พาราสาวะถี

การประกาศกร้าวของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าด้วยความเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ถูกโต้แย้งทันทีทั้งจากนักการเมืองและนักวิชาการ รวมไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยทั้งหมดต่างชี้นิ้วไปว่าความเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้นได้หมดไปแล้วตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แล้วเหตุใดพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์จึงยังอ้างอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือข้ายิ่งใหญ่แต่เพียงผู้เดียวอยู่


อรชุน

การประกาศกร้าวของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าด้วยความเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ถูกโต้แย้งทันทีทั้งจากนักการเมืองและนักวิชาการ รวมไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยทั้งหมดต่างชี้นิ้วไปว่าความเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้นได้หมดไปแล้วตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แล้วเหตุใดพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์จึงยังอ้างอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือข้ายิ่งใหญ่แต่เพียงผู้เดียวอยู่

ไม่รู้เป็นเพราะเข้าใจผิดหรือคิดว่ามาตรา 44 นั้นคือรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งหากจะมองจากคนโดยทั่วไปก็อาจคิดได้เช่นนั้น เนื่องจากเห็นการใช้มาตรายาวิเศษเป็นยาสามัญประจำคณะรัฐประหารรักษาได้ทุกโรค จัดการได้ทุกเรื่อง ล่าสุด ก็เป็นการใช้แก้ปัญหาการไม่ยอมปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ถึงขั้นต้องไปแก้ไขกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง จนเป็นเหตุให้สภาเผด็จการใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันหลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นอกจากพี่ใหญ่จะมั่นใจในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ตัวเองมีอยู่แล้ว น้องเล็กอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีความรู้สึกไม่ต่างกัน โดยเชื่อมั่นว่าอำนาจที่ตัวเองมีนั้นยิ่งใหญ่กว่าใคร ขณะเดียวกัน ก็เชื่อมั่นในความเป็นคนดีและคิดอย่างปักใจมาโดยตลอดว่าสิ่งที่คณะเผด็จการและองคาพยพคิดมานั้นดีเลิศประเสริฐศรี  มิเช่นนั้น คงไม่กล้าประกาศว่าให้ประชาชนเลือกเอาจะเลือกแบบเดิมหรือเลือกตัวเอง

อย่างนี้จะเรียกว่าอาการเหลิงหรือหลงในอำนาจหรือไม่ แต่ลองได้แสดงออกเช่นนี้มันคิดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มุมมองอันหลากหลายที่ว่าด้วยปัญหาแห่งอำนาจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ บทความของ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาผู้เกาะติดสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดล่าสุด น่าจะอธิบายสิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

โดยสุรพศเขียนบทความเรื่องการปกครองแบบสองระบบอำนาจที่ขัดกัน ระบุว่า  อันที่จริงทั้งนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ หรือนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปควรจะส่งเสียงออกมาอย่างเป็นเอกฉันท์ได้แล้วว่า การดำรงอยู่ของม.44 และคำสั่งคสช.ฉบับต่างๆ ที่ขัดแย้งกับเสรีภาพในการแสดงออก คือ “ความขัดแย้งภายในตัวระบบการปกครอง” ที่กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดกันเองอย่างสับสนอลเวง

ความขัดแย้งภายในตัวระบบการปกครอง คือการที่อำนาจรัฐมีสองลักษณะขัดแย้งกัน โดยผู้มีอำนาจรัฐอ้างว่าตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถามว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อิงกฎหมายใด ก็คงอิงม.44  เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ฉะนั้น ตามรัฐธรรมนูญประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุด รัฐบาลต้องใช้อำนาจภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายใดๆ ที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามที่รัฐธรรมรับรองไว้ ม.44 และคำสั่งคสช.ที่ขัดรัฐธรรมนูญจึงต้องถูกยกเลิกไปตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว แต่การที่รัฐบาลคสช.ยังคงม.44 ไว้ เท่ากับว่ารัฐบาลคสช.ได้สร้างระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจขัดแย้งกันเองขึ้นมา ให้กลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเสียเอง

การสร้างระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจขัดแย้งกันเช่นนี้ขึ้นมา จึงเป็นการสร้างระบบการปกครองที่ประหลาดมาก เพราะมันส่งผลให้สิ่งที่รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนกลายเป็นสารที่ไร้ความหมาย เช่นเมื่อรัฐบาลพูดเรื่องความมั่นคง คำถามที่ตามมาคือความมั่นคงของอะไร ถ้าเป็นความมั่นคงของอำนาจแบบประชาธิปไตย อำนาจนี้ก็ไม่มั่นคงหรือเป็นไปไม่ได้ เพราะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามม.44 กดทับไว้

แต่ถ้าหมายถึงความมั่นคงของอำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ก็ไม่มีหลักประกันว่าอำนาจแบบนี้จะมั่นคงได้ เพราะประชาชนก็ย่อมอ้างอิงรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้วว่า มันจะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดๆ รองรับ ฉะนั้น ความขัดแย้งของสังคมไทย ณ วันนี้ ไม่ได้เกิดจากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่เกิดจากรัฐบาลคสช.สร้างระบบการปกครองซึ่งไม่รู้จะเรียกระบบการปกครองอะไร ที่มีสองระบบอำนาจที่ขัดแย้งกันเองขึ้นมา

อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามม.44 ที่ละเมิดหลักเสรีภาพในการแสดงออกและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองสองระบบอำนาจนี้ คือความขัดแย้งในทางปฏิบัติของรัฐบาลคสช.เอง เพราะสองอำนาจที่ตัวเองสร้างขึ้นมานี้ทำให้รัฐบาลคสช.ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล และขัดแย้งในตนเองตลอดเวลา

เช่น ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ขณะที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างสันติถูกแจ้งความดำเนินคดี แต่ประชาชนกลุ่มที่ออกมาเชียร์ผู้มีอำนาจในรัฐบาลกลับไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ เมื่อไม่ยกเลิกม.44 และคำสั่งคสช.ที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญรับรอง ก็เท่ากับคงสภาวะขัดแย้งระหว่างสองระบบอำนาจไว้ให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

เท่ากับทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นเหตุเป็นผลและขัดแย้งในตัวเองตลอดเวลา ขณะเดียวกันการใช้อำนาจปิดปากประชาชนด้วยการดำเนินคดีแบบเหวี่ยงแห ย่อมไม่อาจนำไปสู่ความสงบสุขทางสังคมได้จริงสังคมเราจึงควรตาสว่าง และมีวุฒิภาวะที่จะยอมรับความเป็นจริงร่วมกันเสียทีว่าประชาชนทุกฝ่ายที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผู้สร้างความขัดแย้ง

แต่ระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจ ซึ่งขัดแย้งกันเองต่างหาก คือสภาวะความขัดแย้งในตัวมันเอง และกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้านรัฐประหารและฝ่ายที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร นั่นเท่ากับว่า ภาวะกองหนุนหายกลายเป็นกองหน่าย ย่อมเกิดจากผู้มีอำนาจเอง ที่นอกจากจะใช้อำนาจอย่างสะเปะสะปะแล้ว การบริหารประเทศเอาแค่การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนก็ยังไร้ซึ่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

Back to top button