศาลจะตัดสิน น่าจะเป็นการชี้นำอย่างเด่นชัด แม้จะมีข้ออ้างว่าไม่สามารถไปก้าวล่วงหรือชี้นำการตัดสินของศาลได้

ตรงนี้ต่างหากคือสิ่งที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า ความเป็นกลางของสถาบันอุดมศึกษาต่อความเป็นไปของบ้านเมืองนั้นนับวันจะลดน้อยถอยลงและอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่ยินดีรับใช้อำนาจเผด็จการด้วยความเต็มใจ จึงไม่แปลกที่วันนี้เราจะมองหาความตื่นตัวเรื่องการเมือง การมีส่วนร่วมต่อความเป็นไปของบ้านเมืองจากนิสิต นักศึกษาได้น้อยเต็มที

ขณะที่อีกด้าน องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบผู้มีอำนาจ มาถึงพ.ศ.นี้จะให้คนยอมรับในมาตรฐานและความเที่ยงธรรมนั้นคงยาก อย่างที่ ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอบทความล่าสุดเรื่องความคล้ายของคสช.กับระบบของพรรคในสังคมนิยม

บทสรุปที่น่าสนใจคือ สิ่งที่เราเห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่ตอนนี้ก็คือ อำนาจต่างๆ ที่รวมอยู่ที่คนๆ เดียว ทั้งการใช้อำนาจและการตรวจสอบการใช้อำนาจ ก็อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของบางองค์กรถูกลดทอนลงไป ดั่งเช่นที่สังคมกำลังวิจารณ์หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่ตอนนี้ เป็นหน่วยงานไหนและกำลังตรวจสอบใคร คงไม่ต้องบอก มิหนำซ้ำ ยังอยากจะบอกด้วยว่า ผลที่จะออกมาก็น่าจะเดากันได้ว่าเป็นอย่างไร

Back to top button